เพตรา (Petra) มหานครศิลาสีชมพูแห่ง จอร์แดน
มหานครเพตรา ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอัมมาน นครหลวงของจอร์แดนไป 180 ไมล์
โดยนั่งเครื่องบินไปลงที่อัมมาน แล้วเดินทางต่อไปยังนครเพตราซึ่งจะมีบริษัททัวร์นำเที่ยว
นั่งรถบัส ผ่านทะเลทรายอันร้อนระอุ แล้วขี่อูฐไปชมเพตรา มหานครอันน่าอัศจรรย์
Petra_treasury
เรื่องราวที่มาของมหานคร Petra
ชนเจ้าของนครเพตราดั้งเดิมนั้น เป็นเผ่าเนบาตาเอี้ยน (Nebataean) ซึ่งเป็นสายหนึ่ง ของเผ่าเบดูอิน
เบดูอิน เป็นต้นตระกูลของ ชาวตะวันออกกลางหลายชาติ ยกเว้นอิหร่าน
ชนเผ่าเนบาตาเอี้ยนร่อนเร่มานานจนกระทั่ง ได้พบเทือกเขา
ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศจอร์แดนในปัจจุบันนี้
จึงตั้งถิ่นฐานโดยอาศัยอยู่ในถ้ำซึ่งมีอยู่เป็นอันมากตลอดแนวเทือกเขานี้
นครอันมหัศจรรย์นี้เจริญมาถึงปี ค.ศ. 106 ก็เสียเอกราช (ประมาณ 100 ปีก่อน คศ. หรือ2000กว่าปีมานี้เอง)
เพราะระหว่างนี้โรมมีอำนาจสูงสุด จนแผ่อาณาเขตมาถึงดิน แดนตะวันออกกลางได้
และได้รวมดินแดน ตะวันออกกลางภายใต้อำนาจ ของมณฑลอเรเบียนี้ด้วย
ถนนในนครเพตรา
ชาวโรมันซึ่งมีนิสัย รักความสวยงามรักศิลปะ ครั้นมาเห็นนคร นี่น่าพิศวง คือ เพตราเข้าก็ชอบใจ
จึงส่งช่างมาตกแต่งดัดแปลงนคร ในเทือกเขาแต่เดิมให้วิลิศมาหรายิ่งขึ้น
มีการเติมเสาแบบโรมัน เข้าไปเป็นอันมาก ตัดถนนหลายสาย และสร้างอาคารลอยตัวเพิ่มอีกหลายแห่ง
เพตราจึงยิ่งเจริญและงดงามมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
มหานครเพตราก็รุ่งเรืองสวยงามอยู่ไม่นาน ประมาณ ค.ศ. 400 นั่นเอง
เพตราก็เริ่มเสื่อมลงทั้งในด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการค้าขายเปลี่ยนไป เส้นทางลำเลียงทางเรือที่ค้นพบใหม่
ทำให้กองคาราวานอูฐไม่มีความหมาย พ่อค้าวาณิชหันไปใช้เส้นทางเรือกันเป็นส่วนใหญ่
กิจการของเพตราก็เลยเสื่อมลงทุกที การค้าขายฝืดเคืองเพราะสู้พวกที่ล่องทะเลไม่ได้
เพราะสามารถเดินทางได้รวดเร็วกว่า
ครั้นจะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเรือก็ไม่ชำนาญ จึงยากจนลงไปเรื่อยๆ
จนถึง ค.ศ. 710 ชาวโรมันแห่งอาณาจักรโรมันตะวันออก สิ้นอำนาจวาสนาลง
เพตราก็เลยเสื่อมสลายตามไปด้วย
ชาวเมืองเพตราถึงกับต้องทิ้งบ้านเมืองของตนไปหาที่ทำกินที่อื่นเพื่อความอยู่รอด
ชั่วเวลาไม่นาน หลังจากนั้นนครอันน่าอัศจรรย์นี้ก็เกือบร้าง
กลายเป็นที่อยู่ของพวกร่อนเร่ เบดูอินอื่นๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอาคารที่เจ้าของทิ้งไปเสียแล้ว
เพตราตายซากมานานจนเกือบ 2 พันกว่าปีถัดมา
ได้มีคนตาแหลมหนุ่มนักสำรวจขี้สงสัยสายเลือดสวิส
อย่าง โยฮัน ลุดวิก เบิร์กฮาร์ดต์มาพบเข้าในปี 1812 นี่เอง
ว่ากันว่า ราวปี 1812 ซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังสำรวจเส้นทางระหว่างดามัสกัส ไปยังไคโร
แต่ดันไปได้ยินเรื่องราวของนครเพตราแล่นเข้าหู ทำให้เบิร์กฮาร์ดต์เกิดแรงบันดาลใจ
ที่จะค้นหานครที่หายสาบสูญนี้ให้ได้
หนุ่มนักสำรวจไฟแรงเริ่มลงมือเรียนภาษาอาหรับ จนพูดได้คล่อง จากนั้นก็ปลอมตัวเป็นชาวอาหรับ
เข้าไปคลุกคลีกับชาวเบดูอิน ซึ่งเป็นผู้รู้เส้นทางไปสู่นครเพตรา
จนในที่สุดชาวเบดูอินใจอ่อนยอมพาเขาเข้าไปสำรวจซากเมืองนี้
จากหมู่บ้านเอลจี เบดูอินพาเบิร์กฮาร์ดต์เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ทอดยาวผ่าน วาดี มูสา
และเข้าไปอยู่ในวงล้อมของหุบเขา จนเมื่อเห็นเมืองอันกว้างใหญ่อยู่ตรงหน้า
มีทั้งความใหญ่โตโอ่อ่าของวิหาร สุสานของเมืองหิน เขาถึงกับตกตะลึง
เมื่อมีจังหวะเหมาะเขาจึงแอบสเก็ตช์ภาพของเมืองลับแลแห่งนี้ออกมา
เมื่อรูปที่เบิร์กฮาร์ดต์เขียนถึงเพตรา ถูกเผยแพร่ออกไป
ผู้คนต่างพากันตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจกับความงามแปลกตาน่าฉงนของนครลับแล
จากนั้นราวปี 1826 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสอีก 2 คน คือ เคาน์ท ลีออง เดอ ลาบอร์เด
และ มัวรีส ลีโนต์ เดินทางเข้าไปสำรวจเพตราอีกครั้ง
และสเก็ตช์ภาพที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นออกมาเผยแพร่
จากนั้นความงดงามและความอัศจรรย์ของเมืองลับแลที่ชื่อเพตราก็ถูกเปิดเผยสู่โลกปัจจุบันอีกครั้ง