แมว เป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร มีโครงหน้าเช่นเดียวกับเสือ มีต้นตระกูลมาจากเสือไซบีเรียนซึ่งเป็นเสือที่มีช่วงลำตัว ตั้งแต่จมูกถึงปลายหางยาวประมาณ 4 เมตร แมวซึ่งเลี้ยงไว้ตามบ้านจะมีรูปร่างเล็ก ช่วงขาสั้นกว่าลำตัว มีรูปร่างเพรียว มีหางยาว และบังคับหางได้ เป็นสัตว์ที่มีเขี้ยวและเล็บแหลมคม แต่สามารถเก็บเล็บไว้ในอุ้งเท้าได้ มีตาที่สามารถมองเห็นได้ดีในเวลากลางคืน แมวโดยปกติ จะชอบนอนหลับในเวลากลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน
แมว เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเราเป็นเวลานานแล้ว ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเข้ามาเพื่อทำอะไร อาจจะเข้ามาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน คือแมวช่วยจับหนูให้คน และแมวก็มีอาหารที่หากินได้สะดวก มีการค้นพบมัมมี่แมวของวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ เมื่อนำเอาผ้าพันมัมมี่ ออกก็พบว่า แมวในสมัยโบราณทุกตัวมีลักษณะใกล้เคียงกับแมวปัจจุบัน คือเป็นแมวรูปร่างเล็ก ขนสั้น มีแต้ม สีน้ำตาล
แมวในโลก มีมากมายหลายพันธุ์ กระจายกันอยู่หลายภูมิภาคในโลก โดยทั่วไปจะแบ่งพันธุ์แมวออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ แมวขนยาว และแมวขนสั้น การแบ่งพันธุ์ย่อยๆ ก็แบ่งตามภูมิภาคที่ค้นพบ เช่น เปอร์เซีย, แมวไทย (Siamese Cat), บาลิเนส, อะบิสสิเนียน, และโซมาลี เป็นต้น แมวไทย จัดอยู่ในแมวพันธุ์ขนสั้น
ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งบอกว่า หากมนุษย์จากโลกนี้ไปหมด สัตว์ที่พอจะดำรงชีวิตต่อไปได้ในเมืองที่ร้างผู้คน ก็คือแมว เพราะมันจะสามารถทนอยู่ในท่อน้ำทิ้งใต้ดิน หรือบริเวณเส้นทางรถไฟใต้ดินได้นานๆ โดยจะสามารถเสาะหาอาหารเพื่อประทังหิวได้
ลูกนัยน์ตาของแมว สามารถมองเห็นได้กว้างถึง 205 องศา ทำให้แมวสามารถมองได้รอบบริเวณ โดยไม่ต้องหันหน้า
บริเวณสีข้าง หัว หาง และหน้าผากของแมว จะมีต่อมผลิตกลิ่น ที่เรียกว่า ฟีโรโมส์(Pheromose) อันเป็นกลิ่นเฉพาะของมัน การที่เราเอง มักถูกแมวเอาสีข้าง หัว หาง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก มาถูเคล้าคลอ พันแข้งพันขา เพราะมันได้ปล่อยกลิ่นจากผิวหนังไว้กับเรา การเคล้าคลอเสาหรือขาโต๊ะก็เช่นเดียวกัน มันต้องการปล่อยกลิ่นเอาไว้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ
แมวสามารถรับฟังเสียงที่มีอัตราความถี่ประมาณ 30,000 - 45,000 Hertz ได้ ซึ่งเป็นระดับความถี่ที่ไวกว่าคน หูของคนเราจะได้ยินระดับความถี่เพียง 2,000 - 5,000 Hertz เท่านั้น
หนวด คิ้ว และเส้นขนบริเวณใต้อุ้งเท้าคู่หน้าของแมว สามารถช่วยให้มันรับทราบความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะมีผลต่อตัวมันได้ภายใน 1 วินาที .. เอ่อ อันนี้ ละ มั๊ง? ที่เมื่อแมวตกต้นไม้หรือตกจากกำแพงครั้งใด มันไม่เคยเจ็บแบบคนเรา
โดยเฉลี่ย แมวจะมีอายุประมาณ 15 - 18 ปี แต่แมวบางตัวจะมีอายุยืนยาว ได้ถึง 30 ปี
ทำไม แมวชอบนอนกว่าหมา
เพราะแมวเป็นสัตว์ที่ชีวิตในตอนกลางวันใช้เวลาไปกับการนอน โดยเฉลี่ยจะนอนวันละ ประมาณ 17 ชั่วโมง ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นลักษณะที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแมวป่า ที่จะไม่ออกหากินในตอนกลางวัน แต่จะออกหากินในตอนกลางคืน
ทำไม แมวชอบข่วนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน
การข่วนของแมว เกิดจากเหตุที่แมวต้องการฝนเล็บ และต้องการระบายพฤติกรรมการข่วนตามธรรมชาติดั้งเดิมของแมวป่า ซึ่งแมวบ้านไม่มีโอกาส จะล่าเหยื่อเช่นแมวป่า และการข่วนยังเป็นการสร้างอาณาเขตของตัวเอง เพื่อป้องกันสัตว์อื่นบุกรุกอาณาเขต ปกติแมวจะชอบข่วนเสา ข่วนขาโต๊ะ ต้นไม้ หรืออะไรที่เป็นแนวตั้งตรง เพราะจะข่วนได้ถนัด ฉะนั้นเจ้าของแมวควรจะจัดหาเสาตั้งตรงเป็นการเฉพาะให้กับแมวของตน สำหรับได้ระบายพฤติกรรม
ทำไม แมวชอบนอนหงายอ้าขากลิ้งไปมาต่อหน้าคน
บางคนคิดว่า ที่แมวนอนไถหลังกับพื้นเพื่อต้องการกำจัดหมัด(ที่เลียไม่ถึง)ออกจากร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการเช่นนี้เพราะแมวต้องการจะแสดงออกถึงความไว้วางใจ ยอมรับต่อบุคคลที่อยู่ตรงหน้า เป็นการแสดงอาการทักทายนั่นเอง หากแมวทำเช่นนี้ตรงหน้า ขอให้นั่งลงแสดงความเป็นมิตรต่อแมว ด้วยการลูบท้องแมวเบาๆ
ทำไม แมวชอบวนเวียนคลอเคลียที่ขา
แมวจะมีต่อมกลิ่นที่ผิวหนัง เช่น ที่หัว, หน้าผาก, ปาก, สีข้าง, และหาง เป็นต้น กลิ่นจะกระจายติดตามร่างกายของผู้ที่แมวเข้าไปคลอเคลียพันแข้งพันขา การแสดงเช่นนี้ของแมวบ่งบอกถึงความต้องการที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ หากแมวแสดงพฤติกรรมเช่นนี้กับตัวท่าน จงภูมิใจเถิดว่า แมวรักตัวท่าน
ทำไม แมวชอบถาดทรายแมวในการขับถ่าย
แมวในบ้านยังมีสัญชาติญาณในการดำรงชีวิตในป่า คือมีพฤติกรรมการหลบซ่อนศัตรูไม่ให้ศัตรูพบเห็น ฉะนั้นเมื่อแมวขับถ่ายทุกครั้ง แมวจะต้องการขุดทรายกลบอุจจาระของตนเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่แมวในบ้านจะต้องมีถาดทรายแมวไว้ให้แมวแสดงพฤติกรรม แต่หากเป็นแมวตามบ้านนอก แมวจะออกไปหาที่ขับถ่ายข้างนอกบ้านด้วยตัวมันเอง ขุดกลบของมันเอง ไม่ยอมให้เจ้าของหรือคนทั่วไปพบเห็น
ทำไม แมวชอบเลียขน
การเลียขนของแมว จะช่วยกำจัดเศษขนที่หลุดร่วงและกำจัดสิ่งสกปรกต่างๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเจริญใหม่ของชั้นผิวหนังและขนชุดใหม่ น้ำลายของแมวยังจะช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายแมวได้อีกทางหนึ่ง แมวทุกตัวจึงชอบเลียขนบ่อยๆ สำหรับลูกแมวจะรู้จักเลียขนตั้งแต่แรกเกิดโดยมีแม่แมวเป็นผู้เลียขนให้ลูกแมวก่อน
คนไทยเกือบทุกคน จะเคยเห็นแมวไทย น้อยคนนักที่จะไม่เคยเห็น เพราะแมวไทยเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านของคนไทยมาแต่โบราณกาล หลายๆบ้านจะเลี้ยงแมวไทย หรือแม้บ้านใดจะไม่เลี้ยง แต่แมวเป็นสัตว์ที่รักอิสระ สามารถจะกระโดด วิ่ง ลอด ปีนป่าย จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่งได้ คนไทยจึงมักจะมองเห็นหรือเจอะเจอแมวไทยบ่อยๆในชีวิตประจำวัน
แมวไทยในต่างแดน
เมื่อปี พ.ศ. 2427 กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ชื่อ นายโอเวน กูลด์ (Owen Gould) ได้นำแมวไทยคู่หนึ่งจากประเทศไทยไปฝากน้องสาวที่อังกฤษ อีกหนึ่งปีต่อมา แมวคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดในงานประกวดแมว ที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ปรากฏว่าชนะเลิศได้รางวัลที่หนึ่ง ทำให้ชาวอังกฤษพากันแตกตื่นเลี้ยงแมวไทยกันใหญ่ จนมีสโมสรแมวไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443 ชื่อว่า The Siamese Cat Clubs ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ได้มีการตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษขึ้น หรือ The Siamese Cat Society of the British Empire อีกสมาคมหนึ่ง
แมวที่นายโอเวน กูลด์ นำไปจากประเทศไทยนั้น มีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ 9 แห่ง คือที่หน้าหูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่เท้า จมูกหนึ่ง หางหนึ่ง และอวัยวะเพศหนึ่ง มีตาสีฟ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นแต้มสีที่จัดวางอยู่อย่างเป็นระเบียบ ไม่มากมายเลอะเทอะเหมือนกับแมวพันธุ์อื่น และเมื่อนำแมวไทยไปผสมข้ามพันธุ์กับแมวพันธุ์อื่น ก็ยังจะได้แต้มสีตามร่างกายในตำแหน่งเดียวกันอีก เพียงแต่รูปร่างจะไม่สง่างามเท่า และอุปนิสัยจะไม่เหมือนกัน
แมวไทยพันธุ์นี้ ชาวต่างชาติจึงนิยมเลี้ยงกันแพร่หลาย จะเรียกชื่อพันธุ์ว่า Siamese Cat หรือ Seal Point แต่สำหรับในสมุดข่อยโบราณของไทย ให้ชื่อแมวไทยลักษณะนี้ว่า "แมววิเชียรมาศ" คุณสมบัติโดดเด่นของแมววิเชียรมาศ คือเป็นแมวฉลาด รักบ้าน รักเจ้าของ รู้จักประจบ แต่ก็เป็นตัวของตัวเอง แมวสายพันธุ์ไทย
ในสมุดข่อยโบราณ ได้กล่าวถึงแมวไทยไว้ถึง 23 ชนิด ซึ่งเป็นแมวดี (แมวให้คุณ) 17 ชนิด และเป็นแมวร้าย (แมวให้โทษ) 6 ชนิด แต่ปัจจุบันแมวดี (แมวให้คุณ) ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 13 ชนิด เหลือเพียง 4 ชนิด ได้แก่
แมววิเชียรมาศ
เป็นแมวที่คนไทยโบราณ เลี้ยงไว้ในราชสำนัก เพราะถือเป็นแมวนำโชคลาภ แมววิเชียรมาศ จะมีสีขนเป็นสีครีมอ่อนๆ ขนเป็นมันวาว และมีขนสีเข้มที่เรียกว่า "แต้ม" สีแต้มจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งมีอยู่บนตัว 9 แห่ง คือที่หน้าหูทั้ง 2 ข้าง, ปลายเท้าทั้ง 4, ปลายหาง 1, ปลายจมูก 1, และที่อวัยวะเพศไม่ว่าจะตัวผู้หรือตัวเมีย อีก 1 และจะมี ตาสีฟ้า
แมววิเชียรมาศ ตรงกับความหมายว่า "เพชรแห่งดวงจันทร์" หรือ "Moon Diamond" บางตำราก็เรียก "แมวแก้ว" ซึ่งก็ตรงกับคำว่า "วิเชียร" แมวชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแมวเก้าแต้มเสมอ ที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง แมวเก้าแต้มคือแมวที่มีสีพื้นสีขาว และมีแต้มบนร่างกาย 9 แห่ง เหตุที่มักเข้าใจผิดเพราะแมววิเชียรมาศ จะมีสีพื้นสีขาวงาช้าง (หรือโบราณจะเป็นขาวล้วนก็ไม่ทราบ) และมีแต้มที่จมูกครอบไปถึงปากเป็นหนึ่งแห่ง กับขาทั้งสี่ หูสอง หางหนึ่ง และที่อวัยวะเพศอีกหนึ่ง รวมเป็น 9 แห่งเช่นกัน ในแมววิเชียรมาศนี้แต้มตามตำราว่าไว้ว่าต้องเป็นสีดำดังหมึกวาด แต่ปัจจุบันเมื่อดูให้ดีแล้วจะเป็นแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ไม่ได้ดำสนิท หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Seal brown หรือแต้มสีครั่ง แมววิเชียรมาศเป็นที่รู้จักในต่างประเทศโดยใช้ชื่อว่า แมวสยาม (Siamese Cat) แต่ต่างประเทศจะมีแต้มสีอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งในบ้านเราจะยอมรับเฉพาะแมวที่มีแต้มสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น นัยน์ตาสีฟ้าก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของแมวชนิดนี้
แมวโคราช
ชื่อแมวโคราช เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นแมวที่มีถิ่นเดิมอยู่ที่ อำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา โบราณในสมุดข่อยเรียกแมวพันธุ์นี้ว่า แมวมาเลศ หรือแมวสีดอกเลา เพราะสีขนเป็นสีเทาหม่นคล้ายสีดอกเลา หรือสีเมฆตอนใกล้ฝนจะตก ศีรษะจะคล้ายเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่ และแบน มีคางและกรามที่แข็งแรง หูตั้ง หูใหญ่ เด่นอยู่บนศีรษะ เป็นแมวที่แสดงออกถึงความเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ขณะที่ยังเป็นลูกแมว นัยน์ตาจะเป็นสีฟ้า เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด และเมื่อโตเต็มที่ นัยน์ตาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว หรือสีเหลืองอำพัน
แมวโคราช เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แมวสีสวาด เพราะมีขนสั้น สีสวาด (silver blue) ทั่วทั้งตัว และเป็นสีสวาดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นแมวที่ชาวบ้าน ใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในภาคอีสาน เพราะเชื่อว่าสีขนเป็นสีเดียวกับเมฆ จะทำให้เกิดฝนแก่ชาวไร่ชาวนาได้ แมวสีสวาด เคยถูกนำมาใช้เป็นแมสคอท ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 1985 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ และซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพ โดยแมสคอทแมวสีสวาด ตัวที่นครราชสีมาเป็นเจ้าภาพ มีชื่อว่า "แคน" (Can)
ต้นกำเนิดพบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันในนามว่าโคราช มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1350-1767 หรือประมาณ พ.ศ. 1893-2310
แมวเพศผู้มีสีเหมือนดอกเลา จึงเรียกแมวสีดอกเลา โดยจะต้องมีขนเรียบ ที่โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ในขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน เป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว หรือเหมือนคนผมหงอก
ชื่อแมวโคราช เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้แหล่งกำเนิดของแมวเป็นชื่อเรียกพันธุ์แมว มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าไหร่จะมีโชคลาภมากเท่านั้น
แมวศุภลักษณ์
แมวศุภลักษณ์ หรือเรียกอีกชื่อว่า แมวทองแดง เพราะมีสีทองแดง หรือสีน้ำตาลแดงทั้งตัว อาจจะมีสีเข้มเป็นพิเศษตำแหน่งเดียวกับแมววิเชียรมาศก็ได้ แมวศุภลักษณ์ มีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักตัวพอประมาณ ขายาวเรียว ฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลม กว้าง มีนัยน์ตาสีเหลือง หรือสีอำพัน แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวที่มีรูปร่างและสีสันสวย สมกับคำว่า "ศุภลักษณ์" ที่แปลว่าลักษณะดี
แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวที่ได้ติดตามเจ้าของคนไทย ซึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกที่พม่า และเนื่องจากเป็นแมวที่มีรูปร่างสีสันสวย ขุนนางชาวพม่าจึงนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 ดร.โจเซฟ ซี ทอมสัน ชาวอเมริกัน ได้นำแมวตัวเมียสีน้ำตาลจากประเทศพม่า กลับไปที่ซานฟรานซิสโก แล้วนำไปจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษ ตั้งชื่อว่า Burmese Cat หรือแมวพม่า เพราะคิดว่าเป็นแมวของภูมิภาคพม่า แต่เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดของแมวพันธุ์นี้มาจากเมืองไทย เพราะมีปรากฏอยู่ในสมุดข่อย
ปัจจุบันในเมืองไทย แมวศุภลักษณ์หายากมาก ในการประกวดแต่ละครั้งจะมีผู้ส่งเข้าประกวดน้อย แต่น่าแปลกที่แมวพันธุ์นี้จะมีอยู่ทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเขาได้พัฒนาพันธุ์จนคล้ายพันธุ์วิเชียรมาศ อีกถึง 8 พันธุ์
ลักษณะประจำพันธุ์ของแมวศุภลักษณ์
ในสายตาฝรั่งแล้วเข้าใจว่าแมวทองแดงเป็นแมวพม่า เนื่องจากปี พ.ศ. 2473 ดร. โจเซฟ ซี ทอมสัน ชาวอเมริกัน ได้นำแมวตัวเมียสีน้ำตาลจากประเทศพม่ากลับไปที่ซานฟรานซิสโก แล้วนำไปจดทะเบียน ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งชื่อว่า Burmese Cat หรือแมวพม่า นั่นเองและ เป็นแมวพันธุ์หนึ่งที่มีคนเลี้ยงกัน มากที่สุดในโลก แต่ในสายตาคนไทย ถือว่าแมวทองแดงเป็นแมวไทย เนื่องจากโครงสร้าง และลักษณะนิสัย เป็นแบบฉบับแมวไทย มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตกนั้น พม่าได้กวาดต้อนคนไทยจำนวนหนึ่งไปเป็นเชลยศึกที่พม่าและมีแมวทองแดงตามเจ้าของเข้าสู่เขตแดนพม่าด้วย เนื่องจากเป็นแมวชั้นสูงเช่นเดียวกับแมวไทยพันธุ์อื่นๆ พวกขุนนางพม่า จึงนิยมเลี้ยงกัน พอพวกฝรั่งไปพบเข้าจึงเรียกเป็นแมวพม่าไป แมวทองแดงมีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักตัวพอประมาณ ขายาวเรียว ฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง สีขนออกสีน้ำตาลเข้ม คล้ายสีสนิม (สีทองแดง) แต่จะมีสีเข้มมาก ขึ้นบริเวณส่วนหูและในหน้า นัยน์ตาสีเหลืองอำพัน เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสระเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วมันดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร ปัจจุบันเมืองไทย หายากมาก แต่มีทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเขาได้พัฒนาผสมพันธุ์กัน จนได้แมวในลักษณะ และสีอื่นๆ มากมาย ทำนองคล้ายพันธุ์วิเชียรมาศที่แยกออกไปถึง 8 พันธุ์
ลักษณะสีขน:
ขนสั้น สีน้ำตาลเข้มคล้ายสีสนิม (สีทองแดง) บริเวณส่วนหู ใบหน้า ปลายขา หาง จะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆ ไป
ลักษณะของส่วนหัว
ค่อนข้างกลมและกว้าง หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง หูใหญ่ ลักษณะของนัยน์ตา
แมวชนิดนี้จะมีดวงตาออกเป็นลักษณะเหลืองๆ หรือออกสีอำพัน หนวดของแมวศุภลักษณ์จะมีสีแวววาวเหมือนกับลวดทองแดงเลยทีเดียว
ลักษณะของหาง หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขาวยาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว
ลักษณะที่เป็นข้อด้อยของพันธุ์
ขนยาวเกินไป สีอ่อนเกินไป มีแต้มสีขาวปน เช่น ที่บริเวณหน้าอก หรือช่องท้อง มีไม่สม่ำเสมอ เช่น มีลายเห็นเป็นทางตามลำตัว โดยเฉพาะตามใบหน้า ขาและหาง นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี
แมวโกญจา
แมวโกญจา หรือโกนจา เป็นแมวที่มีขนสั้น ขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มเรียบ และสีดำตลอดทั้งตัว หัวกลมแต่ไม่โต หูตั้ง นัยน์ตาสีเหลืองอมเขียว หรือสีดอกบวบแรกแย้ม รูปร่างสะโอดสะอง หางยาว โคนหางใหญ่และค่อยๆเล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ มีความสง่างามยามเคลื่อนไหว
หลายคนมองว่าแมวสีดำ ดูน่ากลัว ตามความเชื่อที่ผู้ใหญ่บางคนบอกไว้ แต่โบราณไทยในสมุดข่อยกลับบอกว่า แมวโกญจาเป็นแมวดี สนับสนุนให้เลี้ยงแมวโกญจาไว้ในบ้าน หากใครเลี้ยงไว้ จะได้เป็นใหญ่เป็นโต น่าเกรงขาม และมีอำนาจ
ลักษณะที่เป็นข้อเด่น
ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีดำตลอดทั้งตัว
ลักษณะของส่วนหัว : รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)
ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว
ลักษณะที่เป็นข้อด้อย
ขนยาวมากเกินไป ขนมีสีอื่นปะปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป ( เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดีและรักอิสระ
แมวขาวมณี
แมวขาวมณี เป็นแมวไทยสีขาวทั้งตัว ซึ่งว่ากันว่าเป็นพันธุ์แมวไทยที่มีเลี้ยงอยู่มากที่สุดในไทยในปัจจุบัน มีรูปร่างขนาดปานกลาง ขนสั้นแน่น สีขาว มีจมูกสั้น หูใหญ่ตั้งสูงเด่น หางยาวปลายแหลมชี้ตรง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว นัยน์ตามีสองสี คือสีฟ้าหรือสีเหลืองอำพัน เมื่อเอาแมวขาวปลอด ตาสีฟ้า ผสมกับแมวขาวปลอด ตาสีอำพัน ลูกผสมที่ออกมาจะมีตาสองสีคือ ข้างหนึ่งตาสีฟ้าและอีกข้างหนึ่งตาสีเหลืองอำพัน ซึ่งฝรั่งเรียกลักษณะนี้ว่า Old Eyes สำหรับแมวขาวมณีนี้ แม้จะไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในสมุดข่อยก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นแมวไทยโบราณพันธุ์หนึ่ง แมวขาวมณี หรือ ขาวปลอดเป็นสายพันธุ์ที่พบเห็นได้มากสุดในปัจจุบัน เป็นแมวไทยโบราณที่ไม่ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อย จึงเชื่อว่าเป็นแมวที่เพิ่งกำเนิดในต้นยุครัตนโกสินทร์นี่เอง นิยมเลี้ยงไว้ในราชสำนักครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แมวชนิดนี้เป็นที่โปรดปราณมาก
ในต่างประเทศนิยมเลี้ยงกันเป็นคู่เพื่อให้ผลัดกันทำความสะอาดขน เป็นแมวที่ค่อนข้างเชื่อง เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นเพื่อนได้เป็นอย่างดี ลักษณะเด่นของขาวมณีคือสีขนและผิวกายขาวสะอาด ขนสั้น นุ่ม รูปร่างลำตัวยาวขาเรียว ทรงเพียวลม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หัวไม่กลมโต แต่เป็นทรงสามเหลี่ยมคล้ายหัวใจ หน้าผากแบนใหญ่ หูขนาดใหญ่และตั้งตรงจมูกสั้น ดวงตาจะรีเล็กน้อยนัยน์ตาเป็นสีฟ้าหรือเหลืองอำพันสีใดสีหนึ่งเมื่อนำแมวขาวมณีตาสีฟ้า ผสมกับแมวขาวมณีตาสี อำพัน ลูกที่ออกมาจะมีตาสองสี คือ สีฟ้าข้างหนึ่งและสีเหลืองอำพันข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ถูกควบคุมโดยยีนด้อย
ในแมวขาวมณีแทบทุกตัวจะมีจุดด้อย เช่น ถ้ามีตาสองสีมักมีตาข้างหนึ่งที่ไม่ดี อาจมองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็นเลย ถ้าแมวตาสีฟ้ามักจะหูพิการ หรือไม่ได้ยินเสียงมากนัก และแมวตาสีเหลืองอำพันมักมีต่อมขนที่ไม่ดี จุดด้อยอีกข้อของแมวขาวมณีคือความไม่ขาวปลอด มีสีใดสีหนึ่งแซมเข้ามา รวมถึงตาสองข้างเป็นคนละสีกัน (Odd eyes) หรือเป็นสีอื่นสีใดที่ไม่ใช่สีฟ้าหรือเหลืองอำพัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับขนที่ยาวมากเกินขนาด หางคด หางขอด หางงอและ หางสั้น
แมวให้โทษ 6 ชนิด
ลักษณะแมวให้โทษ 6 ชนิด (ตามสมุดข่อยโบราณ)
แมวทุพพลเพศ
ตัวขาวตาเล่ห์ย้อมหนึ่งดั่ง โลหิตทาปลอม ลักคาบมัศยาชื่อทุพพลเพศให้ชานสลาเนตรผลาญ
(แปล)
ขนสีขาวหม่น หางหงิกงอ ดวงตาสีแดงขี้ขโมย เลี้ยงไว้จะเกิดความเดือดร้อน
แมวพรรณพยัคฆ์
มีพรรณพยัคฆ์เพศพื้นขนดั่งชุบครำเกลือ สีตาโสดแสงเจือเสียงดั่งผีโป่งร้องลายเสือแกลบกล้องเจิมเปือก ตมแฮเรียกแคว้นพงไศล
(แปล)
คือแมวลายเสือธรรมดา แต่จะเป็นเสือดำ-เขียว และ ดำ-แดงเท่านั้น ขนหยาบ ดวงตาสีแดงดั่งเลือด เสียงน่าเกลียดดั่งเสียงผีโป่ง เลี้ยงไว้จะเกิดความเดือดร้อน
แมวปีศาจ
ปีศาจจำพวกนี้เกิดซึ่งลูกออกกินหางขดดั่งงู ดินขนดูสากสยายเส้น อาจิณ โทษนาไป่เว้น ยอบ ขนด ซูบเนื้อยานหนัง
(แปล)
เป็นแมวตัวเมียที่คลอดลูกออกมากี่ตัว ก็กินจนหมด ผอม หนังยาน ขนหยาบ ดวงตาสีแดง หางขอดหงิกงอ เลี้ยงไว้จะเดือดร้อน
แมวหินโทษ
หินโทษโหดชาติเชื้อเกิดลูกตายออกมา สันดานเพศกายปราภัยพิบัติพานต้อง ลักขณาแต่ท้องกฎโทษอยู่แฮสิ่งร้ามาสถาน
(แปล)
เป็นแมวตัวเมีย มีขนสวยงาม แต่คลอดลูกตายตั้งแต่ในท้องเสมอ เลี้ยวจะเกิดภัยพิบัติแก่เจ้าของและบ้านเรือน
แมวกอบเพลิง
มักนอนยุ้งอยู่ซุ้มเห็นแต่คนเดินชายกอบเพลิง กำหนดหมายทรลักษณชาติเชื้อร้าย ซ่อนกายวิ่งคล้ายนามบอก ไว้เอยโทษแท้พลันถึง
(แปล)
ชอบอยู่ตามยุ้งข้าว หรือตามป่า เมื่อพบคนจะวิ่งหนี เลี้ยงไว้จะให้โทษแก่เจ้าของ
แมวเหน็บเสนียด
เหน็บเสนียดนามโทษร้ายค่าง ที่ทุยหาง เห็นทรงรูปพิกลเบญแมวดั่งนี้อย่าไว้ เริงเข็ญโหดร้ายจาเพศถิ่นบ้านเสียศรี
(แปล)
โคนหางด่าง รูปร่างพิกลพิการ มักเอาหางซ่อนไว้ใต้ก้นเวลานั่ง เลี้ยงไว้จะเสื่อมเสียวงศ์ตระกูล