ถ้ำผีหัวโต

กิจกรรมเที่ยวถ้ำ พายเรือแคนู ดูจะเป็นกิจกรรมยอดนิยมไม่แพ้การทำกิจกรรมอื่นของจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะการเที่ยวถ้ำผีหัวโต ที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี




ถ้ำผีหัวโต เป็นถ้ำในภูเขาที่มีห้วงน้ำล้อมรอบ ภายในถ้ำแบ่งได้เป็น 2 คูหาขนาดใหญ่ มีภาพเขียนศิลปะดั้งเดิม เขียนด้วยสีแดง ดำ เหลือง น้ำตาล น้ำตาลเหลือง น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม สามารถแบ่งภาพเขียนตามบริเวณที่พบได้ 23 กลุ่ม จำนวน 238 ภาพ

    ภายในถ้ำจะมีสภาพของถ้ำโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างส่องเข้าไปถึงสามารถชมภาพเขียนได้ชัดเจน ภายในถ้ำยังมีเปลือกหอยแครงจำนวนมากทับถมกันอยู่จนกลายเป็นหิน



ที่ตั้ง
หมู่ที่ 2 บ้านบ่อท่อ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก

พิกัดทางภูมิศาสตร์
เส้นรุ้งที่ 08o 22' 40" เหนือ เส้นแวงที่ 98o 40' 25" ตะวันออก พิกัดกริดที่ 47 RMK 658262 ระวางที่ 4725 IV

สภาพที่ตั้ง   

ถ้ำอยู่ในเขาของกลุ่มเขาถ้ำลอดใต้ เป็นภูเขาหินปูนในอ่าวพังงาในแนวเทือกเขาภูเก็ต ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 10 เมตร ภูมิประเทศโดยรอบถ้ำเป็นป่าชายเลน มีลักษณะเป็นอ่าวภายใน

            

 

ลักษณะของถ้ำ   

เป็นถ้ำโปร่งมีอากาศและแสงสว่างเข้าไปในถ้ำได้หลายทิศทาง ลมพัดผ่านตลอด มีหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ มีลักษณะเป็นถ้ำที่แท้จริง ทางเข้าถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีความลาดชันประมาณ 45 องศา หน้าถ้ำกว้างพอควร ภายในแบ่งเป็น 2 คูหาใหญ่ มีทางเข้า 2 ทาง ทั้งสองคูหาเดินทะลุถึงกันได้ มีความกว้างขวางและเพดานสูง

หลักฐานทางโบราณคดี
พบเศษกระดูกมนุษย์ และกองเปลือกหอยแครง (Arcidae) จำนวนมากกองสุมอยู่บริเวณพื้นถ้ำ


ภาพเขียนสี   
ภาพเขียนมีปรากฏในถ้ำทั้งสองคูหาตาม
ฝาผนังถ้ำและเพดานเป็นจุดๆ ไปภาพเขียนกลุ่มใหญ่อยู่บนฝาผนังถ้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ในคูหา 2 เขียนต่อเนื่องกันตลอดแนวยาวผนัง


ลักษณะภาพเขียนสีที่ถ้ำผีหัวโตนี้แตกต่างไปจากภาพเขียนสีที่พบในที่อื่นๆ ในประเทศไทย ภาพที่ปรากฏเป็นภาพคน ภาพสัตว์ประเภท นก ไก่ ปลา ปลาหมึก จระเข้? เม่น? และกุ้ง ภาพมือและเท้า? และภาพลายเส้น ซึ่งอาจเป็นภาพเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น แห หรืออวน และเรือ เป็นต้น

ภาพทั้งหมดนั้นมีประมาณ 163 ภาพ ภาพคนนั้นมีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยพบ (ประมาณ 40 ภาพ) มีหลายขนาดด้วยกัน สูงตั้งแต่ 15 ซม. จนถึง 95 ซม. และมีวิธีการเขียนรายละเอียดแตกต่างไม่ซ้ำแบบกันเลย แสดงให้เห็นใบหน้าและเส้นผม ประดับตกแต่งร่างกายหรือมีการแต่งตัวไม่ซ้ำแบบกันเลย แสดงอาการเคลื่อนไหวและอยู่นิ่งเฉยๆ

ภาพปลาก็มีจำนวนมากเช่นกัน เขียนเหมือนธรรมชาติมาก มีรายละเอียดไม่เหมือนกันจนทำให้สามารถบอกได้ว่าภาพปลาบางตัวนั้นเป็นปลาชนิดใด

 















ภาพเขียนเหล่านั้นเขียนด้วยสีแดง น้ำตาลแดง สีดำ และสีเหลือง เขียนในแบบต่างๆ กัน คือ แบบระบายเงาทึบ (silhouette) แบบโครงร่างรอบนอก (outline) และเขียนแบบเค้าโครงร่างรอบนอก แล้วตกแต่งหรือเขียนลวดลายภายในด้วยลายเรขาคณิตเป็นเส้น หรือจุดสี จึงทำให้ภาพมีความ หลากหลายแตกต่างกัน โดยเฉพาะภาพคน มีลักษณะคล้ายภาพคนตามจินตนาการของเด็กๆ ซึ่งเรามักจะพบเห็นในภาพเขียนของเด็กๆในปัจจุบัน


 

ถ้ำผีหัวโตนี้ ภาพที่น่าสนใจและเป็นจุดเด่นของถ้ำนี้ คือภาพที่อยู่บนเพดานใกล้ปากทางเข้าเป็นภาพคนคล้ายสวมเสื้อลายขวางยาวถึงข้อเท้า มีเขา กำลังเดินหันข้าง ซึ่งอาจเป็นคนแต่งกายเลียนแบบสัตว์ อาจเป็นหมอผีหรือผู้ประกอบพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ภาพสูงประมาณ 80 ซม.

สิ่งที่สะท้อนให้เราได้เห็นเจตนาของผู้ที่เขียนภาพที่ถ้ำผีหัวโตนี้ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความงาม แต่เป็นความต้องการที่จะบอกเล่าถึงสิ่งที่พบเห็น และ/ หรือ อาจมีความเชื่อบางอย่างแฝงอยู่ด้วย เช่น ภาพปลาที่มีเป็นจำนวนมากและมีลักษณะแตกต่างกันไป ดูเหมือนพยายามอธิบายชนิดของปลา ซึ่งอาจหมายถึงแหล่งอาหาร ปลาชนิดที่กินได้ หรือปลาที่หายาก หรือเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมบางอย่างเพื่อความมั่นใจในการหาปลา หรือแสดงความเคารพต่อ (ปลา) สิ่งที่ช่วยให้พวกตนดำรงชีวิตอยู่ได้

   
ภาพคนกับภาพสัตว ์(รวมทั้งภาพคนแต่งกายเลียนแบบสัตว์?) หรือกับสิ่งของมักจะเขียนอยู่ร่วมกัน หรือใกล้ๆ กันน่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่ง ดังเช่น ภาพคนที่มีนกเกาะอยู่บนแขนข้างซ้ายแทบทุกภาพและมีจำนวนมาก บางภาพเขียนร่วมอยู่กับภาพเรืออาจต้องการแสดง ให้เห็นว่านก (หรือเหยี่ยว) ที่เกาะอยู่บนแขนนั้นเป็นสัตว์เลี้ยง อาจช่วยในการจับปลาหรือหาปลา หรือนำทางไปหาแหล่งอาหาร หรือเป็นสัตว์นำโชค (ถือโชคลาง) หรืออาจมีความหมายเนื่องในพิธีกรรมความเชื่อ ดังเช่น พวกชาวเลหรือชาวทะเลอื่นๆ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ท่องเที่ยวเดินทางร่อนเร่อยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ และท้องทะเลในทะเลอันดามันมาช้านานมาก เชื่อว่าบรรพบุรุษของเขาตายไปจะอยู่ในร่างนก คอยคุ้มครองและบอกเหตุอันตรายแก่พวกเขา และเชื่อในโลกสวรรค์และนรก เมื่อมีคนตาย "นก" จะนำวิญญาณของผู้ตายหรือบรรพบุรุษของตนไปสู่สวรรค์โดยใช้เรือเป็นพาหนะเดินทาง

                     

     

จากรูปลักษณ์ของภาพที่มีแตกต่างปะปนกันหลายแบบและภาพมีความซ้อนทับกัน เป็นไปได้ว่ามีกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการจับสัตว์น้ำเป็นหลัก โดยใช้เรือแพเป็นพาหนะเดินทาง เข้ามาใช้ถ้ำนี้พักอาศัยและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ หรือทำกิจกรรมสำคัญบางอย่างเป็นครั้งคราว และดำเนินการติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีคนหลายกลุ่มเข้ามาใช้ประโยชน์จากถ้ำนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผลงานเขียนภาพที่ถ้ำผีหัวโตนี้แสดงถึงจินตนาการของผู้วาดภาพที่ถ่ายทอดและสื่อความหมายออกมาเป็นรูปแบบของภาพที่แตกต่างจากแหล่งภาพเขียนแหล่งอื่นๆ เท่าที่พบในประเทศไทย

       

นอกจากจะพบภาพเขียนศิลปะดั้งเดิมที่ถ้ำผีหัวโต ยังสามารถพบภาพเขียนได้ที่แหลมไฟไหม้ แหลมถ้ำเจ้ารี และแหลมท้ายแรด ซึ่งแต่ละแห่งก็มีความสวยงามตามธรรมชาติแตกต่างกันไปด้วย ข้อมูลเพิ่มเติม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

http://www.era.su.ac.th/RockPainting/south/phihuoto/index.html

http://travel.thaiza.com/ชมภาพเขียนสีที่+ถ้ำผีหัวโต-189210.html


                  

Credit: http://atcloud.com/stories/86574
9 ส.ค. 53 เวลา 14:29 10,173 37 418
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...