รู้ไหม...ทำไม สมุทรปราการน้ำท่วมบ่อย



 




           ความไม่พอดีของปริมาณน้ำฝนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยแตกต่างกันไป แล้งบ้าง ท่วมบ้าง ตามชะตากรรมในแต่ละปี และไม่อาจมีใครคาดการณ์ได้ว่าปีนั้น ๆ พื้นที่ไหนจะแห้งแล้ง หรือเกิดน้ำท่วม แต่สำหรับพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ผืนแผ่นดินบริเวณนี้จะประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนแทบทุกปีอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน...วิกฤตหนักสุดที่ชาวปากน้ำทราบกันดี

       ปัจจัยหลักที่ทำให้ น้ำท่วมสมุทรปราการ

           สาเหตุ ที่น้ำท่วมสมุทรปราการ อยู่บ่อย ๆ เนื่องจากบริเวณตลาดปากน้ำเป็นพื้นที่ต่ำและเป็นแอ่งกระทะ เวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมได้ง่าย โดยเฉพาะ ถ.สุขุมวิทสายเก่า ตั้งแต่หน้าหอนาฬิกาหน้าศาลากลางจังหวัด ไปจนถึงหน้าวิทยาลัยสารพัดช่าง จ.สมุทรปราการ รวมทั้ง ถนนศรีสมุทร และถนนอมรเดช แม้จะมีการสร้างเขื่อนบริเวณศาลากลางจังหวัดแล้ว แต่การที่ระดับน้ำทะเลนั้นสูงกว่าระดับพื้นดิน ก็ทำให้น้ำทะลักมาตามท่อระบายน้ำ จึงทำให้เกิด น้ำท่วมสมุทรปราการ อยู่บ่อย ๆ

           นอกจากปัจจัยน้ำทะเลหนุนสูงแล้ว ยังมีน้ำเหนือที่ไหลจากเขื่อนสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กับน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ เมื่อรวมกับการที่สมุทรปราการถูกกำหนดให้เป็นสถานที่รองรับการระบายน้ำท่วม จากชั้นในของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไม...สมุทรปราการน้ำท่วมบ่อย 
 



        สมุทรปราการ แผ่นดินทรุด เสี่ยงจมทะเล !!

           หากศึกษาในแง่ประวัติศาสตร์ เมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เคยเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินงอก จนต้องสร้างป้อมปราการที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จากพระประแดง มาปากน้ำ แล้วเลื่อนไปที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า แต่ ในปัจจุบัน กลับมีปัญหาเรื่องแผ่นดินหาย เริ่มจาก 2 ข้างชายฝั่งตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งแผ่นดินหายไปแล้วหลายกิโลเมตร!!!

           ขณะเดียวกัน พื้นที่จังหวัดรอบอ่าวไทยก็มีปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด รวมกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกปีละ 3 มิลลิเมตร จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวสมุทรปราการจะเดือดร้อนจากน้ำท่วมเป็นระยะ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องทำคันกั้นน้ำและยกถนนให้สูงขึ้น แต่สมุทรปราการมีคนอาศัยอยู่หนาแน่น การแก้ปัญหาทำได้ยากมาก ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวล่าช้า เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
 



       สถานการณ์ น้ำท่วมสมุทรปราการ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

        ปี 2552

           ต้นเดือนพฤศจิกายน มีน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร ถนนบางช่วงน้ำท่วมถึงเอว โดยเฉพาะสามแยกหอนาฬิกาทำจราจรติดขัดยาวเหยียดกว่า 1 กิโลเมตร หลังจากนั้นน้ำก็ท่วมต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะช่วงประมาณ 8-10 โมงเช้า ก่อนจะแห้งในช่วงเย็นและท่วมอีกในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

       ปี 2551

           กลางเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงขึ้น ประกอบกับระดับน้ำทะเลได้เกิดหนุนตัวสูง ส่งผลให้ประมาณน้ำไหลเข้าท่วมตลาดกลางเมืองปากน้ำ และถนนสุขุมวิท รวมทั้งถนนอีกหลายสายกลายเป็นอัมพาต รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท ช่วงทางเข้าเมืองปากน้ำ ถนนท้ายบ้าน ถนนสายลวด และ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย น้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร ทำให้การจราจรติดขัดเป็นทางยาวหลายกิโลเมตรทั้งขาเข้าและขาออก 
 



       คำเตือนอันน่าสะพรึง...จริงหรือหลอก ???

           เป็น กระแสข่าวครึกโครม กรณีมีคำเตือนจากกลุ่มนักวิชาการบ่อยครั้งว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมืองหลวงของประเทศไทยจะกลายเป็นเมืองบาดาล หรือจมหายไปในทะเล และเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูง ทำให้พื้นที่ใกล้แม่น้ำจะจมต่ำลงไปในน้ำลึก 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร และสมุทรปราการ จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด เพราะอาจเจอระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตรเลยทีเดียว

           อย่างไรก็ตาม แม้การพยากรณ์ของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่บอกไว้ว่า จะเกิดวิบัติภัยน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) จะไม่เกิดขึ้น แต่ปัญหาเรื่องของดินทรุดตัวก็ยังไม่สามารถละเลยได้ เนื่องจากแต่ละปีมีการทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ยมากถึง 3 เซนติเมตร

           ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกประมาณ 2 เท่า โดยบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 มิลลิเมตรต่อปี และตอนเหนือของอ่าวไทยใกล้กรุงเทพฯ สูงขึ้นเฉลี่ย 4 มิลลิเมตรต่อปี และการลดระดับลงอย่างรวดเร็วของแผ่นเปลือกโลกในอัตรา 10 มิลลิเมตรต่อปี หลังเกิดสึนามิ ปี พ.ศ.2547
 



           ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์กันว่า ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า สมุทรปราการ จะถูกน้ำท่วมไปพร้อม ๆ กับกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล

           ...เรื่องดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย แต่ป้องกันไว้ก่อน น่าจะเป็นคำตอบที่ดี และปลอดภัยที่สุด

18 ก.ย. 53 เวลา 22:28 3,730 7 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...