ใกล้ปิดฉาก"ตลาดนัดสยามฯ" จุฬาฯรุกหนักประกาศ"ดีเดย์ 1ต.ค." กระชับพื้นที่ไล่บี้กดดันจากเบาไปหาหนัก
วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 21:31:52 น. มติชนออนไลน์
นายสวัสดิ์ ปฐมมงคลกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการศูนย์การค้าสยามสแควร์ เปิดเผยกับ"มติชน ออนไลน์" ถึงมาตรการควบคุมแผงลอยรอบพื้นที่สยามสแควร์ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ค้าในสยามสแควร์ว่าแผงลอยบังหน้าร้านของ ตัวเอง ทำให้สูญเสียลูกค้าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่สัญจรผ่านไปมาร้องเรียนว่าแผงลอยดังกล่าวกีดขวางทางเท้า ว่า ทางสำนักงานฯ ได้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน รวม 3 ฝ่าย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับผู้ค้าแผงลอยเหล่านี้ให้หยุดขาย จากมาตรการเบา เช่น ติดป้ายประกาศ ไปจนถึงมาตรการหนักตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากนั้น ในวันที่ 1 ต.ค. จะเริ่มดำเนินการอย่างค่อนข้างเด็ดขาด
เมื่อถามว่าเมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค. จะมีวิธีเด็ดขาดอย่างไร นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ อาจเป็นการตรึงกำลังไม่ให้ผู้ค้าแผงลอยเข้ามาในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เคยมีผู้ฝ่าฝืนขายของบนทางเท้าก็ถูกจับปรับแล้วหลายราย
"เดิมสำนักงานเขตปทุมวันเคยมีนโยบายจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าเหล่านี้ย้ายเข้าไป ขายในสยามสแควร์ ซ.5 แต่ไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เสียก่อน จึงสร้างเป็นอาคารกึ่งถาวรจัดให้เจ้าของร้านในสยามสแควร์ผู้ประสบภัยถูกไฟ ไหม้มาขายสินค้าแทน"
อย่างไรก็ตาม นายสวัสดิ์ยอมรับว่า แผงลอยรอบสยามสแควร์มีจำนวนหลายร้อยแผง ทั้งนี้ได้เคยสอบถามผู้ค้าเหล่านี้ทราบว่าเสียค่าที่วันละ 100-500 บาท คาดว่าเงินส่วนนี้ตกไปอยู่กับกลุ่มมาเฟียนอกระบบ เนื่องจากได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเทศกิจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ เงินดังกล่าวหรือไม่ ทุกฝ่ายก็ต่างปฏิเสธ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านค้าแผงลอยรอบสยามสแควร์มีจำนวนนับร้อยแผง โดยในเวลาช่วงเช้าถึงช่วงบ่าย ส่วนมากจะเป็นรถเข็นขายอาหารเช่น อาหารทอด ข้าวราดแกง ผลไม้ และเครื่องดื่ม มาจอดขาย ต่อมาในช่วงเย็นถึงช่วงดึกจะเป็นรอบของการขายเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณ ซ.2-ซ.6
(ติดตามตอนต่อไป : ผู้ค้าโต้เดือด งัดหลักฐานเด็ดมัดเจ้าหน้าที่)