หลานสาวโชเล่ย์ ไม่ตัดผม ไม่ถอดหมวก 5 ปี
เมื่อวันที่ 2 กันยายน โชเล่ย์ ดอกกระโดน หรือ นายนิรัญ ช้างกลาง อายุ 50 ปี นักแสดงตลกชื่อดัง ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ หลังจากที่หลานสาว คือ ด.ญ.เกษราภรณ์ ขุนพิบูรณ์ หรือ น้องสอง อายุ 11 ขวบ นักเรียนชั้น ป.5/1 โรงเรียนเทศบาลวัดศรีทวี มีพฤติกรรมแปลกกว่าเด็กทั่วไป เพราะไม่ยอมตัดผมที่ยาวมาก พร้อมกับใส่หมวกที่เนื้อผ้าส่วนกลางเปื่อยติดศีรษะตลอดเวลา 5 ปี ไม่เคยถอดแม้กระทั่งเวลานอน จึงอยากจะขอความช่วยเหลือจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญ
โดย โชเล่ย์ ดอกกระโดน เปิดใจว่า ตอนที่น้องสองเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 ทางโรงเรียนบอกให้ตัดผม เพราะจะต้องขึ้น ป.1 แต่น้องสองจะไม่ยอมตัดผม แม่น้องสองจึงอาศัยจังหวะที่ลูกนอนหลับแอบตัดผมจนสั้น เมื่อน้องสองรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ร้องกรี๊ดดังลั่น วิ่งไปแอบตรงซอกหลีบประตู หลังจากนั้นก็มีพฤติกรรมไม่กล้าออกไปไหน
ทั้งยังไม่ยอมให้ใครตัดผม และไม่ยอมให้จับหรือถูกผมแม้แต่คนเดียว โดยเฉพาะกับแม่จะไม่ให้เข้าใกล้ด้วย จนวันหนึ่งแม่น้องสองให้ใส่หมวกใบนี้ จากนั้นไม่เคยถอดหมวกใบดังกล่าวอีกเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งญาติพาน้องสองนั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ และหยิบหมวกของน้องสองขว้างทิ้ง ปรากฏว่าน้องสองกระโดดจากรถแล้วไปเก็บหมวก
"คือน้องสองจะไม่กลัวเจ็บตัว แต่กลัวหมวกจะหายมากกว่า พฤติกรรมทั้งหมดที่เล่ามาทั้งแม่ พ่อ และญาติเลยไม่กล้าทำอะไรหมวกใบนั้นอีก โดยสิ่งที่แม่น้องสองเป็นกังวลมากคืออีกไม่นานนี้น้องสองต้องเข้าเรียนชั้น ม.1 และระเบียบของโรงเรียนมัธยมศึกษาจะต้องตัดผมสั้น ซึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร แม่เห็นน้องสองจึงมาขอความช่วยเหลืออยากจะวอนขอให้ผู้รู้ชี้แนะและรักษา เพราะผ่านมา 5 ปีแล้วน้องสองใส่หมวกใบนี้ติดศีรษะตลอดเวลา ไม่เคยถอด เวลาอาบน้ำยังเอาเข้าไปด้วยจนหมวกขาดเปื่อยเหลือแต่ขอบ ตนสงสารหลานมากไม่รู้จะช่วยอย่างไร" ตลกชื่อดัง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัด ระบุว่า อาการของน้องสองภาษาแพทย์เรียกว่า "ทรอว์มา" หรือเรียกว่าความบอบช้ำทางจิตใจ การสะเทือนขวัญ เกิดอาการช็อกภายในจิตใจ เนื่องจากสูญเสียสิ่งที่ตัวเองรักและหวงแหน ทำให้เกิดความเสียใจอย่างแรง กระทั่งเกิดความฝังลึกเข้าไปในประสาทและจิตสำนึกว่าได้สูญเสียสิ่งที่รักไปแล้ว ทำให้เกิดภาวะกลัว ไม่กล้าจะออกมาสู้ต่อสังคม เพราะคิดว่าการถูกตัดผมเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่เมื่อได้ใส่หมวกกลับเกิดความมั่นใจ
สำหรับแนวทางการแก้ไขนั้น ควรพาน้องสองไปพบนักจิตวิทยา เพื่อพูดคุยทำให้เด็กเกิดความสบายใจ อย่าทำให้รู้สึกว่าผิดแปลกไปจากคนอื่น สิ่งสำคัญที่สุดคือการเอาใจใส่ การให้ความรัก และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย