ยาเม็ดปาร์ตี้ตัวใหม่ฤทธิ์เท่ายาบ้า

                                  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยพบยาเสพติดตัวใหม่ "ยาเม็ดปาร์ตี้" ฤทธิ์เท่า "ยาบ้า" กำลังทะลักตามปาร์ตี้ยานักท่องเที่ยวต่างชาติ เคยจับแล้ว 5 คดี 3 จังหวัด นนทบุรี-ชลบุรี- กทม. เตรียมเสนอ รมว.สธ. ตั้งชื่อชง อย.ประกาศคุม เผยเป็นรูปหัวใจสีแดง สีชมพูสัญลักษณ์อาดิดาสและรูปการ์ตูน

                                   นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงข่าวการเตรียมจัดประชุมวิชาการแพทย์ครั้งที่ 18 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กทม.ว่า ในงานดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเผยแพร่การตรวจสอบยาเม็ดและยาที่มีลักษณะเป็นแคปซูล ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ชลบุรี โดยพบยาดังกล่าวจากชาวต่างชาติที่มาจัดปาร์ตี้ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวแถบยุโรป ซึ่งยาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเจอนั้นอยู่ใน จ.ชลบุรี จะมีลักษณะเหมือนยาเม็ดทั่วไปสีเขียว ฟ้า แดง

                                   นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นแคปซูลซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเหมือนกับยาบ้า ยาอี และเป็นยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดใน 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ได้เรียกชื่อยาเสพติดชนิดนี้ว่า ยาเม็ดปาร์ตี้ และประกาศเป็นสารควบคุมประเภท 1 ที่มีกฎหมายควบคุม ในขณะที่ไทยยังไม่มีการประกาศควบคุมสารเสพติดนี้เพราะยังไม่มีการระบาดที่ชัดเจน นพ.จักรธรรม กล่าวต่อว่า ถ้าลงลึกในรายละเอียดด้วยว่า จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า ยาเม็ดปาร์ตี้มีสารเสพติดที่มีสารหลักอยู่ 2 ชนิด คือ 1.BZP (BENZYLPIPERAZINE) จะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางคล้ายยาอีและยาบ้า ทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝันและมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ 2.TFMPP (TRIFUOROMETHYL PHENYL PIPEERAZINE) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอน ใจสั่น ความดันโลหิตสูง สับสนและนอนไม่หลับ เสพมากมีสิทธิ์ทำให้เสียชีวิตได้ทันที

                                  อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ หนักใจมากที่สุดก็คือ ยาเม็ดปาร์ตี้ชนิดนี้กำลังเข้ามาทดแทนยาบ้า โดยเข้ามากับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะในแถบยุโรป ล่าสุดมี 3 จังหวัดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดได้จากสถานบันเทิงใน 3 จังหวัด คือ 1.ชลบุรี 2.นนทบุรี 3.กทม. โดยจากสถิติการเข้ามาแพร่ระบาดในไทยเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.ปี 2552 จนถึงปี 2553

                                  ในปัจจุบัน "ตอนนี้ก็ยังไม่ถือว่าผิดกฎหมายหากพบในไทยเพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุม อาจจะต้องให้ รมว.สธ.ตั้งชื่อยาเสพติดตัวนี้ เพราะเป็นชนิดใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศได้มีกฎหมายควบคุมแล้ว อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อสกัดการแพร่ระบาดยานี้อย่างจริงจัง และอาจจะมีการผลักดันให้มีการออกกฎหมายหรือออกประกาศควบคุมยาชนิดนี้ต่อไป ทั้งนี้ ยาเสพติดรูปแบบใหม่และโฉมหน้าของเม็ดยานี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์จะนำไปเปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนในการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 18 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.ที่โรงแรมแชงกรี-ลา" นพ.จักรธรรมกล่าว

                                 ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงยาเสพติดชนิดใหม่ที่เรียกว่า "ยาเม็ดปาร์ตี้ชนิดใหม่" ในประเทศไทยระหว่างปี 2552-2553 พบสารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีน 2 ชนิด คือ BZP และ TFMPP ลักษณะเป็นแคปซูล คล้ายอาหารเสริม และคล้ายยาอีใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี นนทบุรี และ กทม. นพ.นิพนธ์กล่าวต่อว่า สารอนุพันธ์พิเพอราซีน มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทน้อยกว่าเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า 10 เท่า ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการควบคุมตามกฎหมายเนื่องจากยังไม่มีการแพร่ระบาดที่ชัดเจน แต่จากการเฝ้าระวัง 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพบยาดังกล่าวมาเรื่อยๆ จำนวน 5 คดี คือ

                                1.เหตุเกิดที่ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค.2552 พบของกลาง 8,000 แคปซูล ตรวจพบ BZP และ TFMPP

                                2.วันที่ 12 พ.ย.2552 พื้นที่เกิดเหตุคือชลบุรีเช่นกัน พบยาเม็ดกลมแบนสีส้มอ่อน 2 เม็ด ตรวจพบ BZP และ TFMPP

                                3.วันที่ 27 ม.ค.2553 พื้นที่เกิดเหตุกรุงเทพฯ พบยาเม็ดกลมแบบสีแดงสัญลักษณ์รูปหัวใจ 4 เม็ด ตรวจพบ TFMPP

                                4.วันที่ 6 พ.ค.2553 พื้นที่เกิดเหตุ จ.นนทบุรี พบของกลางยาเม็ดกลมแบนสีชมพูสัญลักษณ์ Adidas 1 เม็ด ตรวจพบ BZP และ TFMPP

                                5.วันที่ 8 พ.ค.2553 พื้นที่เกิดเหตุ จ.ชลบุรี พบของกลางยาเม็ดกลมแบนสีขาวขุ่น สัญลักษณ์รูปการ์ตูน 5 เม็ด

                               ผลการตรวจพิสูจน์พบ BZP และ TFMPP "BZP จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางคล้ายยาอีและยาบ้า ทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน มีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ส่วน TEMPP จะมีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอนคล้ายยาอี ดังนั้นผู้เสพจึงมักใช้สารสองชนิดร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ หรือถ้าใช้ร่วมกับยาเสพติดอื่นและแอลกอฮอล์อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้" นพ.นิพนธ์กล่าวและว่า ขณะนี้ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังแล้ว ทั้ง สตช. ป.ป.ส. อย. และคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ เนื่องจากบ้านเราแม้จะยังไม่มีการระบาด แต่จากการตามมา 1 ปี พบถึง 5 คดี อีกทั้งยานี้ในสหรัฐได้จัดเป็นสารควบคุมประเภท 1 นิวซีแลนด์จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และญี่ปุ่นจัดเป็นสารควบคุม.

21 ส.ค. 53 เวลา 21:45 6,723 6 116
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...