พบแหล่งไดโนเสาร์ ชนิดโปรโซโรพอด ยุคไทรแอสซิก เก่าที่สุดในประเทศไทย ที่ภูกระดึง จ.เลย อายุกว่า 209 ล้านปี ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ ในไทย เผยเก่ากว่ายุคจูราสสิก และเป็นการค้นพบที่สมบูรณ์ ที่สุด เพราะพบชิ้นส่วนเกือบทุกชิ้น...
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จัดประชุมวิชาการธรณีวิทยาและแหล่งแร่ไทย-ลาวโดยนายวราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า หลังจากมีการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกท่อนหัวไหล่ไดโนเสาร์ซอโรพอด ขนาด 1.65 ซม. ที่ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ ในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการค้นพบชิ้นส่วนซอโรพอดชิ้นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังเจอซากฟอสซิลอื่นๆ เช่น จระเข้ เต่า ปลาโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าการที่มีสัตว์หลากชนิดรวมทั้งไดโนเสาร์มานอนตายอยู่ในแอ่งเดียวกัน ในสมัยโบราณพื้นที่นี้อาจเป็นร่องแม่น้ำขนาดใหญ่ เมื่อเกิดน้ำไหลหลาก ทำให้ชิ้นส่วนดังกล่าวถูกไหลตามน้ำแล้วมากองรวมกันในสถานที่เดียวกัน ซึ่งน่าสนใจที่จะต้องมีการไขปริศนาต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์กล่าวต่อว่า หลังจากการค้นพบดังกล่าว
นักวิจัยได้ตีวงสำรวจซากดึกดำบรรพ์ ครอบคลุมกลุ่มชั้นหินน้ำพองในเขตครอบคลุม อ.ภูกระดึง จ.เลย อ.คำม่วง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และบางส่วนของ จ.ขอนแก่น สกลนคร มุกดาหาร เพื่อต่อจิ๊กซอว์และแผนที่แอ่งไดโนเสาร์ในพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนได้มีการค้นพบท่อนชิ้นส่วนกระดูกท่อนขาบนของไดโนเสาร์โปรซอโรพอด ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ชนิดกินพืช ฟันมีรอยหยักแบบเลื่อย คอยาว เท้าหน้ามีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าเท้าหลังและล่าสุดได้มีการค้นพบ 5 แหล่งใหม่ที่มีซากไดโนเสาร์ อยู่ในชั้นหินน้ำพอง ประกอบด้วย 1. ภูน้อย 2. ภูหินแท่น 3. ภูขวาง 4. ท่าสองคอน 5. ผาโคก ทั้ง 5 แหล่งอยู่ใน อ.ภูกระดึง จ.เลย
นายวราวุธกล่าวว่า สิ่งที่ค้นพบและถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้นในวงการไดโนเสาร์ คือมีการพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์โปรซอโรพอด ครบทุกชิ้นส่วน ราว 30 กว่าชิ้นในบริเวณนี้ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานการค้นพบเพียงแค่
ส่วนปลายของกระดูกสะโพกส่วนหน้า ที่ อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เมื่อปี 2535 มาแล้ว
แต่การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบที่สมบูรณ์มากที่สุดและเกือบครบทุกชิ้นส่วนในแหล่งดังกล่าวกระจัดกระจาย โดยเฉพาะขาท่อนบน กระดูกโครงสันหลัง ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขวาง เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นไดโนเสาร์เก่าที่สุดในประเทศไทย และอาจเป็นช่วงไทรแอสซิกตอนปลายถึงยุคจูราสสิกตอนต้นอายุในช่วงราว 209 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งมีความต่างจากรอยเท้าไดโนเสาร์ที่เคยค้นพบมาแล้ว เพราะมี 4 นิ้ว โดยนิ้วที่เพิ่มมา มีลักษณะเหมือนเดือยของไก่ ขณะนี้ได้มีการเข้าไปขุดซากชิ้นส่วนที่เจอ นำกลับมาวิจัยรายละเอียดเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ จากต่างประเทศในระดับโลก เพื่อดูว่าโปรซอโรพอดที่เจอล่าสุดอยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์ประเภทใด หรืออาจจะเป็นไดโนเสาร์ชนิดที่ยังไม่เคยค้นพบ ทั้งนี้ จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะทราบ
"ความน่าสนใจตั้งแต่มีการศึกษาไดโนเสาร์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเคยค้นพบไดโนเสาร์ที่อยู่ ในช่วงที่มีอายุของจูราสสิกมาแล้ว 16 ชนิด โดย 6 ชนิดคือชนิดใหม่ของโลกและอีก 5 ชนิดอยู่ในกลุ่มสกุลใหม่ ของโลก โดยตัวที่เก่าที่สุดคือ อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ ที่ภูกุ้มข้าว จ.ชัยภูมิ แต่หลังจากนี้การค้นพบไดโนเสาร์ในกลุ่มโปรซอโรพอด ที่มีอายุเก่ายิ่งขึ้น จะทำให้เราสามารถเชื่อมต่อการค้นพบและเส้นทางของไดโนเสาร์ ที่มีในประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการรวมกลุ่มของกรมทรัพยากรธรณี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ นักศึกษาปริญญาโท เพื่อมาจัดทำรายละเอียดเชิงลึกในกลุ่มชั้นหินน้ำพองและบริเวณภูกระดึง" นายวราวุธกล่าว.