นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า โรงภาพยนตร์จำนวน 310 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติ่ม โดยพ.ร.บ.ควบคุมอาการ พ.ศ.2543 ซึ่งผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอาคารและส่งให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน นอกจากนี้ เรายังมีการสุ่มตรวจทุกสัปดาห์ๆ ละ 10 โรงด้วย
"ส่วนเรื่องโรงเดียว โรงบนห้าง โรงเก่า โรงใหม่นั้น ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องระดับความปลอดภัย เพราะเรามีมาตรฐานจะบอกว่า โรงเดียวปลอดภัยกว่าโรงบนห้างไม่ได้ เพราะทุกโรงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระบบความปลอดภัยและต้องมีใบอนุญาต" นายอุดม กล่าว
เมื่อได้ยินอย่างนี้แล้วก็พอชื่นใจ เราจึงได้ออกปฏิบัติการสำรวจมาตรฐานความปลอดภัยในโรงภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากปฏิบัติการแรก.....
ปฏิบัติการที่ 1 : นับถังดับเพลิง
สืบเนื่องจากข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในโรงภาพยนตร์หรือโรงมหรสพ ระบุให้มีถังดับเพลิงในตำแหน่งต่อไปนี้
- ด้านหลังจอภาพ อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
- ด้านหน้าที่นั่งคนดูแถวหน้าสุด อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
- บริเวณกึ่งกลางที่นั่งคนดู อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
- ด้านหลังที่นั่งคนดูแถวหลังสุด อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
จากข้อกำหนดข้างต้น จึงหมายความว่าจากเก้าอี้ที่นั่งอยู่ คนดูจะต้องมองเห็นถังดับเพลิงอย่างน้อย 6 เครื่องอยู่ในสายตา (ไม่นับอีก 2 เครื่องที่อยู่ด้านหลังจอภาพยนตร์) อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตของอาสาสมัคร พบว่า
1.โรงภาพยนตร์ 15 โรงจากทั้งหมด 20 โรงผ่านเกณฑ์ดังกล่าว โดยบางโรงมีเครื่องดับเพลิงมากถึง 10 เครื่อง เช่น โรงภาพยนตร์สกาล่า เอสพลานาด และเมเจอร์ สำโรง
2.โรงภาพยนตร์ 5 โรง พบเครื่องดับเพลิงเพียง 4 เครื่อง ได้แก่ อีจีวี สาขาซีคอนสแควร์ และเอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนโรงที่มีจำนวน 2 เครื่อง ได้แก่ เอสเอฟ สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และสุดท้ายที่พบว่ามี 1 เครื่อง คือ เอสเอฟ มาบุญครอง
ปฏิบัติการที่ 2 : สืบเรื่องทางออกฉุกเฉิน
สำหรับทางออกฉุกเฉินนั้น เราได้ให้อาสาสมัครไปสังเกตสถานที่และสอบถามข้อมูลกับพนักงาน ในส่วนของการสังเกตพบว่า อาสาสมัครสามารถมองเห็นป้ายทางออกฉุกเฉินได้อย่างชัดเจนทุกโรง ยกเว้นที่เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์ และเมื่อเราสอบถามพนักงานโรงภาพยนตร์เกี่ยวกับกรณีถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน เราได้คำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้
- คำตอบที่น่าฟัง
"จะมีพนักงานเปิดประตูทางออกทุกประตูที่มีอยู่ แล้วให้ผู้ชมลงตามบันไดฉุกเฉิน ซึ่งจะมีอยู่หลังประตูฉุกเฉิน มีการซ้อมเดือนละ 2 ครั้ง" คำตอบจากพนักงานโรงภาพยนตร์พารากอน
"ใช้เครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ในโรง นำคนออกและเรียกหน่วยอาคารมาจัดการต่อไป" พนักงานโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่
- คำตอบที่พอรับได้
"มีทางออกหลายทางและมีการบอกให้พนักงานทราบทั่วกัน แต่ไม่เคยมีการซ้อมหนีไฟให้พนักงาน" พนักงานโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รัชโยธิน
"พนักงานจะมาแจ้งผู้ชม แล้วให้ค่อยๆ ทยอยออก โดยจะเปิดประตูหมดทุกบาน" พนักงานโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์
"เปิดประตูแจ้งลูกค้าให้อยู่ในความสงบ ชี้ทางออกก่อนลำเลียงไปยังที่ปลอดภัย" พนักงานโรงภาพยนตร์เอสพลานาด
- คำตอบที่ฟังแล้วงง
"ไม่ทราบ ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีการฝึกซ้อมหนีไฟ" พนักงานโรงภาพยนตร์ อีจีวี สาขารังสิต
"มีทางหนีไฟ" พนักงานโรงภาพยนตร์เอสเอฟ มาบุญครอง และเมเจอร์ บางกะปิ
เราสามารถสรุปได้ว่า อาสาสมัครเห็นว่าไม่มีโรงภาพยนตร์ใดสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือวิธีปฏิบัติในยามฉุกเฉิน แต่ตามข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยนั้น แต่ละโรงต้องมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลเราในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน 1 คนต่อ 1 โรง
เสียงจากผู้บริโภค
- เรื่องความปลอดภัยของโรงภาพยนตร์
ร้อยละ 69.1 เห็นว่าควรมีเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำได้หากมีเหตุฉุกเฉิน
ร้อยละ 68.5 ต้องการทางหนีไฟที่กว้าง ไม่วกวนและไม่มืดเกินไป
ร้อยละ 55.1 หวังให้มีการฝึกซ้อมพนักงาน เพื่อรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ร้อยละ 48.3 หวังให้มีถังดับเพลิงอยู่ประจำจุดเสี่ยงภัย และมีการดูแลรักษาให้ใช้งานได้ตลอดเวลส
ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยกับการฉายวิดีทัศน์ให้ความรู้ เรื่องทางหนีไฟและการปฏิบัติตนในยามฉุกเฉิน แทนการเปิดโฆษณา
- เครื่องความสะดวกในการใช้บริการ
ร้อยละ 71.0 คาดหวังการซื้อตั๋วที่สะดวก รวดเร็ว และไม่ถูกรบกวนด้วยการเสนอขายสินค้าอื่น
ร้อยละ 60.7 เห็นว่าควรมีการตรวจกระเป๋าก่อนเข้าโรง
ร้อยละ 59.6 เห็นว่าควรมีจุดบริการลูกค้า เช่น กรณีตั๋วหาย ของหาย หรือซื้อตั๋วผิด
ร้อยละ 47.7 คาดหวังบริการรักษาความปลอดภัย ที่ไม่รบกวนคนดูมากเกินไป
ร้อยละ 43.7 ควรหน้านำอาหารจากภายนอก เข้าไปรับประทานในโรงภาพยนตร์