จากภาพ
"ซุปปลิงทะเล ปลิงทะเลน้ำแดง ปลิงทะเลผัดรวมมิตร ปลิงทะเล..." อาหารเหลาที่ชาวจีนเห็นแล้วน้ำลายไหล แต่คนไทยส่วนใหญ่คิดหนักและไม่กล้ารับประทาน เพราะพาลไปนึกถึง "ปลิงดูดเลือด" (ปลิงน้ำจืด) ทั้งที่จริงๆ แล้วสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีวิวัฒนาการห่างไกลกันมากถึงขนาดอยู่กันคนละไฟลัม และที่สำคัญปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนกับปลิงน้ำจืดเลยสักนิด
ปลิงทะเล (ซ้าย) และปลิงน้ำจืด (ขวา) (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
นักชีววิทยาจาก อพวช. ให้ข้อมูลต่อไปว่า ปลิงทะเล หรือ แตงกวาทะเล (sea cucumber) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinodermata) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวขนนก ดาวเปราะ และเม่นทะเล แต่ปลิงน้ำจืด (Leech) เป็นสัตว์ในกลุ่มหนอนปล้อง (Annelida) จำพวกเดียวกับไส้เดือนดิน ทากดูดเลือด เป็นต้น
ปลิงทะเลตากแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมในยาจีน (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
ปลิงทะเลไม่ใช่ปลิงน้ำจืด ปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนปลิงน้ำจืด แต่กินเศษซากสารอินทรีย์บนพื้นทรายใต้ท้องทะเลเป็นอาหาร โดยกินไปพร้อมกับทราย แต่ะจะดูดซึมเอาเฉพาะสารอาหารที่ต้องการแล้วถ่ายมูลที่เป็นทรายออกมา ดังนั้นบริเวณไหนที่มีปลิงทะเลอยู่เยอะ พื้นทรายบริเวณนั้นจะขาวสะอาดมากกว่าบริเวณอื่นๆ ปลิงทะเลจึงเปรียบเสมือนเทศบาลประจำหาดทรายและใต้ท้องทะเล" น.ส.อารมณ์ เผย
ปลิงทะเลพบได้ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลไปจนถึงใต้ทะเลลึก ดำรงชีวิตเป็นสัตว์หน้าดิน หากินอยู่บนพื้นท้องทะเล สามารถปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งที่อยู่ได้หลายแบบ ทั้งในแนวปะการัง แนวสาหร่าย หาดทราย หาดหิน และแหล่งหญ้าทะเล โดยทั่วไปมีรูปร่างทรงกระบอกยาว ผิวลำตัวมีทั้งหนา บาง แล้วแต่ชนิด ปลายลำตัวด้านหนึ่งเป็นปาก และอีกด้านหนึ่งเป็นทวาร รอบๆ ปากมีหนวด 10-30 เส้น ไว้จับอาหารเข้าสู่ปาก ปลิงทะเลเป็นสัตว์แยกเพศ มีการจับคู่ผสมพันธุ์ โดยตัวผู้และตัวเมียจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกันในน้ำทะเล
"พระกระโดดกำแพง"
เมนูระดับฮ่องเต้ที่มีปลิงทะเลเป็นส่วนประกอบ (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
"เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" คือหลักในการเอาตัวรอดของปลิงทะเลอันน่าทึ่ง โดยปลิงทะเลจะคายอวัยวะภายในออกมาให้ศัตรูมันกินเพื่อให้ตัวมันมีชีวิตรอดต่อไป ซึ่งมันสามารถสร้างอวัยวะภายในขึ้นมาใหม่แทนของเดิมได้ และอีกวิธีหนึ่งคือการแตกแยกผนังลำตัว คล้ายกับการถอดเสื้อให้ศัตรูของมัน จากนั้นก็ทอเสื้อขึ้นมาใหม่นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีวิธีป้องกันตัวโดยการพ่นเส้นใยเหนียวจากทางทวารใส่ศัตรู ซึ่งไม่มีพิษภัยอะไร แต่จะทำให้ศัตรูเกิดความรำคาญและเลิกล้มความตั้งใจที่จะกินมัน
นักดำน้ำกับปลิงหนามน้ำตาลแดงตัวใหญ่ (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
"ปลิงทะเลเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนใกล้เคียงกับหมึกกล้วย ปูม้า หอยลาย และหอยแมลงภู่ แต่มีไขมันต่ำกว่ามาก ต่ำกว่าปลาทะเลบางชนิดด้วย ที่สำคัญยังช่วยป้องกันและบรรเทาโรคข้อเสื่อมด้วย เพราะมีมิวโคโปรตีน (mucoprotein) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อนและเอ็น และยังมีสรรพคุณทางยาอีกหลายด้าน เช่น แก้ปัญหาท้องผูก ปัสสาวะบ่อย บรรเทาอาการอ่อนเพลียในผู้สูงอายุ" นักชีววิทยา อพวช. เผย
ปลิงดำตัวนิ่ม (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศสนใจศึกษาหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในปลิงทะเลเพื่อพัฒนาเป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น สารโฮโลท็อกซิน (Holotoxin) ที่สามารถยับยั้งเชื้อราบางชนิด ยังยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง และในเส้นใยสีขาวของปลิงบางชนิดยังมีสารโฮโลทูลิน (Holothurin) ที่มีคุณสมบัติช่วยขัดขวางการส่งความรู้สึกของกระแสประสาท สามารถนำใช้ลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดได้
ปลิงขาว ที่นิยมนำมาปรุงอาหาร (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
อย่างไรก็ดี น.ส.อารมณ์ ให้ข้อมูลว่า ปลิงทะเลจัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของจีน ไต้หวัน และฮ่องกง เพราะนิยมบริโภคกันมากด้วยความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยามาตั้งแต่สมัยโบราณ ขณะที่ชาวไทยไม่นิยมบริโภค แต่มีนายทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินการเก็บปลิงทะเลจากธรรมชาติของไทยส่งออกไปยังต่างประเทศโดยไม่มีการควบคุม ส่งผลให้ปลิงทะเลในไทยลดจำนวนลงไปมาก โดยเฉพาะปลิงดำที่พบได้ทั่วไปตามชายหาดทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ปัจจุบันแทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว
ปลิงหินดำหนามใหญ่ (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปลิงทะเลด้วย เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้มีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หากไม่มีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ปลิงทะเลในไทยอาจสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า โดยเฉพาะปลิงขาวที่เป็นที่นิยมบริโภค และปลิงดำที่เก็บจากธรรมชาติได้ง่ายดาย
ปลิงแอปเปิ้ล (ภาพจาก น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์)
เครดิต
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000111434