ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ระบบภายในร่างกายของเรามีมากมาย ซึ่งล้วนทำงานเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น รวมทั้งระบบ "ต่อมไร้ท่อ" ที่มีความสำคัญในการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน
อย่างเช่นเรื่องราวของ "ต่อมพาราไทรอยด์" ที่เราจะนำเสนอในวันนี้ หลายคนเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่รู้จักหน้าที่และความสำคัญของ "ต่อมพาราไทรอยด์" วันนี้เรามีเรื่องนี้มาบอกกัน
รู้จัก ต่อมพาราไทรอยด์
ต่อมพาราไทรอยด์ หรือ Parathyroid Glands เป็นต่อมไร้ท่อประเภทที่จำเป็นต่อชีวิต (Essentail endocrine gland) ขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วเขียว ฝังอยู่ด้านหลังของต่อมไทรอยด์ด้านละ 2 ต่อม รวมเป็น 4 ต่อม ทำหน้าที่ผลิต และหลั่งฮอร์โมน "พาราทอร์โมน" (Parathormone) ซึ่งเป็นสารพอลิเพปไทด์ ประกอบด้วยกรดอะมิโน 84 โมเลกุล ทำหน้าที่ร่วมกับแคลซิโทนิน และวิตามินดี
หน้าที่ของต่อมพาราไทรอยด์
แน่นอนว่า ต่อมพาราไทรอยด์ มีหน้าที่ผลิตพาราทอร์โมน (PTH) หรือ พาราไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของแคลเซียม และฟอสฟอรัส ในเลือด และเนื้อเยื่อให้ปกติ โดยทำงานร่วมกับวิตามินซี วิตามินดี และแคลซิโทนินซึ่งผลิตจากต่อมไทรอยด์ โดยหน้าที่สำคัญประกอบไปด้วย
กระตุ้นการสร้างเซลล์ osteoclasts ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก โดยวิตามินดีจะรวมกับพาราทอร์โมน ช่วยสลายแคลเซียมออกจากกระดูก เพื่อรักษาระดับปกติของแคลเซียมในเลือด
เพิ่มการดูดแคลเซียมกลับจากท่อหน่วยไตเข้าสู่เลือด ทำให้การขับถ่ายแคลเซียมไปกับปัสสาวะลดลง และมีระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น
กระตุ้นให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้มีการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น
กระตุ้นการขับฟอสเฟตออกไปกับปัสสาวะ
การรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด
การทำงานของต่อมไทรอยด์ และพาราไทรอยด์จะทำงานร่วมกัน เพื่อควบคุมสมดุลของปริมาณแคลเซียมในเลือด โดย
ถ้าแคลเซียมในเลือดสูง จะกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนแคลซิโทนิน เพื่อลดระดับแคลเซียม
ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำ จะกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์หลั่งพาราทอร์โมน เพื่อเพิ่มระดับแคลเซียม
โรคที่เกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ผิดปกติ
ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ มีทั้งที่ทำงานมากและทำงานน้อยผิดปกติ ซึ่งที่พบบ่อยคือพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ รวมทั้งอาการต่อมพาราไทรอยด์โตด้วย
1.ไฮเปอร์พาราไทรอยด์ (Hyperparathyroidism)
เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนสูงผิดปกติ โดยไปกระตุ้นให้มีการละลายแคลเซียมและฟอสเฟตออกจากกระดูกและฟัน แล้วเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าปกติ ทำให้แคลเซียมสูง (Hypercalcimia) แต่ฟอสเฟตต่ำ (Hypophosphatemia) ดังนั้นจึงมีแคลเซียมปนออกมาในปัสสาวะ การที่แคลเซียมที่ถูกดึงออกมาจากกระดูกและฟัน จะทำให้กระดูกเปราะบาง ฟันผุุ ฟันหักได้ง่าย อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เปลี้ย ประสาทตอบสนองได้น้อย และอาจเกิดการสะสมแคลเซียมที่ไตมากเกินไป จนทำให้เป็นนิ่วในไตได้
นอกจากนี้ภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ อาจเกิดได้จากเนื้องอกที่ต่อมพาราไทรอยด์ และต่อมพาราไทรอยด์โตขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม เนื้องอกนี้มักเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งกรณีนี้มักมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่ตับอ่อน หรือแม้แต่มะเร็งไทรอยด์ แต่เนื้องอกนี้มักไม่ใช่เนื้อร้าย และมีคนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์
2.ไฮโปพาราไทรอยด์ (Hypoparathyroidism)
เป็นภาวะที่มีการหลั่งพาราทอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ มักเกิดจากการตัดต่อมไทรอยด์ และตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกด้วย ส่งผลให้การดูดแคลเซียมกลับที่ท่อหน่วยไตลดน้อยลง แคลเซียมสูญเสียออกไปกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง ฟอสเฟตสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อมีบาดแผลจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด ระบบประสาทและกล้ามเนื้อไวต่อสิ่งเร้า มีอาการชาตามมือตามเท้า เป็นตะคริว ชักกระตุก กล้ามเนื้อเกร็งที่เรียกว่า Tetany หรืออาจถึงขั้นปอดทำงานไม่ได้ จนเสียชีวิตได้
เราสามารถทดสอบได้ว่า เราขาดแคลเซียมหรือไม่ โดยใช้เครื่องวัดความดันรัดแขน จนเกิดความดัน เพื่อบีบเส้นเลือดให้ตีบ เมื่อกล้ามเนื้อขาดแคลเซียมไปเสี้ยงจะเกิดอาการเกร็ง มือกระตุกงอ (carpal spasm) ภายใน 3 นาที เรียกอาการนี้ว่า อาการของทรูโซ (Trousseau's sign)
ทั้งนี้ สามารถแก้ความผิดปกตินี้ได้ด้วยการลดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ๆ และเสริมแคลเซียม หรือวิตามินดีเข้าสู่ร่างกาย หรือฉีด "พาราทอร์โมน" และให้วิตามินดีควบคู่กันไปด้วย เพราะวิตามินดี จะช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็กให้ดีขึ้น ทำให้พาราทอร์โมนทำงานได้ดีขึ้น
3.ต่อมพาราไทรอยด์โต
เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ได้รับการฟอกไตอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี และมีสารฟอสฟอรัสคั่งอยู่มาก ต่อมพาราไทรอยด์จึงต้องทำงานหนักและโตขึ้นในที่สุด โดยมีโอกาสเป็นเนื้องอกในต่อมเดี่ยว 85 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสเป็นทั้ง 4 ต่อม 15 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์นี้ จะไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นในช่วงแรก แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพ คือตรวจพบว่ามีระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระดับแคลเซียมที่สูงผิดปกติ อาจไม่ได้หมายถึงโรคจากต่อมพาราไทรอยด์ก็เป็นได้ เพราะยังมีอีกหลายโรค เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งส่งผลต่อระดับแคลเซียมให้กระแสเลือดได้เช่นกัน
ดังนั้นเราต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับต่อมพาราไทรอยด์ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ควรเฝ้าระวังโรคต่อมพาราไทรอยด์มากเป็นพิเศษ เพราะต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่สำคัญต่อร่างกาย หากเกิดความผิดปกติกับต่อมพาราไทรอยด์แล้ว มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้มากทีเดียว