การ เล่น "เฟซบุ๊ก" (เอฟบี) ทั้งวันทั้งคืน.. บางทีมันก็ชวนให้สงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับ "ชีวิตจริง" ของคนๆ นั้นกันแน่ ถึงกับต้องมาสยบยอมหมดเปลืองเวลาใน "โลกแห่งความเป็นจริง" ไปกับสังคมออนไลน์
แน่นอนว่า แต่ละคนย่อมมีเหตุผลในการ "เล่น" หรือ "ใช้" เฟซบุ๊ก แตกต่างกันไป
ใน แง่มุมดีๆ ก็มีอยู่มาก เช่น เอาไว้ใช้ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ เล่นเกมแก้เครียด หรือเป็นแหล่งค้นหาเพื่อนเก่า-แหล่งเชื่อมสัมพันธ์กับมิตรสหาย
แต่ ล่าสุด ผลวิจัยทางจิตวิทยาของผู้เชี่ยวชาญจากแผนกจิตวิทยา มหาวิทยาลัยยอร์ก นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา นำโดยโซรายา เมห์ดิซาดีห์ ระบุว่า
ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบางกลุ่มมีอาการเข้าข่ายจัดอยู่ในกลุ่ม "หลงตัวเอง" "หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง" หรือ "ชอบโอ้อวดตัวเอง" มากผิดปกติ
ศัพท์วิชาการเรียกอาการดังกล่าว ว่า "Narcissism" (นาร์ซิสซึม)
สมมติฐาน ของโซรายาได้มาจากการทำแบบสอบถาม-ติดตามนักศึกษา 100 คน ซึ่งมีพฤติกรรมแสดงออกถึงอาการ "Narcissism" ในเฟซบุ๊ก และได้ข้อสรุปเบื้องต้น ว่า
1. กลุ่มนักศึกษาที่เข้าข่าย "Narcissism" นั้นในหัวข้อบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง (about me) จะพยายามเขียนข้อความประกาศตัวให้โลกรู้ว่า "ข้านี้ฉลาดที่สุดในโลก" ส่วนการโชว์รูปภาพ จะเน้นเลือกโชว์มุมดีที่สุด หล่อที่สุด สวยที่สุด ไม่เน้นตลก สนุกสนาน หรือแสดงความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน
2. วัตถุประสงค์การใช้เฟซบุ๊ก จะทำเพื่อโปรโมตตัวเองว่ามีคุณสมบัติเหนือกว่าบุคคลอื่น และมักแสดงออกในแง่มุมที่ "ตื้นเขิน" หลงอยู่กับวัตถุหรือรูปลักษณ์ภายนอก
3. ผู้หญิงที่เข้าข่าย "Narcissism" จะชอบโพสต์อวด "รูป" ที่เปิดเผยเนื้อหนังมังสา
4. ส่วนผู้ชาย มักใช้วิธีเขียน "ข้อความ" เพื่อแสดงความฉลาด
5. ทั้งชาย-หญิงที่มีอาการ "Narcissism" จะใช้เวลาอยู่ในโลกเฟซบุ๊กนานกว่าคนทั่วๆ ไป หรือคนที่มีอาการเดียวกันนี้ แต่ยังไม่หลงตัวเองหนักหนามากนัก
ในทางจิตเวช "Narcissism" เป็นอาการที่ต้องเข้ารับการบำบัด