?ฝนดาวตก? สายธารลำแสงฝุ่นละอองอวกาศ

 

 

เศษฝุ่นเสียดสีชั้นบรรยากาศกลายเป็น “ผีพุ่งไต้”
   

   
ทุกวันสะเก็ดดาว (meteoroid) จะผ่านชั้นบรรยากาศโลกเข้ามาและเสียดสีจนเกิดความร้อน แล้วเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจนเกิดแสงสีต่างๆ ตามองค์ประกอบของสะเก็ดดาวนั้นๆ กลายเป็น “ดาวตก” (Meteor) หรือ “ผีพุ่งไต้” ทั้งนี้สะเก็ดดาวส่วนใหญ่มีขนาดราวก้อนกรวดและจะเห็นได้ที่ระดับความสูง 65-120 กิโลเมตรจากพื้นโลก และเผาไหม้หมดที่ระดับความสูง 50-95 กิโลเมตร แต่หากเผาไหม้ไม่หมดและตกกระทบลงพื้นโลกเราจะเรียกว่า “อุกกาบาต” (meteorite)
   
   
ทั้งนี้ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 100,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวทำให้วัตถุขนาดเล็กที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศถูกเสียดสีจนมีความร้อนหลายพันองศาเซลเซียส และเผาไหม้หมดภายในเสี้ยววินาที ทิ้งไว้เพียงแสงสว่างวาบ และฝุ่นควันที่ปลิวอยู่ในอากาศ หรือที่เรียกว่า "ดาวตก" นั่นเอง ซึ่งหากอยู่ในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทเราอาจเห็นดาวตกทั่วๆ ไปได้นับสิบดวง
   
   

ต่างไปจากดาวตก “ฝนดาวตก” (Meteor Showers) จะเกิดในช่วงเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอและมีจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) ซึ่งมักจะตรงกับกลุ่มดาวต่างๆ ซึ่งเราตั้งชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) มีจุดกระจายฝนดาวตกที่กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) มีจุดกระจายฝนดาวตกอยู่ที่กลุ่มดาวสิงโต (Leo) และฝนดาวตกไลริดส์ (Lyrids) มีจุดกระจายฝนดาวตกที่กลุ่มดาวพิณ (Lyra) เป็นต้น
   
   

ฝนดาวตกต่างมีจุดกำเนิดจากสายธารฝุ่นที่ดาวหางหรืออุกกาบาตทิ้งไว้เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ เช่น ดาวหางฮัลเล่ย์ (Halley) อันโด่งดังได้ทิ้งสายธารฝุ่นที่เป็นกำเนิดฝนดาวตกเอตา อควาริดส์ (Eta Aquarids) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 28 เม.ย.-21 พ.ค. แต่จะเห็นได้มากที่สุดในวันที่ 6 พ.ค. ส่วนฝนดาวตกลีโอนิดส์อันโด่งดังเกิดจากสายธารฝุ่นของดาวหางเทมเปล-ทัตเทิล (Tempel-Tuttle) เป็นต้น
   

   
นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนใจ และศึกษาฝนดาวตกในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี่เอง จากเดิมที่เคยเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศโลกเอง ส่วนคนไทยเริ่มตื่นตัวกับฝนดาวตกกันเมื่อสิบกว่าปีก่อน จากการมาเยือนของฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่สวยงาม แม้จะเกิดขึ้นทุกปีแต่ฝนดาวตกชุดนี้ได้สร้างสีสันมากที่สุดในปี 2541 และ 2544
   

   
แม้ไม่ใช่ฝนดาวตกชุดที่มีจำนวนเยอะสุดแต่ลีโอนิดส์กลับเป็นที่รู้จักของคนไทยมากที่สุด และมีดาวตกลูกไฟ (fireball) ที่มีสีสันจัดจ้านมากกว่าฝนดาวตกชุดอื่นๆ ขณะที่ฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นชุดฝนดาวตกที่ช่วงตกชุกมีจำนวนฝนดาวตกมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง แต่สีสันไม่โดดเด่นเท่า

 

 



ภาพฝนดาวตกเพอร์เซอิดเหนือท้องฟ้าสหรัฐฯ เมื่อปี 2007 (Tony Wilder)



12 สิงหาฮือฮา “ฝนดาวตกวันแม่”
   
   
สำหรับ “วันแม่” ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ส.ค.จะมี “ฝนดาวตก” ที่โปรยปรายลงมาอย่างสม่ำเสมอทุกปี จนถูกขนานนามว่า “ฝนดาวตกวันแม่” ส่วนชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิด” (Perseid) ที่ตั้งตามชื่อกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) จุดกระจายของฝนดาวตกชนิดนี้ ซึ่งสายธารฝุ่นของดาวหางสวิฟต์ ทัตเทิล (Swift-Tuttle) ที่มีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ 130 ปี แต่คนไทยมักพลาดชมฝนดาวตกนี้ เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนไม่เอื้ออำนวย และในบางปีมีแสงจันทร์รบกวน
   

   
สำหรับฝนดาวตกที่สว่างเจิดจ้าและเป็นรู้จักและกล่าวขานกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่โปรยปรายลงมาในช่วง 12-13 พ.ย.พ.ศ.2376 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “พายุดาวตก” (meteor storm) ซึ่งคาดว่ามีจำนวนฝนดาวตกมากถึง 240,000 ดวง ผู้คนที่หลับใหลต่างตื่นขึ้นมาด้วยความตระหนกว่าท้องฟ้าลุกเป็นไฟ และหวั่นวิตกว่าโลกกำลังจะพบจุดจบ
   

   
การชมฝนดาวตกนั้น สิ่งสำคัญคือต้องหาทำเลที่เหมาะสม สถานที่มืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวนและเป็นที่โล่งจะเหมาะอย่างยิ่งต่อการชมปรากฏการณ์โปรยปรายฝุ่นดาวหางและอุกกาบาตที่พุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลก และควรจะนอนชม แต่ไม่จำเป็นต้องเพ่งไปยังจุดกระจายฝนดาวตก เนื่องจากเราเห็นดาวตกได้ทั่วท้องฟ้า

 



ภาพเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดซึ่งเกิดจากฝุ่นดาวหางสวิฟต์-ทัทเทิล
(ด้านซ้าย) ส่วนแผนภาพด้านขวาแสดงตำแหน่งในการสังเกตฝนดาวตกที่มีจุดกระจายฝนดาวตกที่กลุ่มดาวเพอร์ซิอุส



บันทึกภาพ “ฝนดาวตก”
   
   

นอกจากการชมด้วยตาเปล่าแล้ว หลายคนอยากบันทึกภาพปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ไว้ แต่การบันทึกภาพฝนดาวตกไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะดาวตกแต่ละดวงปรากฏในเสี้ยวเวลาสั้นๆ จนไม่มีเวลามากพอให้เรากดชัตเตอร์ อีกทั้งเราไม่อาจทราบได้ว่าดาวตกจะมาจากทิศใดบ้าง นอกจากนี้ความชื้นและอากาศหนาวเย็นยังมีผลต่อการทำงานของกล้องด้วย
   
   

เทคนิคง่ายๆ จาก โรเบิร์ต ลุนส์ฟอร์ด (Robert Lunsford) จากสมาคมศึกษาดาวตกอเมริกัน (American Meteor Association) แนะนำว่า การถ่ายภาพดาวตกก็เหมือนกับการตกปลา ซึ่งเมื่อเราตั้งกล้องก็คาดหวังว่าจะบันทึกภาพดาวตกได้สักดวง และสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือตั้งอุปกรณ์บันทึกให้ปราศจากแสงรบกวน หันหน้ากล้องไปยังท้องฟ้าบริเวณที่ต้องการบันทึก โดยใช้ขาตั้งกล้องหรือฐานที่มั่นคง 
   
   

หากอยู่ในทำเลที่มืดสนิทสามารถเปิดหน้ากล้องได้นานถึง 10 นาที แต่หากอยู่ในสถานที่สว่างขึ้นมาหน่อยการเปิดหน้ากล้องเพียง 5 นาทีก็เพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจได้ภาพมัวๆ จากการเปิดหน้ากล้องนานเกินไป ทั้งนี้ “มลภาวะทางแสง” นั้นเป็นอุปสรรคที่จำกัดเวลาในการเปิดหน้ากล้อง
   
   

แม้ว่าปัจจุบัน ฝนดาวตกยังมีปริศนาให้นักวิทยาศาสตร์ได้ตามไข แต่อย่างน้อยเราก็มีข้อมูลมากพอที่จะไม่ตื่นตระหนกหากวันหนึ่งวันใดเราได้เผชิญกับ “พายุดาวตก” อีกครั้ง และประกายลูกไฟที่โปรยปรายจากท้องฟ้านี้ยังช่วยให้เราติดตามร่องรอยการเดินทางของวัตถุอวกาศที่โคจรทับวงโคจรโลก และนำไปสู่การเฝ้าระวังการพุ่งชนจากวัตถุอวกาศเหล่านั้น

 

 



บางครั้งการสังเกตฝนดาวตกต้องลงทุนนั่งเครื่องบินขึ้นไปสังเกตปรากฏการณ์ใกล้ๆ
ซึ่งในภาพนี้เป็นการศึกษาฝนดาวออริกิดส์ของสถาบันเซติ

 

 



ภาพฝนดาวตกเพอร์เซอิดเหนือท้องฟ้าอาริโซนา สหรัฐฯ เมื่อปี 2007 (David Wheat)

 



ภาพวาดบันทึกเหตุการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อปี 1833



นักดาราศาสตร์สังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดเมื่อปี 2007 (เดลีเมล)


อ้างอิงข้อมูล

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)
สมาคมดาราศาสตร์ไทย
ไซน์เดลี
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000106739

 





โลกอาบ “ฝนดาวตก” เกือบทุกเดือน


เราอาจรู้จักฝนดาวตกเพียงไม่กี่ชุด แต่อันที่จริงมีฝนดาวตกที่ได้รับการรับรองแล้วถึง 64 ชุด และยังมีฝนดาวตกชุดอื่นๆ ที่รอการรับรองอย่างเป็นทางการกว่า 300 ชุด เรียกได้ว่าโลกของเราได้ผ่านเข้าไปในเส้นทางเศษฝุ่นของวัตถุอวกาศที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปี 
   
   
สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือไอเอยู (International Astronomical Union : IAU) ที่ลดชั้นดาวพลูโตลงไปเป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) มีรายชื่อฝนดาวตกทั้งหมด 365 ชุด ในจำนวนนั้นได้รับรองไปเพียง 64 ชุด ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ได้เลือกชุดฝนดาวตกที่น่าสนใจ มาให้รู้จักกันดังต่อไปนี้



ควอดรานติดส์ (Quadrantids) 
   
เป็นฝนดาวตกส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จากฝุ่นดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) วันที่จำนวนดาวตกสูงสุดตรงกับ 3 ม.ค.
   

เอพริล ลิริดส์ (April Lyrids) 
   
เป็นฝนดาวตกจากฝุ่นดาวหางธัทเชอร์ (Thatcher) วันที่จำนวนดาวตกสูงสุดตรงกับ 22 เม.ย.
   

ไพ พัพพิดส์ (pi Puppids) 
   
เป็นฝนดาวตกจากฝุ่นดาวหาง 26พี/กริกก์-เจลเลอรัพ (26P/Grigg-Skjellerup) สังเกตปรากฏการณ์ได้ระหว่างวันที่ 15-28 เม.ย. โดยมีจำนวนดาวตกสูงสุดในวันที่ 23 เม.ย.

   
เอตา อควารีดส์ (eta Aquariids) 
   
ฝนดาวตกจากฝุ่นดาวหางฮัลเล่ย์ (Halley) อันโด่งดัง วันที่จำนวนดาวตกสูงสุดตรงกับ 6 พ.ค.

   
จูน บูติดส์ (June Bootids) 

เป็นฝนดาวตกซึ่งเกิดจากฝุ่นดาวหาง 7พี/พอนส์-วินเนค (7P/Pons-Winnecke) เกิดปรากฏการณ์ในช่วง 26 มิ.ย. 2 ก.ค. แต่มีจำนวนดาวตกสูงสุดในวันที่ 27 มิ.ย.

   
เพอร์เซอิด (Perseids) 
   
มีช่วงจำนวนดาวตกสูงสุดวันที่ 12-13 ส.ค. ซึ่งโดยฝนดาวชุดนี้มีจำนวนมากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกชุดนี้เกิดจากดาวหางสวิฟต์-ทัทเทิล (Swift-Tuttle) ซึ่งฝุ่นของดาวหางนี้ผ่านเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วถึง 212,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
   

ออริกิดส์ (Aurigids) 
   
เป็นฝนดาวตกจากฝุ่นดาวหางคีสส์ (Kiess) ซึ่งสังเกตปรากฏการณ์ได้ระหว่าง 20-23 ส.ค. ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเซติ (SETI Institute) ของสหรัฐฯ มีโครงการศึกษาฝนดาวตกชุดนี้โดยขึ้นเครื่องบินไปสังเกตการณ์และบันทึกภาพปรากฏการณ์

   
ลีโอนิดส์ (Leonids) 
   
มีจำนวนดาวตกสูงสุดวันที่ 17 พ.ย. ฝนดาวตกชุดนี้ได้ชื่อว่าเป็นราชาฝนดาวตก โดยฝุ่นจากดาวหาง 55พี/เทมเปล-ทัทเทิล (55P/Tempel-Tuttle) เป็นแหล่งกำเนิดของฝนดาวชุดนี้ ช่วงปีที่เราสังเกตฝนดาวตกชุดนี้ได้ดีที่สุดคือระหว่างปี 1998-2002 ซึ่งจากการลงความเห็นของผู้สังเกตการณ์ระบุว่าลีโอนิดส์ในปี 1998 เป็นชุดดีที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยสังเกตมา และช่วงสูงสุดของปี 1998 และ 2001 มีจำนวนดาวตกมากถึง 3,000 ดวงต่อชั่วโมง
   

   
ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) 
   
มีช่วงจำนวนดาวตกสูงสุดวันที่ 13-14 ธ.ค. ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า ฝนดาวตกชุดนี้เกิดจากฝุ่นของ “3200 เฟตอน” (3200 Phaethon) ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย แต่ปัจจุบันเข้าใจใหม่ว่าเป็นดาวหางที่สลายไปแล้ว และในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาเจมินิดส์มีจำนวนดาวตกชุกมากขึ้น โดยเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมาคาดว่าช่วงสูงสุดมีจำนวนดาวตกมากถึง 140 ดวงต่อชั่วโมง และคาดว่าแนวโน้มจำนวนดาวตกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัสดึงให้สายธารฝุ่นของดาวตกชุดนี้เข้าใกล้โลกมากขึ้นเรื่อยๆ



แผนภาพแสดงการเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์จากจุดกระจายฝนดาวตก
บริเวณกลุ่มดาวสิงโต (surveyor.in-berlin.de)

 



แผนภาพแสดงการเกิดฝนดาวตก อีตา อควารีดส์ ซึ่งอยู่ใกล้กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์(surveyor.in-berlin.de)

 



ภาพการเกิดฝนดาวตกเอพริล ลิริดส์ โดยมีจุดกระจายฝนดาวตกที่กลุ่มดาวพิณ (surveyor.in-berlin.de)

 



แผนภาพแสดงการเกิดฝนดาวตกเพอร์เซอิด ซึ่งมีจุดกระจายฝนดาวตก
ใกล้กลุ่มดาวเพอร์ซิอุส (surveyor.in-berlin.de)

 



แผนภาพแสดงการเกิดฝนดาวตกออริกิดส์




สำหรับผู้สนใจสามารถค้นรายชื่อฝนดาวตกชุดอื่นๆ ได้
ในเว็บไซต์องค์กรศึกษาดาวตกระหว่างประเทศ @ http://www.astro.amu.edu.pl/~jopek/MDC2007/index.php



ที่มา

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000107384

Credit: http://atcloud.com/stories/86481
6 ส.ค. 53 เวลา 13:48 3,365 26
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...