ประดิษฐ์จากทองคำ จุฬาฯทำขึ้นทูลเกล้าฯ แด่ 'พระราชินี' วันแม่
จุฬาฯ ใช้ฤกษ์วันแม่แห่งชาติ เตรียมทูลเกล้าฯ ถวาย ดอกมะลิทองคำนาโน แด่ 'พระราชินี'
เผย เป็นผลงานที่นักวิจัยจุฬาฯ สังเคราะห์ดอกมะลิทองคำได้เป็นครั้งแรกของโลก เป็นดอกขนาดเล็กมากจนไม่สามารถ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เตรียมจัดทำภาพขยายอนุภาคและอนุภาคจริง ส่วน “รองฯ สุเทพ” คาด ช่วงจัดงานมงคลวันแม่แห่ง ชาติไม่มีเหตุร้าย ด้านหลายพื้นที่ทำกิจกรรม เฉลิมพระเกียรติกันต่อเนื่อง
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี และหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
แถลงกรณีการ สังเคราะห์ดอกมะลิทองคำนาโนครั้งแรกของโลก โดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์ฯ เผยว่า ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีฯ หน่วยงานภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรม การการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ดอกมะลิทองคำนาโนเป็นครั้งแรกของโลก ต้อนรับวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ปีนี้
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า ถือเป็นวาระที่ดีอีกครั้งของจุฬาลงกรณ์ฯ ที่จะถวายความจงรักภักดี ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยการคิดค้นงานวิจัยดังกล่าวพร้อมเตรียมจัดทำภาพขยายอนุภาค ดอกมะลิทองคำนาโนและอนุภาคจริง ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาเคมี กล่าวว่า เป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของตนและทีมวิจัย
ที่สามารถสังเคราะห์ดอกมะลิทองคำนาโนขึ้นได้ แม้จะไม่สามารถ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะเป็นอนุภาคระดับนาโนเมตรของทองคำรูปดอกมะลิ คณะนักวิจัยตรวจสอบรูปร่าง ขนาด และเอกลักษณ์ความเป็นอนุภาคระดับนาโนเมตรของดอกมะลิทองคำนาโนด้วยกล้องจุล ทรรศน์ และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และสมบัติ เชิงแสง และความสามารถในการทำเป็นเซ็นเซอร์ด้วยเครื่องรามานสเปก โทรมิเตอร์ โดยดอกมะลินาโนดังกล่าวมีขนาด 20 ไมโครเมตร กลีบดอกมีขนาด 2-10 ไมโครเมตร แต่ละกลีบดอกมีความหนา 30-60 นาโนเมตร
รศ.ดร.สนอง กล่าวอีกว่า การสังเคราะห์ดอกมะลิทองคำนาโนเป็นงานวิจัยต่อยอดมาจากการสังเคราะห์ดอกกุหลาบทองคำนาโนในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการสังเคราะห์อนุภาคทองคำนาโนให้มีคุณสมบัติที่หลากหลายซึ่งพร้อมนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยดอกมะลิทองคำนาโนที่สังเคราะห์ได้ นักวิจัยซื้อเม็ดทองคำ 99.99% มาเปลี่ยนเป็นทองคลอไรด์ด้วยวิธีทางเคมี ก่อนเปลี่ยนเป็นทองไอออน และทองนาโน เพื่อนำไป บังคับให้โตเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามที่ต้องการในขั้นตอนสุดท้าย
“ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้ดอกมะลิ ทองคำนาโนเป็นเซ็นเซอร์ คือการประยุกต์ใช้งานด้านการตรวจสอบเชิงโมเลกุลของสารเคมี เช่น การตรวจสอบวัตถุระเบิด ยาเสพติด สารพิษตกค้างในน้ำ อาหาร ผัก ผลไม้ ตรวจสอบน้ำสะอาด อาหารปลอดภัย ก๊าซพิษในอากาศโดยเฉพาะสารที่ไม่มีกลิ่นและการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้การสังเคราะห์ดอกมะลิทองคำนาโน ทีมวิจัยสามารถควบคุมโครงสร้างที่ซับซ้อนได้แม่นยำและพร้อมที่จะส่งต่อเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว โดยอนาคตประโยชน์จากการวิจัยคือการมีองค์ความรู้ที่ลดการนำเข้าอนุ ภาคนาโนทองคำได้มูลค่ามหาศาล” รศ.ดร. สนอง กล่าว