จุดเริ่มของ Mario ที่โด่งดัง !!

ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นของตำนาน
       
        ถ้าย้อนวันเวลาไปเมื่อ 20 ปีก่อน ถ้าพูดถึงเกมอันดับ 1 ในตอนนั้นคงหนีไม่พ้น ช่างประปาตัวอ้วนกลมอย่าง “มาริโอ” แน่นอน แต่ในตอนนี้ถ้าพูดถึงเกมฮิตอันดับต้นๆ คงนึกถึงตัวละครหน้าโหดๆ หรือเกมที่ไล่ฆ่ากัน ชื่อ “มาริโอ” ดูเหมือนจะเป็นวัตถุโบราณที่ดูเป็นเกมเฉพาะกลุ่มเด็ก และไม่น่าสนใจอีกต่อไป ทั้งๆที่คุณภาพของตัวเกมในทุกๆภาคไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย
       
        แต่การมาของ “ซูเปอร์ มาริโอ กาแล็กซี่” คราวนี้มาริโอมาพร้อมกับเครื่องเกมที่ร้อนแรงที่สุดในรอบปี อย่าง “นินเทนโด วี” พร้อมทั้งอาวุธใหม่อย่าง “แท่งหรรษา” หรือ “วี รีโมต” ดังนั้นการกลับมาของมาริโอคราวนี้ จึงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน และเพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาของมาริโอ วันนี้เราจะมาลองย้อนเวลาไปดูความเป็นมาของ เกมที่ถือว่าเป็นตำนานบทหนึ่งของวงการเกม

ยุคแรกเริ่ม
       
       มาริโอถือกำเนิดมาดูโลกครั้งแรกในชื่อเล่นว่า “Jump Man” โดยมีคุณพ่อใจดีนามว่า “ชิเงรุ มิยาโมโตะ” เป็นผู้ให้กำเนิด ว่ากันว่าจุดกำเนิดของมาริโอมาจากการที่วัยเด็กของมิยาโมโตะที่ชอบออกไปผจญ ภัยในทุ่งกว้าง โดยมาริโอเริ่มผจญภัยครั้งแรกด้วยการปีนตึกไปปราบลิงยักษ์ใน ดองกี้คองในปี 1981 จนไปถึงมุดท่อไปปราบศัตรู ใน “มาริโอ บราเธอร์” ในปี 1983 ต่อมามุดท่อไปมุดท่อมา มาโผล่ในอาณาจักรเห็ด จนมาเป็น “ซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์” หรือที่คนไทยเรียก “มาริโอ 1” ในปี 1985 ที่สร้างปรากฏการณ์ ไปทั่วโลกแม้แต่ในไทย

          ในช่วงนั้นมาริโอก็เป็นที่ฮือฮา จนเป็นข่าวผ่านดาวเทียม ซึ่งในยุคนั้นยากมากที่วิดีโอเกม จะเป็นข่าวออกทีวี โดยตัวเกมที่ถือว่ามีอะไรมากกว่าเกมในสมัยนั้นที่มีแต่เกมแก้ปริศนาที่ง่ายๆ และตัวเกมที่เล่นไม่นานก็จบ โดยมาริโอได้สร้างมาตรฐานใหม่ ให้กับวงการเกม ด้วยการมีด่าน(เวิลด์)ที่มากถึง 8 ด่าน แถมมี เอเรียอีก 4 และศัตรูที่หลากหลายกว่า และเนื้อหาที่ว่าด้วย “คุปป้า”(Bowser ชื่อเวอร์ชั่น US) ลักพาตัวเจ้าหญิงพีช แล้วมาริโอต้องตามไปช่วย(จนปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้)
         
        ส่วนที่ทำให้เกมน่าจดจำมากคือ ระบบการควบคุมบังคับที่ลื่นไหลกว่าเกมในยุคนั้นมาก โดยเฉพาะการกระโดดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมาริโอมาทุกภาค รวมทั้งไอเทมสุดคลาสสิก ทั้งเห็ด, ดอกไม้ไฟ,เหรียญทอง,เห็ด 1 UP และดนตรีประกอบที่ฟังปุ๊บก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงประกอบจากเกมอะไร และด้วยยอดขายรวมกว่า 40 ล้านก๊อปปี้ ทำให้ มาริโอ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งวงการเกมแห่งยุคจริงๆ

       ต่อมาในปี 1986 “ซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์ 2” มาพร้อมกับเกมที่มีความยาวมากขึ้นถึง 9 เวิลด์ แถมด้วยด่านพิเศษอีก แต่ก็มีเสียงบ่นเรื่องระบบเกมและกราฟิกที่ไม่ได้พัฒนาไปจากภาคแรกเท่าไร แต่อย่างไรก็ตาม “มาริโอ 2” ก็ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความสนุกไว้ โดยในภาคนี้ทางฝั่ง US ไม่ได้เล่นแต่มีการทำเกม “อาลาดิน” (Dokidoki panic) ไปเปลี่ยนตัวละครเป็นมาริโอ แล้วนำไปขายในชื่อ “ซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์ 2” ไปขายแทน(ออกในปี 1988) แต่ชาวมะกันได้สัมผัส มาริโอ 2 ของแท้ใน เกมรวมฮิตซูเปอร์ มาริโอ ออล สตาร์ ในชื่อ “ซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์ 2 เดอะ ลอสต์ เลเวล” ในปี 1993 ด้วยความสำเร็จอย่างถล่มทลายของมาริโอนี่เองที่ส่งผลให้นินเทนโด และเครื่องฟามิคอมก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์1ของวงการเกมได้

มาริโอภาคที่ดีที่สุด
       
       ในปี 1988 มาริโอ กลับมาอีกครั้ง ใน “ซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์ 3” พร้อมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยกราฟิกที่สวยงามกว่าภาคก่อนมาก ลูกเล่นและไอเทมที่มีมาให้มากมายจนนับไม่ถ้วน เช่นระบบแผนที่ ที่ทำให้โลกของมาริโอเปิดกว้างกว่าภาคก่อนมาก เพราะสามารถเลือกเส้นทางได้ และเอเรียก็มีเพิ่มขึ้นกว่าเดิม พร้อมด้วยระบบกระเป๋าเก็บสะสมไอเทมที่ได้มา จนไปถึงชุดที่มาริโอสวมใส่แล้วจะมีความสามารถพิเศษ เช่น ชุดกบที่ว่ายน้ำ ชุดแฮมเมอร์ ที่ทำให้มาริโอขว้างค้อนได้ และยังถือเป็นภาคแรกที่มาริโอบินได้อีกด้วยใบไม้ หรือคนไทยเรียกว่า “มาริโอมีหาง” เกมนี้ถ้าใครเกิดทันคงจะจำได้ว่าเป็นที่ฮือฮาเป็นอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าสำหรับใครหลายคน ซูเปอร์ มาริโอ บราเธอร์ 3 จะเป็นมาริโอภาคที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนถึงปัจจุบันนี้ มาริโอ 3 ยังคงถือว่าเป็นมาริโอภาคที่ดีที่สุด จากผลโหวตจากหลายสำนัก ต้องมีเกม มาริโอ 3 ติดอันดับอยู่เสมอ

จากทีวีสู่มือถือ
       
       ในเมื่อมาริโอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของนินเทนโดไปแล้วการเปิดตัวของ “เกมบอย” เครื่องเกมมือถือของปู่นินในปี 1989 มาริโอ จึงไม่พลาดที่จะมาเป็นพระเอกในงานนี้ด้วย ในชื่อ “ซูเปอร์ มาริโอ แลนด์” โดยในภาคนี้ถือว่าเป็นการเปิดตัว “เจ้าหญิงเดซี่” ที่มาแทนเจ้าหญิงพีช (เฉพาะในภาคนี้) แถมด้วยเป็นภาคแรกที่มีด่านที่มาริโอต้องขับยานทั้งเครื่องบิน และเรือดำน้ำ เพื่อเล่นในด่านชูตติ้ง ที่แม้ตัวเกมจะง่ายและสั้นไปหน่อย แต่ยังคงความสนุกของมาริโอไว้อย่างครบถ้วน (ในซีรีส์ มาริโอ แลนด์ มีภาคต่อมาอีก 2 ภาคในปี 1992 และในปี 1994 ได้ออกภาค 3 ที่มี วาริโอเป็นตัวเอก) ซูเปอร์ มาริโอ แลนด์ ก็ประสบความสำเร็จตามคาด ด้วยยอดขายมากกว่า 18 ล้านก๊อปปี้ และยังถือเป็นมาริโอภาคแรกที่ไม่ได้ถูกสร้างโดย “ชิเงรุ มิยาโมโต้” อีกด้วย ภาคนี้สร้างโดย “Gunpei Yokoi” บิดาแห่งเกมบอย ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี 1997


ตอนที่ 2 ยุคทองของมาริโอ
       
สู่ยุค 16 บิต
       
       หลังจากโลดแล่นบนเครื่อง 8 บิตมา 3 ภาค ก็ได้เวลาที่มาริโอจะอัปเกรดสู่ยุคเครื่อง 16 บิตเสียที ในปี 1990 นินเทนโดเปิดตัวเครื่อง “ซูเปอร์แฟมิคอม” เครื่องคอนโซลเครื่องที่ 2 ของนินเทนโด และแน่นอนเกมเปิดตัวก็ต้องเป็นหน้าที่ของ “ลุงหนวด” อีกครั้งใน “ซูเปอร์ มาริโอ เวิลด์” คราวนี้มาในมาดอัศวินขี่มังกรน้อยน่ารักอย่าง “โยชิ” ที่มาพร้อมกระเพาะเหล็กและกินได้เกือบทุกอย่าง ควงคู่กันออกปราบปรามเจ้าคุปป้าอีกครั้ง ด้วยระบบแผนที่ของมาริโอ 3 ที่ถูกพัฒนาให้มีมิติมากขึ้นและสามารถเข้าด่านเดิมซ้ำเพื่อแก้ปริศนาเพิ่ม เติมในด่านได้

       ดังนั้น มันย่อมส่งผลให้มีเส้นทางที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งการแก้ปริศนาในบ้านผีสิง และเส้นทางลับมากมาย รวมทั้งเหล่าบรรดาลูกๆของคุปป้าที่มาคราวนี้ไม่ได้จัดการกันง่ายๆ ทั้งการบินแบบนินจาที่พัฒนารูปแบบขึ้น แม้ว่าจะเทียบความสนุกกับ “มาริโอ 3” ไม่ได้ แต่ก็เป็นมาริโอภาคที่มีอะไรให้น่าจดจำอยู่เหมือนกัน และทำยอดขายไปมากกว่า 20 ล้านก๊อปปี๊
       
        ค่อนข้างเป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจาก “ซูเปอร์ มาริโอ เวิลด์” ลุงหนวดของเราก็ปรากฏตัวให้แฟนๆให้ชื่นชมในภาคหลัก แค่เครื่องละภาคเท่านั้น แต่ซูเปอร์ มาริโอ เวิลด์ได้มีการต่อยอดมาเป็นเกม “Yoshi's Island” ในปี 1995 และ “Yoshi's Story”(n64)ในปี 1997 และล่าสุด “Yoshi's Island DS”ในปี2006
   
สู่สนามโกคาร์ต
       
       ในปี 1992 มาริโอได้สร้างความแปลกใจให้กับแฟนๆ ด้วยการโดดลงสู่สนามแข่งรถโกคาร์ตในชื่อ “ซูเปอร์ มาริโอ คาร์ต” ที่มาพร้อมกับเหล่าผองเพื่อนแบบขนกันมาครบทีม พร้อมกับบรรยากาศของอาณาจักรเห็ดมาเป็นฉากหลัง และที่ขาดไม่ได้ก็คือไอเทมประจำเกมตระกูลมาริโอ อาทิ เห็ด ,กระดองเต่า และดาวไว้ทั้งช่วยเหลือหรือไว้แกล้งกัน ที่ทำให้เกม “ซูเปอร์ มาริโอ คาร์ต” แตกต่างจากเกมรถแข่งทั่วไป และเป็นเอกลักษณ์ให้เกมอื่นเอาไปเลียนแบบอีกหลายเกม

        นอกจากโหมดแข่งรถแล้ว ยังมีโหมด Battle โดยต้องแข่งกันยิงลูกโป่งของคู่แข่งให้หมด ที่ทั้งมันทั้งฮา ยิ่งถ้าได้เล่นกับเพื่อนๆ รับประกันความสนุกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า “มาริโอ คาร์ต” จึงเป็นหนึ่งในเกมที่ยอดนิยมเล่นตามร้านเกมหรือเล่นในงานปาร์ตี้ในยุคนั้น ดังนั้นการมาสู่สนามแข่งในครั้งนี้ มาริโอก็พาเกมให้ลอยลำจนยอดขายทะลุ 8 ล้านก๊อปปี๊ไปได้ทั้งๆที่ไม่ใช่ซีรีส์หลัก และมีภาคต่อมาอีกถึง 4 ภาค แถมด้วยภาคเกมตู้อีก 2 ภาค ทุกภาคล้วนประสบความสำเร็จและเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่มีประจำการณ์บนเครื่อง ของนินเทนโดทุกเครื่อง ส่งผลให้ยอดขายอยู่ในอันดับต้นๆของเครื่องนั้นเสมอ

การรวมตัวกันของ 2 ยอดฝีมือ
       
       ต่อมาในปี 1996 เกิดปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ในวงการเกม เมื่อบิดาแห่งมาริโอ “ชิเงรุ มิยาโมโตะ” กับบิดาแห่งไฟนอล แฟนตาซี “ฮิโรโนบุ ซากางุจิ” จับมือกันสร้างเกม RPG ที่มีชื่อว่า “ซูเปอร์ มาริโอ อาร์ พี จี” ที่เป็นการหลอมรวมความสนุกในแบบเกมแอ็กชันของมาริโอกับระบบเกมภาษาที่ยอด เยี่ยมของไฟนอล แฟนตาซี รวมเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ด้วยมุมมองแบบมุมเฉียง ที่ดูง่าย และระบบแผนที่ของมาริโอที่แบ่งเป็นเวิลด์และแอเรียเป็นเอกลักษณ์ แต่จุดเด่นจริงๆของเกมอยู่ที่ความเกมแอ็กชันของมาริโอที่มีอยู่ในเกมทั้งใช้ ในการแก้ปริศนาในดันเจี้ยน และฉากต่อสู้ ที่ใช้การกดปุ่มให้เข้าจังหวะในรูปแบบต่างๆที่สนุกและเข้ากับระบบของเกม RPG ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

        ส่วนเนื้อเรื่องก็มีความสดและแปลกใหม่เพราะ นี่คือครั้งแรกในการร่วมมือกันระหว่าง มาริโอและคุปป้า เพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ร้ายกาจกว่า ในด้านกราฟิกก็เป็นโพลิกอนในยุคแรกๆที่สวยงาม และลื่นไหล และจากจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกมแตกหน่อมาเป็นเกมอีก 2 ตระกูล คือ Mario & Luigi กับ Paper Mario ที่ออกภาคต่อมาอีกหลายภาค
       
        ในยุคซูเปอร์แฟมิคอม แม้จะมีมาริโอภาคหลักเพียงแค่ภาคเดียว แต่ได้แตกออกมาเป็นภาคย่อยหรือภาคเสริม ทั้งแนวกีฬาและเกมภาษา จึงนับเป็นยุคทองของมาริโอ และนินเทนโดอีกครั้ง ส่งผลให้ซูเปอร์แฟมิคอมสานต่อความสำเร็จจากแฟมิคอมจนได้เป็นแชมป์เครื่องเกม คอนโซลสมัยที่สอง
   
จุดเปลี่ยนแห่งวงการเกม
       
       หลังจากจูบปากกับสแควร์ ทำเกม “ซูเปอร์ มาริโอ อาร์ พี จี” จนใครๆต่างก็คิดว่า ค่ายเกมทั้ง 2 นี้คงเหมือนปลาท่องโก๋ที่ขาดกันไม่ได้ในวงการเกม จนกระทั้งนินเทนโดได้ประกาศโครงการ เครื่องเกมยุคต่อไปของตน นั้นก็คือเครื่อง อัลตร้า64 (ชื่อแรกของเครื่องนินเทนโด 64 ) ที่เน้นไปที่การสร้างภาพ 3 มิติ และยังคงใช้ตลับเกมเหมือนเดิม ในตอนแรกทางสแควร์เองก็ได้สร้างเดโม “ไฟนอล แฟนตาซี 6” ในรูปแบบ 3 มิติสำหรับเครื่องอัลตร้า64 เพื่อเป็นต้นแบบของไฟนอลภาคต่อไปบนเครื่องของปู่นิน แต่แล้วจุดเปลี่ยนของวงการเกมก็เกิดขึ้น
   
       การมาของ “โซนี่” ที่ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ทุนหนาแห่งวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าได้โดดเข้าสู่วงการ เกมด้วยเครื่อง “เพลย์สเตชัน” ที่มาพร้อมกับสื่อที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าอย่าง “CD-Rom” รวมทั้งรูปแบบของเกมในยุคนั้น ที่เน้นมูฟวี่หรือโชว์ CG กันมากกว่าการสนใจที่รูปแบบการเล่น เป็นจุดดึงดูดให้ค่ายเกมแทบทุกค่าย หนีไปทำเกมให้โซนี่ ไม่เว้นแม้กระทั้ง “สแควร์” ที่ขนกันไปยกค่าย แถมด้วยการเปิดตัวเกมในตำนานอย่าง “ไฟนอล แฟนตาซี 7” บนเครื่อง “เพลย์สเตชัน” ทำให้การมาของเครื่องเกมยุคถัดไป และมาริโอดูเหมือนเป็นการเดินทางที่ยากลำบากกว่าครั้งเดิม


 

28 ส.ค. 53 เวลา 19:00 3,716 2 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...