จีนไอเดียบรรเจิด เตรียมเปิดระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ "3D Express Coach" (นิคเนม "สเตรดดิ้ง บัส") ครั้งแรกในโลก หวังลดปัญหาการจราจรติดขัด และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านขนส่งมวลชน โดยจะเริ่มก่อสร้างโครงการนำร่องระยะทาง 186 ก.ม. ที่เขตเหมินโถวโกว ในกรุงปักกิ่งราวปลายปีนี้
หากมองเผินๆ ระบบขนส่งมวลชน "3D Express Coach" หรือ "สเตรดดิ้ง บัส" นวัตกรรมล่าสุดจากแดนมังกร อาจแลดูคล้ายรถไฟแบบเบา (light-rail train) หรือรถไฟใต้ดินกำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน (โดยมีรถยนต์วิ่งอยู่ใต้รถไฟใต้ดินอีกที) ซึ่งถือเป็นไอเดียสุดล้ำที่ บริษัท เซินเจิ้น ฮาชิ ฟิวเจอร์ พาร์กิ้ง อีควิปเมนท์ จำกัด นำมาเปิดตัวครั้งแรกในงาน "ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล ไฮเทค เอ็กซ์โป" เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
China straddling bus
[ENGLISH voice over] tall giant bus train
the only English video
ทางบริษัทฯ ระบุว่า ปัจจุบันนี้ จีนมีระบบขนส่งมวลชนหลักๆ อยู่ 4 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน, รถไฟแบบเบา, รถเมล์บีอาร์ที (รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ) และรถเมล์ธรรมดา ซึ่งต่างก็มีข้อดี-เสียแตกต่างกันไป แต่การตัดถนนเพิ่ม สร้างส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดิน หรือเพิ่มปริมาณรถโดยสารเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และอาจส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ตามมา เช่น รถไฟใต้ดินต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลาในการก่อสร้างนาน ส่วนรถเมล์บีอาร์ทีก็สิ้นเปลืองพลังงาน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางเสียง ทั้งยังทำให้พื้นผิวการจราจรแน่นหนา และเกิดปัญหาการจราจรติดขัด
ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทฯ จึงคิดค้นระบบขนส่งมวลชน "สเตรดดิ้ง บัส" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับผู้โดยสารได้คราวละมากๆ ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และใช้งบประมาณในการก่อสร้างต่ำ (เพียง 10% ของค่าก่อสร้างรถไฟใต้ดิน) โดยผสมผสานข้อดีของรถเมล์บีอาร์ทีและรถไฟใต้ดินเข้าด้วยกัน ซึ่งทางบริษัทหวังว่า "สเตรดดิ้ง บัส" จะมาแทนที่รถบีอาร์ทีและรถไฟใต้ดินในอนาคต
รถโดยสาร "สเตรดดิ้ง บัส" มีความสูง 4.5-5.5 เมตร กว้าง 6 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการออกแบบให้เป็นรถโดยสารที่มี 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องโดยสาร ส่วนชั้นล่างเปิดโล่งเพื่อให้รถยนต์ที่มีความสูงไม่เกิน 2 เมตรวิ่งลอดใต้ท้องรถได้ จึงไม่กีดขวางการจราจรแม้ในขณะจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร สามารถรองรับประชาชนได้ครั้งละ 1,200-1400 คน และวิ่งได้ด้วยความเร็ว 40-60 ก.ม./ช.ม.
นอกจากโครงการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลักได้มากถึง 25-30%, ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้มากถึง 860 ตัน/ปี, ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 2,640 ตัน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังใช้เงินลงทุนเพียง 500 ล้านหยวน (2.4 พันล้านบาท) แถมระยะเวลาในการก่อสร้างก็สั้นกว่าเมื่อเทียบกับรถไฟใต้ดิน
อย่างไรก็ตาม ในการวางระบบรถโดยสาร "สเตรดดิ้ง บัส" จำเป็นต้องตรวจสอบและปรับปรุงสภาพถนนก่อน จากนั้นก็วางระบบซึ่งสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ติดตั้งราง 2 ฟากถนน ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน 30% หรืออาจทาเส้นสีขาวแทนราง และใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ (auto-pilot) เพื่อให้รถวิ่งตามเส้นที่กำหนดไว้
ในส่วนของสถานีจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร สามารถสร้างได้ 2 แบบ คือ แบบให้ผู้โดยสารเข้า-ออกบริเวณด้านข้างเหมือนรถไฟใต้ดิน และแบบขึ้น-ลงทางบันไดที่อยู่ภายในตัวรถ
ด้านความปลอดภัย บริเวณท้ายรถยังมีระบบตรวจสอบความสูงของรถที่วิ่งตามมา เพื่อป้องกันและคอยเตือนไม่ให้รถที่สูงเกิน 2 เมตรวิ่งผ่านใต้ท้องรถ ขณะที่อุโมงค์ใต้ท้องรถก็มีระบบเรดาร์คอยสแกนและเตือนไม่ให้รถยนต์วิ่งใกล้ล้อรถมากเกินไป อีกทั้งยังมีสัญญาณไฟเลี้ยวคอยบอกให้รถที่วิ่งอยู่ทางด้านล่างรู้ล่วงหน้าว่า "สเตรดดิ้ง บัส" กำลังจะวิ่งไปในทิศทางใด
และในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดเพลิงไหม้ บริเวณประตูรถทางด้านข้างก็จะเปิดออกโดยอัตโนมัติ และทำหน้าที่เป็นบันไดฉุกเฉินให้ผู้โดยสารสไลด์ตัวลงมาทางด้านล่างในลักษณะ เดียวกับบันไดฉุกเฉินบนเครื่องบิน
ทั้งนี้ ทางการจีนมีแผนก่อสร้างโครงการนำร่องระบบขนส่งมวลชน
"3D Express Coach" หรือ "สเตรดดิ้ง บัส" ระยะทาง 186 ก.ม.
ที่เขตเหมินโถวโกว ในกรุงปักกิ่งราวปลายปีนี้