ชมความงาม พระราชวังเดิม



พระราชวังเดิม



พระราชวังเดิม 
 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก th.wikipedia

          เมื่อครั้นที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายราชธานีจาก กรุงศรีอยุธยา มาตั้งราชธานีใหม่ที่ กรุงธนบุรี ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "พระราชวังเดิม" หรือ "พระราชวังกรุงธนบุรี" จนในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ ทรงพระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนนายเรือ จากนั้น พ.ศ. 2449 โรงเรียนนายเรือ ย้ายออกไป กองทัพเรือ จึงได้ใช้ พระราชวังเดิม แห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ อะ ๆ เรื่องราวของ พระราชวังเดิม ยังมีให้อีกมามาย แถม พระราชวังเดิม ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ๆ อีกเพียบ ถ้าอยากรู้ตามเราเข้าไปชมเลย ...

          พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในเขตที่เคยเป็นที่ตั้งของ ป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญด้วย

 


 


พระราชวังเดิม
 


          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้สร้าง พระราชวังเดิม ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2310 ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พร้อมกับปรับปรุง ป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แต่เดิมพระราชวังแห่งนี้มีอาณาเขตตั้งแต่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า "พระราชวังเดิม" ตั้งแต่บัดนั้น

          ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองที่กล่าวแล้วอยู่ภายนอกพระราชวัง นอกจากนี้ ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับที่นี่ อันเนื่องจากเห็นว่าพระราชวังนี้มีความสำคัญทางด้านทำเลที่ตั้ง จนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจาก นายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2449 หลังจากโรงเรียนนายเรือย้ายออกไปอยู่สัตหีบ และย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ กองทัพเรือจึงได้ใช้ พระราชวังเดิม แห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือจวบจนปัจจุบัน

 


 


สถานที่สำคัญบริเวณพระราชวังเดิม

          อาคารท้องพระโรง : เป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยพระที่นั่งองค์ทิศเหนือและองค์ทิศใต้เชื่อมต่อกัน ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดงาน ประกอบพิธีสำคัญ รับรองบุคคลสำคัญและห้องประชุม

          พระตำหนักเก๋งคู่ : หลังใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนและไทย หลังคาทรงจั่วแบบจีน ลวดลายจีนที่ตกแต่งจั่วและคอสองเขียนสีแบบปูนเปียก ส่วน พระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 - 2

          ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว : เป็นตึกแบบอเมริกันถือเป็น "ตำหนักแบบตะวันตกองค์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์" สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯประทับอยู่ที่นี้

 

 
 


          ศาลสมเด็จพะเจ้ากรุงธนบุรี : เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลักษณะอาคารเป็นทรงไทยผสมแบบตะวันตก ตัวอาคารยกสูงมีใต้ถุนล่าง ภายในศาลพระเจ้าตาก ประดิษฐานเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลักษณะประทับยืนทรงพระแสดงดาบ ขนาดเท่าองค์จริง พระบรมรูปประทับนั่งขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต 1 องค์ และเทวรูปจีนแกะสลักด้วยไม้ปิดทองอีก 1 องค์ มีปืนโบราณพร้อมฐาน 2 กระบอกประดับเชิงบันไดชั้นล่าง ทั้งนี้ ศาลพระเจ้าตากสินนี้มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยแรกเป็นแต่เพียงศาลพระภูมิสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสร้างบูรณะพระราชวังเดิมของพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "ศาลพระเจ้าตาก"


 


 
ป้อมวิไชยประสิทธิ์
 


          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ : เป็นป้อมสำคัญที่ใช้ป้องกันข้าศึกตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ทางเหนือของปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) โดยมีป้อมคู่กันอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน แต่ได้รื้อออกไปแล้วในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา โดย ป้อมวิไชยประสิทธิ์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ ป้อมบางกอก หรือ ป้อมวิไชยเยนทร์ ตั้งตามชื่อของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่เป็นผู้กราบบังคมทูลให้สร้างป้อมแห่งนี้ เพื่อป้องกันเรือรบของฮอลันดา ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณป้อมนี้ พร้อมกับปรับปรุงป้อมพระราชทานนามว่า "ป้อมวิไชยประสิทธ์"

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ มีสถาปัตยกรรมเป็นป้อมก่ออิฐฉาบปูน มีกำแพงรูปแปดเหลี่ยม 2 ชั้น สร้างขนานกัน กำแพงชั้นในมีหอคอยกลมทรงสอบสองหลัง ตั้งอยู่บนกำแพงตรงมุมด้านทิศเหนือและทิศใต้ ปัจจุบัน ป้อมวิไชยประสิทธิ์ อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือไทย ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และมีการติดตั้งเสาธงบริเวณทางเข้าป้อมทางทิศตะวันตกตรงกำแพงชั้นใน เพื่อชักธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือ

          อาคารเรือนเขียว : อาคารโรงพยาบาลเดิม (โรงพระยาบาลนักเรียน) เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงจำนวน 2 หลัง ตั้งอยู่บริเวณ "เขาดิน" ซึ่งเป็นเนินดินตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ภายในเขตกำแพงใน พระราชวังเดิม โดยอาคารเรือนเขียวนี้ได้รับการก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุง พระราชวังเดิม เพื่อใช้เป็นโรงเรียนนายเรือ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลนักเรียนนายเรือซึ่งเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งอาคารโรงพยาบาลของนักเรียนนี้ได้ใช้งานมาตลอดช่วงที่โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ ณ พระราชวังเดิม โดยคงจะมีการสร้างเรือนไม้ชั้นเดียวเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยสองหลังเพื่อใช้เป็นห้องผสมยาและห้องแพทย์ ทางด้านทิศใต้ของอาคารหลังใหญ่ โดยมีสะพานไม้เป็นทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้งสามหลัง ในปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงเรือนไม้เฉพาะที่เป็นห้องผสมยาและสะพานไม้เท่านั้น

          ศาลศีรษะปลาวาฬ : ในการขุดสำรวจพื้นที่ระหว่าง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ พระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ระหว่างการบูรณะได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 4.5 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางเอกสารประกอบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นอาคาร ศาลศีรษะปลาวาฬ ซึ่งบันทึกไว้ว่าเป็นเก๋งจีนชั้นเดียวคล้ายศาลเจ้าจีน ภายในเก๋งมีกระดูกปลาวาฬ ศาลนี้ได้พังลงมาในวันที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2443 แล้วไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่อีก แต่ได้นำกระดูกปลาวาฬมาเก็บรวมไว้ที่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทั้งนี้ ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าศาลนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยใด เมื่อกองทัพเรือได้ใช้ พระราชวังเดิม เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือได้รื้อซากศาลลงแล้วปรับระดับดินในพื้นที่ให้สูงขึ้น เพื่อการใช้งานใหม่โดยนำดินจากบริเวณอื่นมากลบทับจนหมด ดังนั้น ในการขุดแต่งจึงพบหลักฐานน้อยมาก
 

3 ส.ค. 53 เวลา 18:07 3,688 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...