เกิดอะไรขึ้นเมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย แอลกอฮอล์จำนวนเพียงเล็กน้อย จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุในช่องปากและหลอดอาหาร อีกส่วนหนึ่งราว 20% จะถูกเผาผลาญไปพร้อมกับอาหารในกระเพาะ ส่วนที่เหลือจำนวนมากจะไหลผ่านลำไส้เล็ก และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว
กระแสเลือดจะนำแอลกอฮอล์แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย หากรับประทานอาหารมาก่อน แอลกอฮอล์จะใช้เวลา 1-6 ชั่วโมง จึงจะถูกดูดซึมไปถึงระดับสูงสุดในเลือด แต่ถ้าดื่มเหล้าในขณะท้องว่าง แอลกอฮอล์จะใช้เวลาดูดซึมสู่ระดับสูงสุดในเลือดเพียง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง
แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด สายตาพร่ามัว ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง ตัดสินใจช้าและผิดพลาดได้ง่ายขึ้น การควบคุมอารมณ์ผิดปกติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เช่น อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงขั้นหมดสติ ผลกระทบของการดื่มจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ วัย และขนาดของร่างกาย หากดื่มในปริมาณเท่าๆ กัน ผู้หญิงจะเมาเร็วกว่าผู้ชาย
แอลกอฮอล์ในร่างกายถูกกำจัดโดยตับเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือถูกขับออกทางลมหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ น้ำนม และน้ำลาย ตับจะทำหน้าที่กำจัดพิษของแอลกอฮอล์อย่างช้าๆ ต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง เพื่อจัดการกับแอลกอฮอล์เพียง 45 ซีซี ในวิสกี้ 1 แก้ว การดื่มกาแฟเข้มๆ หรือรับประทานยาแก้เมา ไม่ได้ช่วยทำให้สร่างเมาหรือทำให้การทำงานของตับเร็วขึ้น นั่นก็คือไม่มีวิธีใดที่จะลดแอลกอฮอล์ในเลือดได้ ทำได้เพียงรอเวลาเท่านั้น
การดื่มเหล้าปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ได้ง่ายๆ ใครที่ดื่มแล้วขับ นอกจากจะเสี่ยงถูกจับแล้ว ยังเสี่ยงชีวิตมากขึ้นอีกหลายเท่า มีข้อมูลว่า ผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่าง 40-90 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นสาเหตุ ให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยกว่าคนที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเลือดเลยถึง 11.1 เท่า
คนที่ดื่มเหล้ามากๆ จะเมาค้าง เกิดอาการปวดหัว ร้อนใน ริมฝีปากแห้ง แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ผู้ที่ดื่มเหล้าจึงปัสสาวะบ่อย สูญเสียน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำมากๆ นอกจากนี้ การเมาจนหมดสติอาจเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง เช่น หกล้มมีเลือดออกในสมอง กระดูกหัก และปอดอักเสบ เป็นต้น
ส่วนปัญหาในระยะยาว กรณีที่ดื่มติดต่อกันเป็นประจำในปริมาณมาก สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ดังนี้
- ทำให้สมองและเส้นประสาทเสื่อม นำไปสู่อาการความจำเสื่อม
มือสั่น เห็นภาพหลอนลมชัก มือเท้าชา หรือเส้นเลือดในสมองตีบ
แตก ถูกทำลาย เป็นต้น
- ทำให้ความดันโลหิตสูงและเป็นโรคหัวใจ
- ทำให้ตับอักเสบ ซึ่งเมื่อเป็นนานๆ จะทำให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ
- ทำให้ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ทำให้ปวดท้องและผอมลง
- ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- ทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง และสมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง
- ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- เกิดปัญหาทางโภชนาการ โดยระยะแรกๆ อาจจะอ้วน แต่ระยะหลัง
จะมีปัญหาขาดอาหารและผอมลง
- มีโอกาสเป็นมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งที่ปาก คอ หลอด
อาหารกระเพาะ ลำไส้ตับ เต้านม มากกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ย
ประมาณ 10 เท่า ควรดื่มสักเท่าไรดี
สำหรับผู้หญิง มีข้อแนะนำคือ ผู้หญิงดื่มวิสกี้ 35-40 ดีกรี ได้ไม่เกิน 2 แก้ว ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 แก้ว และไม่ควรเกินกว่า 2 วันใน 1 สัปดาห์ เพราะนอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังจะทำให้สุขภาพทรุดโทรม ผิวไม่สวย และแก่เร็ว
สำหรับผู้ชายไทยทั่วไป ไม่ควรดื่มเกินกว่าที่กำหนด ดังนี้ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์คูลเลอร์ 1 ขวด ไวน์ 1 แก้ว และสก๊อตวิสกี้หรือสุราไทย 3 แก้วต่อวัน
การรับ ประทานอาหารก่อนดื่มเหล้า จะช่วยให้การดูดซึมแอลกอฮอล์ช้าลง ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่สูงมากนัก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กระหายน้ำมากขึ้น เช่น อาหารเค็ม เพราะจะทำให้ดื่มเหล้ามากขึ้น
นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานยาร่วมกับเหล้า เพราะยาอาจทำปฏิกิริยากับเหล้า ทำให้เป็นพิษหรือลดความแรงของตัวยาลง
สำหรับข้อมูลที่ว่าการดื่มวันละนิดอาจมีผลดีต่อสุขภาพบาง ประการ เช่น อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลดลง ผลดีดังกล่าวอาจใช้ได้กับผู้ที่ดื่มอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ดื่ม ยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะหันมาดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากผลเสียของแอลกอฮอล์มีมากกว่าผลดี นอกจากนี้ คุณสามารถดูแลสุขภาพด้วยวิธีอื่นแทนการดื่มเหล้าได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และงดบุหรี่ เป็นต้น