พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “แม่ซื้อ น. เทวดาหรือผีที่ประจำทารก, แม่วีก็เรียก” นอกจากนั้นแล้วยังหมายถึงหญิงที่รับเป็นแม่ชื้อ (ซื้อเด็กจากหมอตำแย) ตามประเพณีด้วย
คนโบราณเชื่อว่ามนุษย์ที่จะเกิดขึ้นมานั้น ผีจะปั้นหุ่นขึ้นก่อนแล้วจึงหาวิญญาณมาใส่ จากนั้นจึงส่งให้มาเกิดในครรภ์สตรี
ในอดีตการแพทย์ยังไม่เจริญ เด็กแรกเกิดอาจรอดหรือตายได้เท่า ๆ กัน เด็กที่ตายมักตายภายใน ๓ วัน (เป็นทีมาของคำแช่ง--ขอให้ตายใน ๓ วัน ๗ วัน) จึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะแม่ผีที่ปั้นหุ่นนั้นเห็นเด็กน่ารัก จึงทำเด็กให้ตายเพื่อที่จะนำเด็กไปเลี้ยงดูเอง ถ้าผีไม่ชอบใจก็ปล่อยให้แม่มนุษย์เลี้ยง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีวิธีหลอกไม่ให้แม่ผีเอาเด็กกลับไปเลี้ยงเอง อาทิ ชมเด็กทารกด้วยถ้อยคำรังเกียจ เช่น “น่าเกลียดน่าชัง” ชื่อเด็กก็ตั้งให้น่าเกลียดเช่น อึ่ง อ่าง ฯลฯ หรือเมื่อเด็กคลอดแล้วแม่มนุษย์ก็แกล้งทำเป็นไม่นำพา หลอกผีว่าแม่ของเด็กเองยังเกลียด หมอตำแยจึงอุ้มเด็กใส่กระด้งร่อนเบา ๆ ร้องว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ” หญิงที่นั่งอยู่ในที่นั้น ซึ่งเป็นคนเลี้ยงลูกเก่ง ใจดี ก็จะเป็นผู้รับซื้อเด็ก เรียกว่า แม่ซื้อ โดยให้เงินแก่หมอตำแยเป็นพิธี (บางครั้งหมอตำแยก็รับเป็นแม่ซื้อเสียเอง)
เมื่อเด็กเจ็บป่วย เช่น ตัวร้อน นอนผวา ก็ว่าแม่ซื้อ (ที่เป็นผีมารังควาน ก็จะต้องทำพิธีทิ้งข้าวหรือขว้างข้าวให้แม่ชื้อกิน จะได้ไม่มารบกวนเด็กอีก นอกจากนั้นคนโบราณยังเชื่อว่า แม่ซื้อจะคอยช่วยคุ้มครองเด็กเมื่อตกหกล้ม หรือตกกระได ไม่ให้ได้รับอันตรายโดยแม่ซื้อจะรับไว้
ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อนี้มีอยู่ในหลาย ๆ ชาติ เช่น อียิปต์ จีน ลาว เป็นต้น