ความรู้กับ (งูทะเล)

        งูทะเลมีทั้งหมดประมาณ 50 ชนิด อยู่ใน Subfamily Hydrophiinae และ Laticaudinae เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่หายใจได้ด้วยปอดอย่างแท้จริงซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำ มีการดำรงชีวิตอยู่ในน้ำตลอดช่วงชีวิต ยกเว้นในบางชนิดที่ขึ้นมาวางไข่บริเวณปากแม่น้ำหรือบริเวณชายหาด งูทะเลเกือบทุกชนิดอาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นชนิด Hydrophis semperi  และ Laticauda crokeri ที่พบอาศัยอยู่ในทะเลสาปน้ำจืดในประเทศฟิลิปปินส์ ปกติพบงูทะเลอยู่ในเขตน้ำตื้นของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าพวกมันมีการพัฒนามาจากงูบกแถบอินเดียและพยามยามมที่จะหาบริเวณที่เป็นน้ำอุ่นเพื่อการอาศัย

           ฟันของงูทะเลเป็นเขี้ยวสั้นๆ ยกเว้น Genus Emydocephalus ที่มีฟันแข็งเรียงเป็นแถวหลังเขี้ยวบนขากรรไกรบน อาจมีมากถึง 18 ซี่ งูทะเลจะมีชิ้นเนื้อเล็กๆคล้ายฟองน้ำ ซึ่งจะช่วยขวางกั้นไม่ให้น้ำเข้าสู่รูจมูกของมันเมื่อมันต้องการดำน้ำ รูจมูกของงูทะเลไม่มีอาณาเขตที่แน่นอน แต่จะอยู่สูงกว่างูบก ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่รูจมูกได้โดยง่าย

          งูทะเลมีรูปร่างที่แตกต่างจากงูบกเพียงเล็กน้อย ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ด บางชนิดเป็นเกล็ดเรียบ บางชนิดเป็นเกล็ดมีสัน และในบางชนิดมีหนามอยู่บนเกล็ด ลำตัวอ้วนกลมหรือเรียวยาว แต่มีส่วนหางแบนคล้ายใบพาย มีดวงตาที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ปกคลุมดวงตาด้วยเกล็ดที่ใส และไม่มีหนังหุ้มเอาไว้ ลิ้นมีขนาดเล็กเป็นรูปแฉก ส่วนมากมีขนาด 3-4 ฟุต แต่บางชนิดพบว่ามีความยาวถึง 9 ฟุตหรือมากกว่า

          ปอดข้างซ้ายของงูทะเลลดรูปลง ส่วนปอดข้างขวาจะพัฒนาให้ยาวขึ้น ในบางกรณีพบว่ายาวจนถึงรูก้น นอกจากจะมีปอดเอาไว้เพื่อหายใจแล้ว ปอดที่ยาวขึ้นนี้เชื่อว่าจะช่วยทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ พวกมันสามารถเคลื่อนไหวได้ดีในน้ำทะเล เนื่องจากมีการปรับตัวทางด้านร่างกาย ทำให้สามารถเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปทางด้านหน้าและด้านหลัง แต่เคลื่อนตัวได้ไม่ดีเมื่ออยู่บนบก งูทะเลสามารถลอยตัวอยู่ที่ผิวหน้าน้ำทะเลได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง

          อาหารของงูทะเลโดยมากเป็นปลาโดยเฉพาะปลาไหล และปลาขนาดเล็กอื่นๆ ชอบหากินบริเวณบนหรือใกล้พื้นท้องทะเลรอบๆกองหิน

          เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์พวกมันจะผสมพันธุ์กันใกล้ผิวน้ำทะเลเปิดห่างจากฝั่งออกไปกว่าร้อยไมล์ และลักษณะนิสัยของพวกมันก็ไม่ได้ดุร้ายขี้นในช่วงฤดูนี้เลย งูทะเลบางชนิดออกลูกเป็นไข่ พวกมันวางไข่บริเวณที่เป็นโคลนราบเรียบ น้ำตื้น และในบางชนิดออกลูกเป็นตัว

กลไกการปล่อยพิษ

          งูทะเลเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่ดุร้าย ถึงแม้ว่าพวกมันจะอยู่ในฤดูผสมพันธุ์ก็ตาม พวกมันมีพิษเอาไว้เพื่อการป้องกันตัวเองหรือเพื่อหาอาหารที่เป็นปลาขนาดเล็กเท่านั้น การที่คนเราถูกงูทะเลกัดนั้น เกิดเนื่องจากเดินเหยียบตัวมันหรือจับต้องตัวมันขณะที่ติดมากับอวนเท่านั้น ไม่มีรายงานว่ามาจากสาเหตุอื่น

          งูทะเลมีเขี้ยวพิษ 2 เขี้ยวอยู่ที่สองข้างของขากรรไกรบน ลักษณะของเขี้ยวเหมือนลักษณะเขี้ยวของงูเห่าบก แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก เมื่อเทียบกับงูขนาดเดียวกัน เขี้ยวพิษจะเชื่อมต่อกับ ต่อมพิษ (venom gland) ซึ่งต่อมนี้จะอยู่ทีสองข้างของหัวและน้ำพิษจะไหลจากโคนของเขี้ยวพิษ แรงดันจากการงับเหยื่อจะส่งน้ำพิษเข้าสู่ตัวเหยื่อ

          เขี้ยวของงูทะเลมีขนาดเล็กมาก ขนาดเฉลี่ยประมาณ 1.3-6.7 ม.ม. อยู่ที่สองด้านซ้ายขวาของขากรรไกรบน (ภาพที่ 3) แต่มีรายงานว่าบางชนิดพบเขี้ยวเพียงเขี้ยวเดียวอยู่ในช่องปาก เนื่องจากเขี้ยวของงูทะเลมีขนาดเล็กมาก เมื่อถูกกัดจะรู้สึกเหมือนโดนหนามตำหรือเหมือนโดนผึ้งต่อย รู้สึกเจ็บแปลบแล้วหายไป แต่บางครั้งก็มีอาการเจ็บอยู่ระยะเวลาหนึ่งซึ่งไม่นานและไม่รุนแรงนัก อาการเจ็บเมื่อโดนกัดเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ถูกงูทะเลกัดมักเข้าใจผิดว่าถูกปูหนีบ หรือถูกก้อนหินบาด หรือถูกสัตว์ไม่มีพิษขนาดเล็กอื่นๆทำร้าย

          เมื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัด เขี้ยวของงูทะเลอาจหลุดคาอยู่ในแผลได้ ก่อนทำการรักษาต้องบ่งเอาเขี้ยวออกจากแผลก่อน วิธีง่ายๆที่แนะนำคือใช้เส้นผมลากผ่านบาดแผลก็สามารถเอาเขี้ยวของงูทะเลออกได้

          ร่องรอยการถูกงูทะเลกัดนั้นแทบมองไม่เห็น จะพบคล้ายกับการถูกเข็มตำหรือเหมือนถูกยุงกัด มีเลือดออกซิบๆ อาจพบเป็นรอยขีดยาว 2-3 ซ.ม. ได้ถ้าผู้ป่วยกระชากเอาตัวงูออกเมื่อถูกกัด

          งูทะเลมีความสามารถส่งผ่านน้ำพิษผ่านเขี้ยว ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเขี้ยวของงูเห่าบก หากเปรียบเทียบกับงูพิษชนิดอื่นๆ พวกมันมีเขี้ยวพิษที่อ่อนแอกว่ามาก แต่อย่างไรก็ตามพวกมันก็มีการพัฒนาการส่งผ่านน้ำพิษได้ไม่น้อยหน้าไปกว่างูพิษชนิดอื่นๆเลย โดยการทำงานระหว่างต่อมพิษ (venom gland) และเขี้ยวพิษ (venom apparatus) ส่งผ่านน้ำพิษผ่าน ท่อส่งพิษ (venom duct) โดยมีช่องเปิดอยู่ทีฐานของเขี้ยว บนเขี้ยวของงูทะเลจะมีร่อง เรียก venom canal ต่อจากท่อส่งพิษ เป็นร่องยาวรูปสามเหลี่ยม สำหรับส่งผ่านพิษเข้าสู่ตัวเหยื่อโดยตรง

พิษของงูทะเล

          ในสัตว์จำพวกงู น้ำพิษ (venom) เป็นของเหลวที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในร่างกาย น้ำพิษจะหลั่งออกมาจากต่อมพิเศษที่อยู่ในช่องปาก โดยต่อมนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับต่อมน้ำลายมาก จนถือได้ว่าสารพิษชนิดนี้ถูกพัฒนามาจากน้ำลาย น้ำพิษของงูทะเลจะถูกหลั่งออกมาใน 2 กรณีคือ เมื่อมันต้องการป้องกันตัวเองและเมื่อมันต้องการล่าเหยื่อหรือหาอาหาร โดยอาศัยหลักการทำงานของเขี้ยวพิษฉีดสารเข้าไปในตัวเหยื่อ น้ำพิษจะเข้าไปทำลายหรือหยุดการเคลื่อนไหวของเหยื่อ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตและตายในที่สุด

          ในสัตว์แต่ละชนิด มักจะมีน้ำพิษที่มีลักษณะเฉพาะของตัวมันเอง ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งองค์ประกอบและปริมาณของสารที่มีพิษและสารที่ไม่มีพิษ ยิ่งงูสองชนิดใดมีความใกล้ชิดหรือเหมือนกันมากเท่าใด น้ำพิษของงูทั้งสองชนิดก็ยิ่งมีองค์ประกอบหรือลักษณะของน้ำพิษที่ใกล้เคียงกันมากขึ้นเท่านั้น มีความเป็นไปได้ว่า น้ำพิษและเขี้ยวพิษค่อยๆพัฒนาขึ้นมาระหว่างงูสองชนิด ทำให้เพิ่มความหลากหลายของลักษณะทางเคมีของน้ำพิษและลักษณะรูปร่างของเขี้ยวพิษ

          จากการศึกษาพบว่าพิษของงูทะเลมีความรุนแรงมากกว่างูพิษชนิดอื่นๆ ยกเว้นก็เพียงแต่พิษของ Tiger snake ของ Australia เท่านั้น

          เนื่องจากการพัฒนาของพิษงูทะเลมีน้อย ทำให้พวกมันมีต่อมพิษขนาดเล็ก และสามารถส่งผ่านน้ำพิษได้เพียงปริมาณน้อยเท่านั้น ปริมาณน้ำพิษมากที่สุดที่ได้จากการรีดพิษจากงูทะเล คือ 2-80 ม.ก. (น้ำหนักแห้ง) เท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของงูด้วย

          งูทะเลทุกชนิดมี่ต่อมพิษ ยกเว้นชนิด Acrochodes granulatus หรือ งูผ้าขี้ริ้ว เป็นงูทะเลชนิดเดียวที่มีหางกลม ไม่แบนเป็นใบพาย และเป็นงูทะเลชนิดเดียวที่ไม่มีพิษ

          งูทะเลพวกที่กินอาหารชนิดไม่เคลื่อนที่ได้แก่ไข่ปลา เช่นงูทะเลชนิดAipyrus eydouxi , Emydocepphalus annulatus และ E.ijimae ก็มีต่อมพิษเช่นเดียวกัน แต่ใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อล่าเหยื่อเหมือนงูทะเลชนิดอื่นๆ ต่อมพิษจะพบอยู่ด้านล่างของหัวถัดจากตาไปทางด้านหลัง ปกคลุมด้วยแคปซูลผนังหนาที่สร้างจาก collagen fiber ต่อมพิษของงูทะเลจะทำงานร่วมกับ accessory gland ซึ่งอยู่ติดกัน ส่งผ่านน้ำพิษออกมาทางท่อส่งพิษ เชื่อมไปจนถึงเขี้ยวพิษ ตามปกติต่อมพิษของงูทะเลจะมีขนาดเล็กกว่าต่อมพิษของงูบก สาเหตุน่าจะมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายในน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำพิษน้อยไปด้วย

          น้ำพิษของงูทะเลมีความเป็นพิษสูง 1 หยดของน้ำพิษจากงูทะเล (ประมาณ 0.03 ม.ล. หรือประมาณ 10 ม.ก.ของน้ำหนักแห้ง) ก็มีพิษมากพอที่จะฆ่าผู้ชายที่โตเต็มวัยได้ถึง 3 คน งูทะเลบางชนิดสามารถส่งผ่านพิษได้ 7-8 หยดในการกัดครั้งเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในการกัดของงูทะเลชนิดหนึ่งๆในแต่ละครั้งก็ไม่มีใครสามารถประมาณปริมาณที่ถูกพิษได้

          มีการทดลองในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับความรุนแรงของพิษงูทะเล โดยเลือกใช้หนูทดลองในการทดสอบ พบว่า งูทะเลชนิด Aipysurus duboisii มีความรุนแรงมากที่สุด มี LD50 คือ 0.032-0.052 ม.ก./ก.ก. ส่วนชนิดอื่นๆ ได้แก่ Lapemis hardwickii (ภาพที่ 9) มี LD50 คือ 0.71-1.4 ม.ก./ก.ก.,Pelamis platurus (ภาพที่ 10) มี LD50 คือ 0.092 ม.ก./ก.ก. ตัวเลขต่างๆเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ค่า LD50 ในหนูอาจมีความสัมพันธ์กับคนที่ถูกงูทะเลกัด แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับตัวของมันเอง หมายความว่าพิษของมันไม่มีผลต่อตัวมันเองนั่นเอง และจากข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างๆเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ถูกงูทะเลกัดแล้วเสียชีวิต คาดว่าจะมี LD50 คือ 2-3 ม.ก./ก.ก.

ลักษณะทางกายภาพของพิษงูทะเล

          น้ำพิษของงูทะเลเป็นของเหลวใส มีสีเหลืองอ่อนหรือไม่มีสี มี pH ประมาณ 6.3 ความหนาแน่นประมาณ 1.066 +- 0.009 g/cm3 รูปร่างผลึกเป็นแบบ rhomboid พิษงูบางชนิด เช่น Laticauda semifasciata สามารถทนความร้อน 100 C ได้ถึง 5 นาที โดยไม่สูญเสียความเป็นพิษ แต่พิษงูจะถูกทำลายไปหมดเมื่อผ่านไป 20 นาที แต่ในชนิด E.schistosa จะเหลือความเป็นพิษเพียง 14 % หลังจาก 2 นาทีเท่านั้นที่อุณหภูมิเดียวกัน และไม่เหลือความเป็นพิษเลยเมื่อผ่านไป 30 นาที นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำพิษของงูชนิด P.platurus ถูกทำลายได้ที่อุณหภูมิ 75 C ในเวลา 20 นาที

          น้ำพิษของงูทะเลสามารถทนอยู่ในช่วง pH ได้ช่วงหนึ่ง พบว่า น้ำพิษของงูทะเลชนิด L.semifasciata สามารถทน pH ได้ในช่วง pH 1.4-9.6 และชนิด P.platurus สามารถทน pH ได้ในช่วง pH 2-10

องค์ประกอบของพิษงูทะเล

          ในน้ำพิษของงูทุกชนิดจะประกอบด้วยพิษมากกว่า 1 ชนิดและการรวมกันของพิษหลายชนิดทำให้มันมีพิษที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น พิษของงูทะเลเป็นพิษชนิด Neurotoxin มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ส่งต่อไปยังกล้ามเนื้อต่างๆทั่วร่างกาย

          ลักษณะทางเคมีของพิษงูรวมถึงพิษของงูทะเลมีความสลับซับซ้อนมาก พิษของงูทะเลมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลักถึง 90 % ของน้ำหนักแห้ง และโปรตีนส่วนมากเป็นเอนไซม์ โดยจะพบเอนไซม์ 3 ชนิดในพิษงูทะเล ได้แก่ Proteolytic enzyme , Phospholipase enzyme และ Hyaluronidase

          Proteolytic enzyme เข้ากระตุ้นทำให้การทำงานของเซลล์โปรตีนล้มเหลว

          Phospholipase enzyme มีผลตั้งแต่เป็นพิษอย่างไม่รุนแรง จนถึงพิษระดับร้ายแรง ซึ่งสามารถทำลายกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้

          Hyaluronidase เข้าทำลายองค์ประกอบในเซลล์และเข้าทำลายเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็ว

          สำหรับเอนไซม์อื่นๆที่พบ ได้แก่ Collagenase , Ribonuclease , Deoxyribonuclease , Nucleotidase , Amino acid oxidase , Lactase dehydrogenase , Acidic phosphatase และ Basic phosphatase ทั้งหมดนี้จะเข้ารบกวนการทำงานตามปกติของเซลล์ เป็นสาเหตุให้เกิดการล้มเหลวของเมตาโบลิซึม เกิดอาการช๊อก และเสียชีวิตได้ในที่สุด

          นอกจากจะพบเอนไซม์เป็นองค์ประกอบหลักของพิษงูทะเลแล้ว ยังพบ Polypeptide toxin , Glycoproteins และ Low-molecular-weight compounds ส่วนประกอบอื่นๆของพิษงูทะเลส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด

อาการของผู้ที่ได้รับพิษจากงูทะเล

          พิษของงูทะเลเป็นพิษชนิด neurotoxin เมื่อถูกกัด พิษจะเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่มีอาการปรากฏให้เห็นในบริเวณที่ถูกกัด หรือบริเวณปากแผลเหมือนงูพิษที่มีพิษแบบ haemotoxin

          ในการกัดแต่ละครั้งของงูทะเล พิษงูจะกระจายไปทั่วกล้ามเนื้อต่างๆ แต่จะเข้าไปมีผลต่อเส้นใยต่างๆในกล้ามเนื้อเพียง 20 % เท่านั้น และกล้ามเนื้อที่ถูกพิษทำลายนี้จะสามารถซ่อมแซมเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการกัดจนกล้ามเนื้อนั้นกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม

          เมื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัด อาการต่างๆจะเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ 20 นาทีจนถึงหลายชั่วโมง แต่ปกติพบว่าเริ่มมีอาการประมาณ 1 ชั่วโมงหลังถูกกัด ก่อนที่จะแสดงอาการที่แท้จริงออกมาอย่างเต็มที่และติดต่อกัน

          อาการเริ่มแรกที่พบคือ เริ่มมีอาการเจ็บปวดและเครียดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลิ้นจะเริ่มแข็งไม่มีความรู้สึก กล้ามเนื้อเริ่มแข็งเกร็งไปทั่วร่างกาย เจ็บตามกล้ามเนื้อเมื่อมีการเคลื่อนไหว รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง จากนั้นเริ่มมีอาการอัมพาตที่ขาภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังถูกกัด และอาการอัมพาตจะแผ่ซ่านไปที่หลัง แขน และรุกลามมาที่ต้นคอ กรามจะแข็งขยับปากหรือออกเสียงได้ยาก เริ่มพูดและกลืนอาหารไม่สะดวก ลืมตาไม่ขึ้น หนังตาตก ชีพจรเริ่มอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ ม่านตาขยายกว้าง มีเหงื่อออก มีอาการชักกระตุกเป็นพักๆและเริ่มบ่อยครั้งขึ้น สุดท้ายจะมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจอย่างเห็นได้ชัด หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด โดยอัตราการตายของผู้ที่ถูกงูทะเลกัดอยู่ที่ 25%

          มีรายงานว่า อาการทีเกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปได้ตามชนิดของงูทะเล เช่น งูทะเลชนิด L.schistorhynchus มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ปวดบริเวณหัวไหล่ และลำคอเฉพาะด้านที่ถูกกัดเท่านั้น และอาการจะหายไปใน 2-3 วัน งูทะเลชนิด L.hardwickii มีอาการบวมอักเสบบริเวณที่ถูกกัด ผู้ป่วยมีอาการง่วงเหงาซึมเซา ปวดตามกล้ามเนื้อ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย แต่ผู้ป่วยอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ในที่สุด งูทะเลชนิด Hornatus ocellatus เริ่มมีอาการหลังถูกกัดถึง 18 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

          ในการกัดของงูทะเลแต่ละครั้งนั้น พิษอาจแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเด็กอาจตายได้ในไม่กี่ชั่วโมง โดยสรุปอาการที่เกิดจากพิษของงูทะเลได้ดังนี้

 อาการที่กล้ามเนื้อ ได้แก่ รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อเกร็งตัว หรืออ่อนล้าตามร่างกาย
 ปัสสาวะเป็นสีเข้ม (dark urine)
 อาการเนื่องจาก neurotoxin ได้แก่ อาการอัมพาตทั่วร่างกาย หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น ตอบสนองต่อแสงได้ช้าลง ขยับปาก ออกเสียง หรือกลืนอาหารได้ลำบาก และอาการอัมพาตในระบบหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก
 อาการเกี่ยวกับประสาทสัมผัส สติสัมปชัญญะลดลง
 กระบวนการต่างๆของร่างกายผิดปกติ หรือมีการเต้นของหัวใจผิดไปจากเดิม
 อาการอื่นๆเนื่องจากพิษงู ได้แก่ ช๊อก หมดสติ ชักกระตุก และกล้ามเนื้อหดตัวหรือกระตุก
 อาการเกี่ยวกับเม็ดเลือด ได้แก่ พบเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นสูงมาก 

          โดยอาการที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทั้งหมดทุกอาการ และเวลาในการพัฒนาของอาการต่างๆก็แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตเนื่องจากไตวายได้เช่นกัน

การรักษาผู้ที่ถูกงูทะเลกัด

          ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยก่อนทำการรักษาคือ เมื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัดในทะเลหรือแหล่งน้ำขังชายฝั่งหรือป่าชายเลน อาการต่างๆจะไม่ปรากฏได้โดยง่าย แต่ถ้าถูกกัดในน้ำจืด หนองบึง หรือบริเวณหาดทราย

          จะสามารถทราบว่าถูกงูทะเลกัดได้ เนื่องจากจะมีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ อาการอัมพาต และปัสสาวะเป็นสีเข้มภายในไม่กี่ชั่วโมง สัตว์หลายชนิดในทะเลสามารถทำอันตรายได้ลักษณะคล้ายกับพิษของงูทะเล เช่น sting ของปลาบางชนิด พวก Coelenterates พวก Echinoderms พวก Cone shell และจาก Venomous octopus แต่การที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ถูกกัดจะสามารถเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าสัตว์ที่ทำร้ายนั้นคืองูทะเล

          เมื่อถูกพวก Coelenterates เช่น แมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลทำร้าย จะมีอาการเจ็บปวดเฉพาะตัว อันเนื่องมาจาก nematocyst แต่ในพวกปลาและ Echinoderms อาจทิ้งส่วนหนึ่งของ spine หรือ integument เอาไว้ที่บาดแผลได้

          หากผู้ป่วยมีอาการอัมพาต เรายังคงสรุปไม่ได้ว่าผู้ป่วยถูกงูทะเลกัด เพราะอาการอัมพาตนั้นอาจเกิดจากปลาที่มีพิษอัมพาต เต่าทะเลบางชนิด หรือพิษจากพวก shell fish ก็เป็นได้

          วิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถวินิจฉัยว่าผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัดได้แน่นอนก็คือ ผู้ใกล้ชิดหรือผู้เคราะห์ร้ายเองควรต้องฆ่าหรือนำตัวงูหรือซากงูตัวนั้นไปที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อจะสามารถทำการจำแนกชนิดของงูได้ และทำให้วิเคราะห์ได้ว่าเป็นพิษชนิด neurotoxin หรือ haemotoxin

การปฐมพยาบาล

 ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
 อย่าตื่นตกใจเกินไป และควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด โดยเอาซากของงูที่กัดไปด้วย(ถ้าทำได้) เพื่อความถูกต้องในการรักษา
 ไม่ควรนำเอาใบไม้ รากไม้ หรือสมุนไพรต่างๆมาใส่แผล เพราะจะทำให้แผลสกปรก เกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักได้
 ตำแหน่งขาหรือแขนที่ถูกกัดควรให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้
 ถ้าจะทำการขันชะเนาะต้องใช้ผ้า โดยรัดเหนือตำแหน่งที่ถูกกัด รัดแน่นปานกลางพอที่จะใช้นิ้วมือ 1 นิ้วสอดระหว่างผ้ากับผิวหนังที่รัดได้ จุดมุ่งหมายของการรัดแบบนี้เพื่อบังคับให้ส่วนที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด (ห้ามใช้เชือกหรือยางรัดโดยเด็ดขาด)
 ห้ามดื่มของมึนเมาหรือกินยากลางบ้าน เนื่องจากอาจเกิดการสำลักและอาเจียน หรือบดบังอาการที่จะแสดงจริงที่เกิดจากพิษงูได้

          ข้อแนะนำในการขันชะเนาะให้ผู้ป่วยคือ เมื่อตำแหน่งที่ถูกกัด ถ้าไม่ตรงกับเส้นเลือด ไม่จำเป็นต้องขันชะเนาะ เพราะพิษงูส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมไปทางหลอดน้ำเหลือง แต่ถ้าเป็นกรณีถูกงูกัดตรงตำแหน่งเส้นเลือดก็จะเหมือนกับการฉีดพิษเข้าสู่เส้นเลือดโดยตรง การขันชะเนาะจะมีความจำเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามคนทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์มักจะไม่ทราบ ดังนั้น เห็นว่าควรแนะให้ขันชะเนาะไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า

          การขันชะเนาะต้องรัดเหนือตำแหน่งที่ถูกกัด รัดแน่นพอประมาณพอที่จะใช้นิ้วมือ 1 นิ้วสอดระหว่างผ้ากับผิวหนังที่รัดได้ ไม่รัดแน่นจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายนั้นไม่ได้ เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อนั้นตาย การจะดูอาการบริเวณปากแผลที่ถูกงูกัดต้องดูหลังจากคลายชะเนาะแล้ว 2 ชั่วโมง และในการคลายชะเนาะออกนั้นควรเตรียมเครื่องมือช่วยเหลือที่จำเป็นเช่น เครื่องช่วยหายใจ เอาไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่ดี

การรักษาโดยวิธีทางการแพทย์

          ในปี ค.ศ.1903 โดย Pearl เป็นคนแรกที่เริ่มให้ความสนใจที่จะใช้ antivenom ในการรักษาผู้ที่ถูกงูทะเลกัด โดยใช้ซีรัมที่ได้จากสถาบันPasteur ซึ่งเป็นซีรัมที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อพิษของงูทะเล ได้นำมาใช้ในผู้ป่วยที่คาดว่าจะถูกงูทะเลชนิด E.schistosa  กัด ประมาณ 24 ชั่วโมงมาแล้ว แต่ไม่มีรายงานว่าได้ผลดีหรือไม่

          ต่อมา ปี ค.ศ.1960 โดย Carey และ Wright มีรายงานยืนยันว่าซีรัมที่ Pearl ใช้นั้นมีผลต่อต้านพิษของงูstชนิด E.schi osa ได้ โดยทดลองในกระต่ายและแกะ และพบว่าพิษของงูทะเลชนิดนี้เป็น poor antigen แต่สามารถต่อต้านพิษงูทะเลบางชนิดได้ นอกจากพิษจากตัวของมันเอง ได้แก่ งูทะเลชนิด Hydrophis cayanocinctus  และ H.spiralis

          สองปีต่อมา (ค.ศ.1962) มีการทดลองผลิตซีรัม โดยใช้พิษจากงูทะเลชนิด L.hardwickii ฉีดเข้าตัวม้าเพื่อสกัดเป็นซีรัม จากการทดสอบพบว่า 1 ม.ล. ของซีรัมใช้ต่อต้านพิษของงูชนิดเดียวกันนี้ได้ 400 ไมโครกรัม และยังให้ผลต่อต้านพิษงูชนิด E.schistosa ได้ 150 ไมโครกรัม และชนิด H.cyanocinctus ได้ 250 ไมโครกรัม โดยมีการนำไปใช้ในผู้ป่วยที่ถูกงูทะเลกัดในเวียดนามใต้ และมีผลยับยั้งอาการอัมพาตที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่มีการนำมาผลิตเป็นการค้าแต่อย่างใด

          สถาบัน CSL (Commonwealth Serum Laboratories) ทำการศึกษาทดลองในช่วงปี ค.ศ.1961-1964 และสามารถผลิต antivenom หรือซีรัมเพื่อทางการค้าได้เป็นรายแรก โดย 100 ยูนิตของซีรัม ได้จากการฉีดพิษงูทะเลชนิด E.schistosa (ภาพที่ 14) ปริมาณ 1 ม.ก. และ ซีรัมปริมาณ 1000 หรือ 2000 ยูนิตจะเริ่มให้ผลใน 3-7 ชั่วโมงหลังฉีดให้ผู้ป่วย แต่อาจมีผลได้เร็วกว่านี้ และบางรายพบว่ามีผลชั่วคราวและผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด สถาบัน CSL ได้ทำการผลิตซีรัมที่สกัดโดยใช้พิษงูทะเลชนิดนี้ และจากงูบกชื่อ Tiger snake (Notechis scutatus) เพื่อใช้ในการรักษาผู่ป่วยที่ถูกงูทะเลกัดโดยเฉพาะ และมีการพัฒนาให้มีความบริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพเรื่อยมา

#สาระน่ารู้
OneManShow007
ตัวประกอบ
สมาชิก VIP
8 ก.ย. 52 เวลา 05:38 8,452 1 24
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...