อาการกังวล ประเภทที่ว่า เมื่อกี้พึ่งปิดไฟห้องแต่พอออกจากห้องกลับไม่แน่ใจว่าปิดไฟหรือยัง จนต้องเข้าไปดูใหม่อีกรอบ หรืออาการที่ไม่แน่ใจว่ามือของตนเองสกปรกหรือเปล่า ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำล้างมือวันละหลายๆรอบเกินความจำเป็นนั้น คงจะเป็นลักษณะอาการที่บางคนเคยพบเห็นกับคนรอบข้างหรือเกิดขึ้นกับตัว เองอยู่เป็นประจำ
ซึ่งอาการเช่นนี้สามารถสร้างความหงุดหงิดในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่ น้อย และคงมีคนไม่มากนักที่จะทราบว่า อาการเหล่านี้ถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า 'โรคย้ำคิดย้ำทำ '
'โรคย้ำคิดย้ำทำ' ( Obsessive-Compulsive Disorder) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะความคิดและการกระทำที่ซ้ำๆ ไม่มีเหตุผลและทำให้เกิดความตึงเครียดต่อผู้ป่วย อาการที่เกิดมีตั้งแต่น้อยจนถึงขั้นรุนแรง และหากไม่ได้รักษา อาจส่งผลถึงขั้นสูญเสียความสามารถด้านการเรียน การงานหรืออาจมีอาการเหล่านี้ไปตลอดชีวิต
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ ประกอบด้วย 'อาการย้ำคิด' (Obsessive) เป็นความคิดหรือแรงผลักดันหรือภาพที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำๆ โดยเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ป่วย อย่างเช่น ความคิดว่ามือสกปรกต้องล้างมือบ่อยๆ ความคิดกลัวอันตรายที่จะเกิดกับตนเองและคนใกล้ตัว ความคิดที่จะต้องทำสิ่งต่างๆให้สมบูรณ์ โดยความคิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาซ้ำๆและผู้ป่วยไม่สามารถหยุดความคิดเหล่านี้ ได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมาก
ส่วน 'อาการย้ำทำ' (Compulsion) เป็นพฤติกรรมที่กระทำซ้ำๆ อันเนื่องมาจากความคิดซ้ำๆนั่นเอง ลักษณะที่พบบ่อย อย่างเช่น ตรวจดูสิ่งของบ่อยเกินไป สวดมนต์ซ้ำๆ การนับซ้ำๆ พูดประโยคซ้ำๆ เป็นต้น ขณะที่ไม่มีอาการผู้ป่วยจะรู้ว่าความคิดและพฤติกรรมซ้ำๆเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ทำให้พยายามควบคุมอาการเหล่านี้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็จะเผลอทำพฤติกรรมซ้ำซากอีก
อย่างไรก็ตาม ทั้งอาการย้ำคิดและย้ำทำนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่เชื่อว่าอาจจะเกิดจากการทำงานของเซลล์สมองที่ผิดปกติ โดยพบว่าผู้ที่มีอาการมีเซลล์สมองน้อยว่าคนปกติในสมองบางส่วน หรืออาจเกิดจากการหลั่งสารบางชนิดผิดปกติ โดยเฉพาะ serotonin รวมทั้งอาจเกี่ยวกับขบวนการเรียนรู้ด้วย
การรักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ มีทั้งการรักษาด้วยการใช้ยาและการบำบัด ซึ่งการรักษาด้วยการใช้ยา ได้แก่ กลุ่มยาต้านการจับตัวของserotonin เช่น tricyclic antidepressant clomipramine,flouxetine,fluvoxamine,paroxetine และsertraline โดยหลังการให้ยาอาการจะเริ่มดีขึ้นใน 3 สัปดาห์ ส่วนการรักษาด้วยการบำบัด คือ การช่วยให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวล ซึ่งมีวิธีกา รคือ จะให้ผู้ป่วยประสบกับสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ จินตนาการหรือภาพต่างๆ และจะพยายามห้ามไม่ให้ผู้ป่วยทำพฤติกรรมซ้ำซาก เรียกวิธีการนี้ว่า exposure and response prevention เช่น หากผู้ป่วยอยากล้างมือก็จะแนะนำให้รออีก 3-4 ชั่วโมงค่อยล้างมือโดยมีผู้ช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่ผู้ป่วยเชื่อฟังหรือนักจิตวิทยา ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 76 มีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนถึง 6 ปี
ทั้งนี้ พบว่าโรคย้ำคิดย้ำทำมักเริ่มในช่วงต้นๆของวัยผู้ใหญ่ พบได้เท่าๆกันทั้งหญิงและชาย โดยมักเกิดกับคนที่พิถีพิถัน เจ้าระเบียบตลอดเวลา แต่ก็ไม่แน่เสมอไป