เป็นเรื่องที่เอามาถกกันได้ไม่มีสิ้นสุดจริงๆ กับความรุนแรงในละครที่มีให้เห็นกันอยู่เกลื่อน ไม่เฉพาะช่องหนึ่งช่องใด แต่กลับกลายเป็นทุกช่อง คล้ายเทรนด์ฮิตติดลมบนไม่มี-ไม่ได้, คล้ายจะไม่อินเทรนด์
แต่ก็ให้นึกสงสัยว่าคนเบื้องหลังทั้งที่นั่ง กำกับฯ และผู้ใหญ่ที่พยักหน้าเห็นชอบนั้น เขาคิดอะไรกันอยู่ และถ้าจับตาดูในช่วงนี้ ละครที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหูคงไม่พ้น ""ไฟรักอสูร"" ของผู้กำกับฯ "พิศาล อัครเศรณี" ที่แพร่ภาพหลังข่าวภาคค่ำทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ทางช่อง 3 ที่มีฉากพระเอกทั้งถีบ ตบ เอาไม้ฟาดหัว แถมยังล่ามโซ่ห้ามไม่ให้หนีไปไหน ฯลฯ ที่หลายคนเห็นแล้วทนไม่ไหว ต้องถามว่าอะไรจะรุนแรง แถมแสดงออกถึงการทำร้ายผู้หญิงขนาดนั้น
"ไม่รู้ทำไมเวลาช่อง 3 ทำละครที่มีฉากตบตีถึงกลายเป็นประเด็นทุกที" "สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายรายการของช่อง 3 บอกเหมือนบ่น
ก่อน จะว่า "กับเรื่องนี้ ถ้าคนดูทำความเข้าใจว่าละครกำลังเสนออะไร ประเด็นรุนแรงที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จะหมดไปเลย อย่างฉากที่ว่าพระเอกฉุดกระชากลากดึง ตะคอกใส่ หรือเอาไปล่ามโซ่ ทุกอย่างมีที่มาที่ไปทั้งนั้น แล้วละครมันเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้ง ละครก็ไม่เกิด"
ขณะเดียวกันช่อง 3 ก็ไม่ได้มีแต่ละครแนวนี้ทั้งหมด ดู "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" เป็นตัวอย่าง จะนำเสนออย่างไรจึงขึ้นอยู่กับแต่ละเนื้อหา แต่ถึงจะว่า-จะว่ากันอย่างนี้ แต่สมรักษ์ยืนยันว่าคนที่ชอบก็มี แถมมากเสียด้วย พิสูจน์ได้จากเรตติ้ง
" พอเจออย่างนี้ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง ได้แต่ยิ้ม ละครรุนแรงแต่ก็มีคนดู เราก็เหมือนน้ำท่วมปาก แต่ยังยืนยันว่าเราทำด้วยความรับผิดชอบ อีกอย่างละครตอนนี้ก็จัดเรต ถ้าคนดูทำตามที่แนะนำ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา"
"พิศาล" เองก็เห็นด้วย
"ขอให้ตามดูจนเห็นผลสรุปที่ตัวละครจะได้รับ ส่วนคนที่ไม่ได้ติดตามตั้งแต่ต้น เพียงเห็นฉากรุนแรงจากการเปิดไปเจอหรือโฆษณา และหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ย้อนไปดูว่าตัวละครต้องเจออะไรมาบ้าง ต้องขอบอกว่าไม่สนใจ ในเมื่อเขาไม่ดูว่ามันมายังไง แล้วจะให้เราไปพูดอธิบายอะไรกับเขาได้อีก"
"แต่ผมก็เข้าใจว่าทุกคนมีมุมมองของตัวเอง บางคนจึงบอกว่าทำแค่นี้ไม่เห็นจะสะใจ แต่บางคนก็ว่ารุนแรงจนรับไม่ไหว"
อย่าง ไรก็ตาม ประสาคนตรง เขายอมรับว่าความรุนแรงที่เห็นเกิดขึ้นมาจากความจงใจที่จะสร้างจุดขาย เป็น "จุด" ที่เจอเมื่อครั้งอดีต คราวที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าหาจุดขายยาก กระทั่งมาทำ ""ไฟรักอสูร"" ยุค "พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง" กับ "นาตยา แดงบุหงา"
"ตอนถ่ายฉากนาตยาถูกล่ามโซ่ ผมเห็นผู้หญิงที่อุ้มลูกเล็กๆ มายืนดู พอยิ้มให้ เขาตะโกนด่า มึงไม่ต้องมายิ้มกับกู ตัวดำยังใจดำอีก นาทีนั้นผมรู้เลยว่าละครเรื่องนี้ดังแน่ เพราะมันถูกจุด มันจี้ใจคน"
"พอเจอตรงนี้แล้วต้องยอมให้โดนด่า แต่จะด่าก็ต้องเข้ามาดู มาดูแล้วค่อยด่า และเราก็ได้ผลตรงที่คนดูละครเรื่องนี้ถล่มทลาย"
"ละครมันไม่มีอะไรให้ขายมากนักหรอก เราก็ต้องทำในสิ่งที่มันจะขายได้" พิศาลบอก
" แต่ละครมันจะตอกย้ำความรุนแรง แล้วทำให้เกิดการเลียนแบบนะ" "สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง" หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ขอแย้งจากประสบการณ์ตรง ที่เคยเปิดอกคุยกับผู้ชายซึ่งเคยทำร้ายผู้หญิง แล้วเขาให้คำตอบว่าไม่เห็นจะเป็นอะไร ในเมื่อเห็นในพระเอกในละครทำออกบ่อย แล้วก็ไม่มีปัญหา
"เขาบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นผิด มันจะออกทีวีได้เหรอ"
เรื่อง เรตเธอก็ว่า แม้จะมีการแบ่งอย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงใครๆ ก็รู้ดีว่ายากในแง่ปฏิบัติ บางบ้านพ่อแม่อาจยังกลับไม่ถึงบ้าน บางบ้านที่ดูพร้อมกันหลายคน การที่ผู้ใหญ่สักคนจะมาอธิบายกับเด็กอย่างจริงจัง คงหาได้ไม่ง่ายนัก
" ที่สำคัญคนทำต้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เขาอาจไม่ทราบว่าผลกระทบหลังละครของเขาออกฉายมีผลอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเป็นไปได้ไม่เสนอเรื่องตบตีได้หรือเปล่า"
"การบอกว่าให้ดูให้จบ เรื่อง เพราะละครตอนจบมักจะมีบทเรียนสอนใจที่ดี แต่ใครจะได้ดูบ้าง ช่อง 3 เองก็รณรงค์ยุติความรุนแรง ซึ่งสำนักงานกิจการสตรีก็มองเรื่องนี้อยู่ แต่เขารู้ไหมว่าบางรายการของเขาอาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ ตอนนี้ความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน หันไปผลิตละครที่ส่งเสริมสังคม ละครที่บอกว่าคนที่มีปัญหาควรจะไปไหน ละครที่ไม่ตีกันดีไหม เหมือนหนังฝรั่งเวลามีปัญหากัน ผู้ชายจะบอกว่า ผมยังไม่พร้อม เรายังไม่ควรพูดกัน แล้วก็เดินออกไป แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสุภาพบุรุษมีไหม"
"ฝากไว้ให้ช่วยกันคิด"