เลี้ยงลูกแบบตามใจ.....กลายเป็น พ่อแม่รังแกฉัน

เลิกตามใจลูก ปลูกวินัยวัยเด็ก

           พ่อแม่หลายคนกำลังเผชิญปัญหาลูกไม่ขยันเรียน ไม่ขยันอ่านหนังสือ ทั้ง ๆ ที่หัวดี ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่อยากตื่นนอนไปโรงเรียน ไม่รับผิดชอบในตนเองทั้ง ๆ ที่อายุโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองบางอย่างได้แล้ว พ่อแม่บอกกล่าวอะไรก็ไม่ค่อยเชื่อฟัง ตรงกันข้ามหากเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ลูกตื่นนอนแต่เช้าเพื่อมาดูการ์ตูนได้

 

เวบจิตใจของสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภป์ ให้คำนิยามคำว่า”พ่อแม่รังแกฉัน" ไว้ว่า “ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ทุบตี หรือกระทำทารุณทางกายกับลูก แต่ตามเรื่องที่เล่าต่อกันมา หมายถึง พ่อแม่ที่ตามใจลูก เอาใจลูกมากเกินไป แม้ลูกทำผิดก็ไม่กล้าตักเตือน ไม่กล้าลงโทษให้ลูกเข็ดหลาบ เพราะกลัวลูกจะเจ็บ และคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ลูกจึงมีนิสัยไม่ดี เกะกะเกเร เวลาอยากได้ของของใครก็หยิบเอามาโดยไม่บอกกล่าว เข้าข่ายเป็นขโมย หนักเข้าเมื่อโตขึ้นก็ทำผิดรุนแรงยิ่งขึ้น ถึงขั้นปล้นฆ่าชาวบ้าน เมื่อถูกทางการจับได้ ก็ต้องติดคุกและโดนประหารชีวิต ก่อนตายโจรคนนี้ได้พูดว่า พ่อแม่รังแกฉัน ถ้าพ่อแม่ไม่ตามใจฉันมากเกินไป และอบรมสั่งสอนฉัน ลงโทษฉันเมื่อฉันทำผิดตั้งแต่เด็ก ๆ โตขึ้นฉันคงไม่ถูกทางการลงโทษหนักอย่างนี้หรอก

           ศ.เกียรติคุณ พ.ญ.วัณเพ็ญ บุญประกอบ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและให้คำแนะนำผู้ปกครองไว้อย่างน่าสนใจว่า

           ในสมัยนี้พบปัญหาเหล่านี้บ่อยมากขึ้นทุกที มักจะเกิดกับครอบครัวที่มีลูกคนเดียว หลานคนเดียว หรือถ้ามีมากกว่า 1 คน เด็กก็จะคล้าย ๆ กัน คือ การเลี้ยงดูแบบสบายไม่ค่อยพิถีพิถันเอาจริง เด็กจะไม่ค่อยได้ฝึกทำงาน ฝึกความรับผิดชอบ มักจะได้รับการเอาใจ โดยมากจะไม่ค่อยได้ลำบากต้องต่อสู้อะไร มีความสะดวกสบายเรื่อยมา

           สมัยนี้ยุคไฮเทค เรามีเครื่องผ่อนแรงกันมากและความรวดเร็วหลายอย่าง จนชีวิตประจำวันแทบจะไม่ต้องลงทุนทำอะไร บันไดก็ไม่ต้องเดินขึ้นเพราะมีลิฟต์ เดินก็ไม่ต้องเดินมากอย่างเมื่อก่อนเพราะมีรถ อาหารการกินก็ไม่ต้องทำมากเพราะมีอาหารสำเร็จรูปและปรุงมาให้เสร็จ แม้เครื่องแกงก็มีตำผสมให้เสร็จเพียงละลายน้ำต้มเดือดเท่านั้น หลายครอบครัวไม่ต้องซักผ้าเพราะมีเครื่องซัก ร้อนก็มีเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ เด็กสมัยนี้จึงเติบโตด้วยความสะดวกสบาย อดทนน้อย ไม่ค่อยพยายาม รักสนุกสนานเพลิดเพลิน อะไรที่เป็นเรื่องบันเทิงจะใส่ใจอย่างดี แต่ถ้าเรื่องใช้เวลา ใช้ความพยายามมักจะย่อท้อไม่อดทน

           โทรทัศน์ เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กมีสมาธิไม่ดี เวลาเรียนหนังสือจะทำให้การใส่ใจและอดทนต่อการเรียนการอ่านน้อยลง เพราะการเรียนหนังสือเป็นภาพนิ่ง เป็นสิ่งที่ต้องการสมาธิ ความตั้งใจและความพากเพียรพยายาม เด็กคนใดสนใจโทรทัศน์ การ์ตูน เวลาจะได้ดูจะกระตือรือร้นไม่ต้องปลุกต้องเรียกก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะโทรทัศน์มีภาพ รวดเร็ว ทันใจ มีเรื่องราวตื่นเต้นให้ติดตาม ยิ่งการ์ตูนยิ่งเป็นเรื่องรวดเร็ว ก้าวร้าว และเรื่องราวที่ทำให้ต้องใจจดจ่อ ดูมาก ๆ อาจทำให้รบกวนการเรียน เวลาไม่ดูใจก็ยังครุ่นคิดคำนึงถึงได้

           เล็ก ๆ เด็กยังต้องพึ่งพาพ่อแม่มาก แต่พอเขาโตขึ้นเขาเริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น จึงดูเหมือนจะไม่เชื่อฟังทำตามที่พ่อแม่บอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูที่ใช้วิธีบอกกันมาให้ทำโน่นทำนี่ ในที่สุดเด็กจะไม่คิดด้วยตัวเองหรือคิดไม่เป็นเพราะเคยกับการบอกบท แต่พอโตขึ้นก็ไม่ชอบที่จะทำ ไม่อยากฟังต่อไป แต่ก็ไม่รับผิดชอบ

           หากพ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกสนุกเพลิดเพลินกับกีฬา ดนตรีจนมากเกินไป หรือมีกิจกรรมอื่น ๆ เด็กจะใฝ่ใจทางนั้นจนได้รับรางวัลพิเศษ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีและคุณพ่อคุณแม่คงภูมิใจ เพราะเด็กทุกคนเวลาเขาทำอะไรได้ด้วยตัวเขา เขามีความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ เขาจะภาคภูมิใจและอยากทำต่อ ๆ ไป

           ในทางตรงข้ามถ้าเขามีกิจกรรมพิเศษ อื่น ๆ นอกเหนือการเรียนจนมากเกินไปและประสบความสำเร็จในกิจกรรมนั้น ๆ แล้วเขาเรียนไม่ค่อยดี เขาก็จะไม่อยากเรียน เพราะการเรียนจะต้องอดทนพยายาม ซึ่งต้องมีความนิ่ง ความเอาใจใส่ เขายิ่งจะลำบาก ซึ่งแตกต่างจากทีวี การ์ตูน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ถ้าผลการเรียนไม่ดีได้รับการเคี่ยวเข็ญหรือตักเตือนมาก เขาจะยิ่งเบื่อและไม่ชอบ

           สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยลูกได้หากเผชิญปัญหาข้างต้น คือคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้มแข็งเอาจริงกับการจัดตารางเวลา เวลาใดที่ทำงาน เวลาใดเล่น กิจกรรมทำเป็นตารางสอน ถ้าไม่เสร็จงานก็ลดเวลาเล่นลงไปตามลำดับ ไม่ต้องเดือดร้อนกับอากัปกิริยาและอารมณ์ของเด็ก แต่การจะให้เด็กอ่านหนังสือเรื่อย ๆ ก็จะเบื่อ อาจเป็นการทำด้วยกัน อ่านด้วยกัน ผลัดกันถาม ผลัดกันอ่านให้ฟัง เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน การจัดเวลาและให้ความรับผิดชอบสำคัญมากในเด็กวัยเรียน

           ขณะเดียวกัน ให้เขามีโอกาสตกลงใจร่วมกันด้วย เพื่อเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย จะช่วยลดความรู้สึกที่ฝืนหรือถูกบังคับ ผู้ใหญ่ยังเป็นฝ่ายควบคุมที่เด็กมีโอกาสพัฒนาความคิดเห็นและตกลงใจด้วย

27 ส.ค. 53 เวลา 22:57 13,739 1 54
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...