สร้างชาติด้วยฟุตบอล สร้างฟุตบอลด้วยชาติ






ชาวเยอรมันตะวันตกทั้งชาติกำลังฟื้นฟูขวัญกำลังใจจากสงครามโลกครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านไปได้เพียงสิบปี ทีมชาติเยอรมันตะวันตกเข้าร่วมฟุตบอลโลก 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์โดยที่ไม่ได้เป็นตัวเก็ง ซ้ำยังแพ้ในรอบแรกให้กับเยอรมันตะวันออกที่ต่ำชั้นฟุตบอลกว่าและเผชิญหน้ากันทางการเมืองอยู่ แต่แล้วก็ฝ่าฟันผ่านเข้าไปนัดชิงชนะเลิศพบฮังการีที่เป็นเต็ง1 และชนะคว้าแชมป์บอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้

มีบทความวิเคราะห์หลายชิ้นและความเห็นจากหลายคนถึงกับสรุปว่า ถ้วยจูลส์ริเม่ต์ที่มาอยู่ในเยอรมัน 4 ปีนั้นมีส่วนสำคัญช่วยให้คนในชาติเป็นหนึ่งเดียว มีแรงใจฟื้นฟูชาติหลังสงครามจนมาเป็นยักษ์อุตสาหกรรมอย่างในทุกวันนี้ได้

1958 ที่สวีเดน และ 1962 ที่ชิลี “ฟุตบอลรสกาแฟ”

ทีมชาติบราซิลผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจลูกหนังโลกพร้อมขายลีลาเฉพาะตัวนักเตะที่เร้าใจอย่างเปเล่วัย 17 และรุ่นพี่ๆ ในทีม หลังจากนั้นฟุตบอลก็กลายมาเป็น “สินค้าออก” อีกอย่างของบราซิลนอกจากกาแฟ และบราซิลก็ยังคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกอีก 3 ครั้งหลังจากนี้คือ 1970 1994 และ 2002 มากครั้งที่สุดในโลก

ฟุตบอลในที่นี้ไม่ใช่ลูกฟุตบอลแต่เป็นเหล่านักเตะที่ไปค้าแข้งในยุโรปที่ค่าแรงดีกว่ามาก และแมตช์การแข่งขันในประเทศที่ได้รับความสนใจชมจากฝั่งยุโรปขึ้นมาก

1966 ที่อังกฤษ “เปิดยุคบอลอังกฤษดังทั่วโลก”

อังกฤษเป็นทั้งเจ้าภาพและแชมป์โลกด้วยลีลาการเล่นแบบอังกฤษแท้ๆ ที่เร็วจัด ทุ่มเท เน้นโยนยาวแม่นยำ ต่างจากชาติยุโรปที่สุขุมเต็มไปด้วยแผนการ และอเมริกาใต้อย่างบราซิลที่โชว์ลีลาเฉพาะตัว

และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์เป็นสีจากเดิมที่ขาวดำ และส่งไปในหลากหลายประเทศขึ้นมาก ทำให้ฟุตบอลอังกฤษโด่งดังขึ้นมากนับแต่นั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

1974 ที่เยอรมันตะวันตก “เปิดตัวอัศวินสีส้ม”

ทีมชาติฮอลแลนด์แจ้งเกิดในวงการฟุตบอลด้วยนวัตกรรมใหม่ “Total Football” ที่เป็นต้นแบบของฟุตบอลสมัยใหม่มาถึงปัจจุบัน ที่นักฟุตบอลตำแหน่งต่างๆ วิ่งแลกที่กันได้ตลอดตามรูปเกม

เหล่านักเตะเสื้อแถบส้ม ผมบลอนด์ยาว วิ่งกันพล่านทั่วสนามอย่างน่าละลานตา พาทีมที่เป็นแค่น้องใหม่บอลโลกไปได้ถึงชิงชนะเลิศกับเจ้าภาพเยอรมันตะวันตกก่อนจะแพ้ไปอย่างสูสีได้ใจคน และหลังจากนั้นมาฮอลแลนด์ก็กลายเป็นทีมชั้นนำของยุโรปและโลกตลอดมา

ฟร้านซ์ เบ๊คเค่นบาวร์ หลังจากซื้อใจชาวเยอรมันด้วยภาพแขนหักแต่ยังใช้ผ้ารัดแขนติดกับตัวสู้อิตาลีก่อนตกรอบไปเมื่อ 1970 กัปตันทีมชาติเยอรมนียุคนั้นก็ได้ฉายแววนักสู้ผู้นำทีมสู่แชมป์โลก 1974 ออกมาอย่างสุดๆ เปิดเส้นทางอนาคตให้ก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการทีมชาติ ประธานสโมสรบาเยิร์นมิวนิค และประธานจัดฟุตบอลโลก 2006 ในครั้งนี้

1990 ที่อิตาลี “คลื่นลูกใหญ่จากกาฬทวีป”

ทีมชาติที่ไม่เคยมีชื่อเสียงในวงการอย่างคาเมรูน กลับเข้าได้ถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายก่อนจะแพ้อังกฤษไปอย่างสุดสูสี พร้อมด้วยลีลาและท่าเต้นเร้าใจของเสือเฒ่าวัยสี่สิบอย่างโรเจอร์มิลล่าและลูกทีม ถึงกับทำให้โควต้าชาติจากแอฟริกาในฟุตบอลโลกได้เพิ่ม และนักฟุตบอลจากแอฟริกาก็เป็นสินค้าออกสำคัญถูกซื้อตัวมาเล่นในยุโรปเพิ่มขึ้นมากจนถึงปัจจุบัน

และยุคทองบอลแอฟริกาที่คาเมรูนเปิดขึ้นนี้ก็ส่งผลถึงการที่แอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งหน้าคือ 2010 นี่เอง

1994 ที่สหรัฐอเมริกา “เปิดตลาดใหม่”

ประเทศที่มีประชากรพอๆ กับยุโรปทั้งทวีป แต่คนดู “ซอคเกอร์ (soccer)” ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คำว่าฟุตบอลหมายถึงอเมริกันฟุตบอลเท่านั้น เมื่อดูหน้ากีฬาก็มีแต่ NFL, NBA อเมริกาก่อนปี 1994 เป็นเขตปลอดอิทธิพลของฟีฟ่าอย่างสิ้นเชิง แล้วฟีฟ่าจะยอมได้อย่างไร?

ก่อนหน้านั้นมหกรรมบอลโลกต้องจัดในชาติที่คลั่งไคล้เพื่อรับประกันเรตติ้ง รายได้ค่าตั๋ว ค่าโฆษณาและอื่นๆ มากมาย แต่ครั้งนี้ฟีฟ่าฉีกตำราเดิมบุกแดนสนธยามอบให้อเมริกาจัดบอลโลกท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างแคลงใจจากหลายๆ ฝ่าย

ผลคือ นี่เป็นบอลโลกที่มีผู้เข้าชมในสนาม (ที่ปรับจากสนามอเมริกันฟุตบอล) มากที่สุดครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้น USA Major League ก็มาลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมลีกหนึ่งในโลก ฟีฟ่าเปิดตลาดใหม่สำเร็จแล้ว

ครั้งนี้ยังเป็นเป็นจุดเริ่มสำคัญของชาติอาหรับตะวันออกกลาง จากที่ซาอุดีอาระเบียผ่านรอบแรก ทำให้หลายประเทศในตะวันออกกลางมาสนใจฟุตบอลมากขึ้น นักเตะโชว์ฟอร์มดีกลายเป็นสินค้าส่งออกชนิดใหม่แห่เข้าค้าแข้งในยุโรป เช่น ซาอิด โอไวรัน จากซาอุดีอาระเบีย, อาลี เดอี, มาดาวิเกีย จากอิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ทุ่มสร้างสนามฟุตบอลขนาดใหญ่หลายแห่งหลังจากฟุตบอลโลกครั้งนั้น

1998 ที่ฝรั่งเศส “ยุคของน้ำหอม”

ก่อนปี 1998 มีนักเตะฝรั่งเศสดังๆ บางคนเท่านั้นที่ไปค้าแข้งนอกประเทศ แต่หลังฟุตบอลโลกครั้งนี้ลีกดังต่างๆ ทั้งพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ บุนเดสลีกาจากเยอรมัน ต่างแย่งกันดึงนักเตะฝรั่งเศสไปมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รวมไปถึงโค้ชฝรั่งเศสก็ขายดีอย่างอาแซน เวงเกอร์, เชราด์ อุลลิเย่ร์ เป็นต้น

2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น “J-K Trend”

หลังจากสงครามแย่งชิงความเป็นเจ้าภาพยาวนาน ฟีฟ่าก็ตัดปัญหาโดยการให้เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วม เป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกในเอเชีย เบื้องหลังข่าวความร่วมมือก็มีข่าวความขัดแย้งออกมาตลอด พิธีเปิดจัดประเทศหนึ่ง นัดชิงอีกประเทศหนึ่ง อย่างไม่มีใครยอมใคร การตัดสินของกรรมการก็ยังถูกครหามากที่สุดครั้งหนึ่งว่าลำเอียงเข้าข้างเกาหลีใต้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังมหกรรมหยุดโลกนี้ผ่านไป เกาหลีใต้ส่งออกทางวัฒนธรรมได้มากขึ้นอย่างมหาศาล และแน่นอนนักฟุตบอลเกาหลีใต้ก็ไปเล่นในยุโรปเพิ่มขึ้นมาก แต่โดยรวมสำรับญี่ปุ่นกับการตกรอบแรกแล้ว ถือว่าทำ “กำไร” จากบอลโลกหนนี้ได้น้อยกว่าเกาหลีใต้อย่างชัดเจน


Read more: http://www.positioningmag.com/Magazine/Details.aspx?id=48996#ixzz0y7rK5nDu
Under Creative Commons License: Attribution Non-Commercial No Derivatives

Credit: thailandsusu.com
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...