.
.
.
.
.
ฮือฮา พ่อค้ารับซื้อตุ๊กแก ยักษ์ ราคาดี
โวมีตุ๊กแกน้ำหนัก 3 ขีดขึ้นไปต้องการหลายสิบตัว ขณะที่เสี่ยนายทุนเด้งลูกรับให้ถ่ายรูปส่งผ่านโทรศัพท์มือถือมาดูขนาดให้ ชัดเจนกับตา ย้ำหากมีขนาดตามที่ต้องการ ยินดีซื้อตามราคาที่ลั่นวาจาไว้ชัวร์ ด้าน แพทย์เตือนการนำตุ๊กแกไปรักษาโรคร้าย ยังไม่เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
จากกรณีเกิดเรื่องราวฮือฮาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตว่า มีพ่อค้ารับซื้อตุ๊กแก มี น้ำหนักตั้งแต่ 3 ขีด (300 กรัม) ขึ้นไป
ส่งไปขายให้กับพ่อค้ารับซื้อชาวมาเลเซีย เพื่อต้องการนำเซลล์ส่วนหางของตุ๊กแก ไปสกัดเป็นส่วนผสมเป็นยารักษาโรคเอดส์ และมะเร็ง สนนราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนบาท ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 ส.ค. นายจิรายุสต์ หรือบังบ่าว หรือเสี่ยต๊ะ เอียดตรง อายุ 42 ปี อยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ 4 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง นายทุนรับซื้อตุ๊กแกส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวว่า หลังจากมี ข่าวทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ปรากฏว่ามีคนโทรศัพท์ติดต่อประสานมาหลายราย ในจำนวนนี้มีนายวิโรจน์ บุญรัตน์ประพันธ์ อายุ 21 ปี อาชีพค้าขาย อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 2 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยบอกว่ามีตุ๊กแกน้ำหนัก 3 ขีดขึ้นไปหลายสิบตัว และอยากขายให้กับตน จึงให้ถ่ายรูปส่งผ่านมาทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อจะได้ดูขนาดที่ชัดเจน และหากมีจริงตามที่ได้พูดไว้ ตนยินดีจะซื้อในราคาตามน้ำหนักของตุ๊กแก
อาทิ น้ำหนัก 3.2 ขีด ราคา 13,000 บาท น้ำหนัก 3.5 ขีด ราคา 20,000 บาท น้ำหนัก 4 ขีด ราคา 30,000 บาท น้ำหนัก 4.5 ขีด ราคา 40,000 บาท น้ำหนัก 5.2 ขีด ราคา 60,000 บาท และน้ำหนัก 1 กก. ราคา 200,000 บาท ทั้งนี้เนื่องจากมียอดสั่งซื้อมาจากพ่อค้าชาวมาเลเซีย และชาวไต้หวัน ที่ต้องการจะนำเซลล์ส่วนหางของตุ๊กแกไปสกัดทำยารักษาโรคเอดส์และโรคมะเร็ง จึงมีการประกาศรับซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วย แต่ถ้าหากผู้ใดสนใจต้องการขายตุ๊กแก สามารถโทรฯติดต่อมาได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-8386-2795 ตลอด 24 ชม.
ด้าน นายณัฐวุฒิ สังขาว อายุ 33ปี อยู่บ้านเลขที่ 60/1 หมู่ 9 ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กล่าวว่า ตนพร้อมเพื่อนบ้านยังคงออกตระเวนจับตุ๊กแก
เพื่อส่งขายให้กับนายหน้า เพื่อนำไปขายต่อให้กับชาวต่างชาติ โดยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ใช้เวลาช่วงกลางคืนออกเดินหาตามรอบ ๆ ป่าในหมู่บ้าน ตามต้นไม้ และมุมบ้าน และสามารถจับตุ๊กแกได้แล้วกว่า 30 ตัว แต่พบว่ายังไม่ได้ขนาดน้ำหนักตามที่นายทุนต้องการคือ 3 ขีดขึ้นไป แต่ที่จับได้มีขนาดอยู่ประมาณ 2 ขีดกว่า ๆ เท่านั้น
ขณะที่ นายแพทย์พไพศาล เกื้ออรุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวว่า
จากกระแสข่าวการซื้อขายตุ๊กแกในราคาสูง จนกลายเป็นที่สงสัยของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความอันตรายของ ตุ๊กแก และเรื่องของเซลล์ส่วนหางของตุ๊กแก ว่าสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคเอดส์และโรคมะเร็งนั้น ในทางการแพทย์ จะมีการรักษาอยู่ 2 แบบ คือ 1.แพทย์แผนมาตรฐานที่มีการรักษาได้ผลไม่น้อยกว่า 95% และ 2.การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก แต่วิธีแพทย์ทางเลือกยังไม่เป็นที่รับรองในเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์พไพศาล กล่าวต่อว่า การที่ชาวบ้านหรือชาวต่างชาติ
นำตุ๊กแกไปเป็นส่วนผสมในการรักษาโรคต่าง ๆ จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะสามารถรักษาโรคให้หายหรือได้ผลเกิน 95% และก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวที่ชาวบ้านนำจิ้งจกมาใช้เป็นตัวยารักษาโรค แต่ก็เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคล ที่สามารถรักษาโรคได้ หรือเป็นวิธีแพทย์ทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามว่า ตุ๊กแกจะมีอันตรายหรือเปล่า ถ้าหากมีการนำมารับประทานโดยไม่ถูกวิธี ขอตอบว่า โดยปกติชาวไทยในภาคอีสาน มักจะนิยม นำตุ๊กแกมาทำเป็นอาหารในรูปแบบต่าง ๆแต่ที่สำคัญก่อนนำมารับประทานควรทำตุ๊กแกให้สุก ไม่อย่างนั้นก็จะส่งผลให้ผู้ รับประทานเกิดโรคเกี่ยวกับโรคพยาธิ และโรค แบคทีเรีย ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะพบติด ต่อมาจากสัตว์เลื้อยคลานเป็นส่วนใหญ่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในพื้นที่บ้านตาล อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นแหล่งผลิตตุ๊กแกตากแห้งส่งขายต่างประเทศมานานแล้ว
โดยพ่อค้าจะไปซื้อตุ๊กแกตามบ้านของชาวบ้านที่จับได้ตามธรรมชาติ หรือสถานที่เพาะเลี้ยง ในราคาตัวละ 2-5 บาท เพื่อนำมาตากแห้งส่งไปขายไต้หวัน ในราคาคู่ละ 50 บาท เพื่อนำไปทำยาบำรุงร่างกาย และถือเป็นรายได้ส่งออกต่างประเทศของชาว อ.นาหว้า อีกด้วย.
ตากแห้งเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆตามออเดอร์ที่สั่ง.
ข่าวการรับซื้อ "ตุ๊กแก" ตัวเป็นๆที่สนนราคาเรือนแสน เพื่อไปเป็นส่วนประกอบการทำยารักษาโรคร้าย ได้สร้างความฮือฮา โดยที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันว่าไทยเรามีการส่งออกในรูป "ตากแห้ง" ไปยัง "แดนมังกร" ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย เพื่อทำเมนู "เปิบ" ซึ่งทางกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยกับ "หลายชีวิต" ว่า แต่ละปีมีการส่งออกนับหลายแสนตัว การ "โกอินเตอร์" ดังกล่าว ทำให้หลายคนกริ่งเกรงว่าพวกมันจะสูญพันธุ์ไปจากผนังบ้านเรือน
ฉะนี้ ทางกรมอุทยานฯจึงคิดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงนำร่อง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม "ว่ากันไป..."แม้จะมีรูปร่างที่น่าขยะแขยง เป็นที่รังเกียจของบรรดาสาวๆ และหนุ่มบางรายก็ตาม "ตุ๊กแก" หรือ "ไอ้ตีนกาว" อย่างที่หลายคนเรียกขานในยามนี้ มันกลับมีค่าตัวที่แพงลิบลิ่ว ดังนั้น เรามาเรียนรู้วงจรชีวิตความเป็นอยู่ของพวกมันกันดีกว่า
" ตุ๊กแกบ้าน" (Gekko gecko) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาบก่าย มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและกระจายอยู่ในประเทศอินเดียตอนเหนือ จีนตอนใต้ ลาว เขมร มาเลเซีย อีกทั้งมีการนำเข้าไปขยายพันธุ์ในรัฐฮาวาย ฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา บางเกาะในทะเลแคริเบียน โดยบริเวณที่มันชอบอยู่อาศัยจะเป็นบริเวณพื้นที่แถบป่าไม้ ตามบ้านเรือนที่เป็นมุมมืดปราศจากการรบกวน ในบางครั้งยามที่แดดอ่อนก็จะออกมารับแสงบ้าง กระทั่งบางคนบอกว่า พวกมันเป็นสัตว์ที่ อาบแดดกลางวัน อาบแสงจันทร์กลางคืน...
ตุ๊กแกที่โตเต็มวัย.
...แล้วเมื่อฟ้าสลัวพลบค่ำ จึงออกมาเกาะผนังเฝ้า "รอคอย" จับเหยื่ออย่างพวกแมลงต่างๆ อาทิ แมลงเม่า อันเป็นเมนูสุดโปรด แมลงสาบ ตั๊กแตน จิ้งหรีด ด้วง มอด มด ผีเสื้อ หนอน แมงป่อง ตะขาบ หนู ที่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์จำพวกแมลงศัตรูพืชเป็นอาหารขณะยังมีชีวิต รวมทั้ง "คราบ" ที่ลอกของมันเอง...
ลักษณะลำตัวของ "ไอ้ตีนกาว" โดยทั่วๆไปจะเป็นรูปทรงกระบอก ค่อน ข้างแบน หัวมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว ดวงตากลมโปน ม่านตาปิดเปิดแนวตั้ง เปลือกตาเชื่อมกันและโปร่งแสง ผิวหนังสีเทาแกมฟ้า มีจุดสีส้ม เทาและขาวกระจายตลอดทั้งตัว สีผิวจะจางหรือเข้มนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ทั่วทั้งตัวมีเกล็ดเป็นตุ่มลักษณะนุ่มมือเมื่อสัมผัส
ใต้นิ้วเท้า แต่ละนิ้วมีแผ่นบางๆเรียงซ้อนกัน แต่ละแผ่นมี setae ซึ่งเป็นเซลล์ขนาดเล็กทำหน้าที่ยึดติดพื้นผิวเรียบ บริเวณปลายนิ้วจะมีเล็บช่วยเกาะเกี่ยวในการปีนป่าย ในวัยเล็กหางจะมีแถบสีฟ้าสลับขาว โตเต็มที่ตัวผู้นอกจากขนาดลำตัวยาวกว่าแล้ว โคนหางจะอวบและใหญ่กว่าตัวเมีย โดยมันจะใช้อวัยวะส่วนนี้เคาะพื้นผนังเพื่อสร้างอาณาเขต อีกทั้งส่งสัญญาณบอกพวกพ้องเมื่ออยู่ในภาวะคับขัน
...และยังสามารถสลัดให้หลุดเพื่อหลอกศัตรูตัวฉกาจอย่าง "เหมียว" ให้หลงกลได้อีกด้วย หากมันมีชีวิตรอดเพียง 3 สัปดาห์ ปลายหางก็จะงอกขึ้นมาใหม่แต่ไม่ดูดีดังเดิม...
ส่วนการขยายเผ่าพันธุ์ โดยปกติจะเป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่ง ตัวผู้จะส่งเสียงร้อง "ตุ๊ก–แก" เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม หลังเสร็จสิ้นภารกิจตัวเมียจะหาที่วางไข่ (บริเวณเดียวกันได้หลายแม่) ลักษณะเปลือกไข่จะหนาติดเกาะแน่นกับผนัง รูปร่างรี สีขาว ปริมาณ 1-2 ฟอง/ครั้ง โดยใช้เวลาวางไข่ ประมาณ 4-5 เดือน
ช่วงนี้ทั้งคู่มีนิสัยค่อนข้างดุ ออกหากินไม่ห่างจากพื้นที่ แล้วอีก 60-200 วัน ตัวอ่อนจะออกมาสู่โลกภาย นอก ช่วงนี้จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว กระทั่งอายุได้ 1 ปี จึงเริ่มออกสร้างอาณาเขตแล้วเข้าสู่วงจรขยายเผ่าพันธุ์อีกครั้ง
แม้ว่าการใช้ชีวิตโดย รวมของพวกมันจะไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อมนุษย์ อีกทั้งยังมีประโยชน์ช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช แต่ ด้วยลวดลายสีสันบนตัว บวกกับน้ำเสียงที่เวลาร้องประหนึ่งว่ากำลังเล่นลูกคอ หลายคนจึงไม่ค่อยพิสมัยในตัวมันนัก!...