สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เดลินิวส์์
เลือดเป็นดั่งสายธารที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายของมนุษย์ คือของเหลวที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากทำหน้าที่ลำเลียงก๊าซออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเราไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดเลือด
เลือด หรือ โลหิต ในร่างกายของมนุษย์จะไหลเวียนอยู่ประมาณ 4,000-5,000 มิลลิลิตร (ซีซี) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนเป็นพลาสมา หรือน้ำเหลือง และส่วนล่างคือเม็ดเลือด ประกอบด้วย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ความสำคัญแต่ละส่วนประกอบจะแตกต่างกันไป ด้วยหน้าที่และความสำคัญของเลือดทำให้เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากขาดเลือด แต่ในขณะเดียวกันเราสามารถบริจาคเลือดเพื่อต่อลมหายใจให้เพื่อนมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน
แพทย์หญิงสร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับ หมู่โลหิต และการได้รับบริจาคโลหิตว่า หมู่โลหิตแบ่งออกเป็น 4 หมู่ ได้แก่ เอ, บี, เอบี และ โอ โดยเปอร์เซ็นต์ของหมู่โลหิตในคนไทยร้อยละ 37.5 เป็นกรุ๊ป โอ, ร้อยละ 33.4 เป็นกรุ๊ป บี, ร้อยละ 21.7 เป็นกรุ๊ป เอ, ร้อยละ 7.4 เป็นกรุ๊ป เอบี จะเห็นได้ว่าตาม สถิติของคนไทยมีเลือดกรุ๊ป โอ มากที่สุดและมีเลือดกรุ๊ป เอบี น้อยที่สุด ดังนั้น ยอดโลหิตที่ได้รับ การบริจาคมากที่สุดคือกรุ๊ป โอ แต่ถึงเลือดกรุ๊ป โอ จะมีอยู่มากก็ตาม เลือดกรุ๊ปโอก็มีความพิเศษคือสามารถบริจาคให้ผู้ป่วยที่ต้องการเลือดได้ทุกกรุ๊ป
ปัจจุบันเราได้รับบริจาคเลือดในปริมาณตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการตั้งเป้าไว้ แต่ไม่สม่ำเสมอ เพราะผู้ป่วยต้องการเลือดทุกวัน นอกจากผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่ต้องการเลือดมากแล้วยังมีสถิติผู้ป่วยที่ต้องการเลือดจากภาวะมะเร็งระยะสุดท้ายที่จะต้องผ่าตัดต้องใช้เลือดทุกวัน เพื่อให้เลือดไปประคับประคองให้มีชีวิตอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา
นอกจากนี้ โลหิตทุกหยาดหยดที่ได้รับการบริจาค จะนำมากลั่นแยกไปให้ผู้ป่วยแต่ละภาวะ เช่น พลาสมา หรือน้ำเหลือง จะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคขาดน้ำเหลือง มีอาการช็อกเนื่องจากน้ำร้อนลวก, ไฟไหม้ เม็ดเลือดแดง ใช้ในผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตจากอุบัติเหตุ, การผ่าตัด หรือซีดจากมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เม็ดเลือดขาว ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ เนื่องจากมีจำนวนเม็ดเลือดขาวน้อย เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น โรคไข้เลือดออก เลือดออก ในสมอง เกล็ดเลือดไม่ทำงาน โรคไขกระดูกฝ่อ ฉะนั้นการบริจาคเลือดจึงไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยเพียงแค่คน เดียว แต่เลือด 1 ถุง สามารถช่วยผู้ป่วยได้หลายคน
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการบริจาคโลหิตสำหรับผู้ให้ นั่นคือ ความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ ร่างกายได้ถ่ายเทเลือด ทำให้เรามีเลือด ใหม่ ๆ เพราะเมื่อบริจาคไปแล้วร่างกายจะผลิตเลือดขึ้นมาใหม่ ถือเป็นผลดีทำให้ร่างกายแข็งแรง สำหรับประโยชน์ของผู้ป่วย คือ เป็นการต่อชีวิตให้อยู่รอดต่อไป ส่วนผลพลอยได้คือ ทำให้เราได้ตรวจร่างกายใน 4 โรคคือ เอดส์, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี และซิฟิลิส
โดยหลักการเตรียมตัวก่อน บริจาคโลหิต คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ควรดื่มน้ำ 3-4 แก้วก่อนการบริจาคโลหิต 20-30 นาที งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังการบริจาคโลหิตเพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
ในขณะที่เรายังมีร่างกายแข็งแรงสามารถเดิน วิ่งเล่นได้ ยังมีผู้ป่วยอีกมากมายที่นอนรอความช่วยเหลือ ฉะนั้นการบริจาคเลือดเพื่อต่อเวลาและลมหายใจให้ผู้ป่วยเหล่านี้ จึงถือเป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ มอบชีวิตใหม่ให้แก่พวกเขาอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โดย : กรวิกา คงเดชศักดา