===> ภารกิจมาร์สเอกซ์พลอเรชั่นโรเวอร์ <===
บริเวณลงจอดของยานสปิริต ภาพซ้ายถ่ายจากยานสปิริต ภาพขวาถ่ายจากยานมาร์สโอดิสซีย์ - ภาพ NASA
ภาพ 3 มิติที่ได้จากยานสปิริต - ภาพ NASA
( ภาพและข้อมูลจาก http://thaiastro.nectec.or.th ครับ)
หลังจากที่องค์การอวกาศยุโรปส่งยานอวกาศที่มีชื่อว่ามาร์สเอกซ์เพรสพร้อมกับยานลูก "บีเกิล 2" ขึ้นสู่อวกาศ องค์การนาซาของสหรัฐฯ ก็ส่งยานอวกาศ 2 ลำ ในภารกิจมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์ เดินทางออกจากโลกในวันที่ 10 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคม ตามลำดับ ยานอวกาศทั้ง 2 ลำของนาซานี้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่- เสมือนนักธรณีวิทยาที่จะสำรวจดินและหินบนดาวอังคาร เพื่อนำไปสู่การศึกษาสภาวะอากาศในอดีตของดาวอังคาร เพื่อตอบคำถามขั้นพื้นฐานว่าดาวอังคารเคยมีสภา ะอากาศที่อบอุ่นเพียงพอที่น้ำจะสามารถคงอยู่ได้บนพื้นผิวนานพอที่สิ่งมีชีวิตแบบง่ายๆ จะถือกำเนิดขึ้นได้หรือไม่
ยานมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์เอ (MER-A) หรือ "สปิริต (Spirit)" มีกำหนดลงแตะพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ 4 มกราคม เวลา 11.35 น. ตามเวลาในไทย ขณะที่ยานมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์บี (MER-B) หรือ "ออปพอร์ทูนิตี (Opportunity)" มีกำหนดลงแตะพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ 25 มกราคม เวลา 12.25 น.
บริเวณที่ยานสปิริตลงจอดเป็นหลุมอุกกาบาตขนาด 150 กิโลเมตรชื่อว่า "หลุมกูซอฟ (Gusev)" ที่อาจเคยเป็นทะเลสาบมาก่อน ก่อตัวขึ้นจากการพุ่งชนของอุกกาบ- ตเมื่อประมาณ 3,000-4,000 ล้านปีที่แล้ว มีช่องเปิดด้านหนึ่งของหลุมที่เชื่อว่าเป็นช่องทางพากระแสน้ำและน้ำแข็งเข้าสู่หลุม ส่วนบริเวณที่ยานออปพอร์ทู นิตีลงจอดมีชื่อว่า "เมอริดิอานีพลานัม (Meridiani Planum)" ที่ราบที่คาดว่าอาจเป็นบริเวณทับถมของแร่ธาตุที่ก่อตัวขึ้นในสภาวะที่เต็มไปด้วยน้ำในอดีต
นาซาส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารมานับตั้งแต่โครงการมาริเนอร์ในกลางทศวรรษ 1960 และโครงการไวกิงในกลางทศวรรษ 1970 จากนั้นยานมาร์สพาทไฟน์เดอร์ของสหรัฐฯ ก็ลงแต่พื้นผิวดาวอังคารในปี พ.ศ. 2540 ตามด้วยยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์ และยาน 2001 มาร์สโอดิสซีย์ไปถึงดาวอังคารในปี พ.ศ. 2542 และ 2544
ขั้นตอนนำยานลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร (ภาพ NASA)
สำหรับมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์ นาซาใช้ระบบการลงจอดแบบเดียวกับที่ใช้ในยานมาร์สพาทไฟน์เดอร์ คือใช้ร่มชูชีพและถุงลมเพื่อชะลอความเร็วของยานขณะลงสู่พื้นผิวดาวอังคารเพื่อหลีกเลี่ยงการพุ่งชน รถหกล้อทั้งสองคันจะลงในตำแหน่งที่ห่างไกลจากกัน และใช้เวลาราว 3 เดือนเพื่อเก็บตัวอย่างดิน โดยเดินทางไปบนดาวอังคารด้วยพลังขับเคลื่อนจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีกล้องถ่ายภาพที่สามารถถ่ายภาพสี และอุปกรณ์สำหรับขุดดินบนดาวอังคาร
ข้อมูลจากรถสำรวจทั้งสองจะถูกส่งขึ้นไปในรูปของสัญญาณวิทยุไปยังยานมาร์สโกลบัลเซอร์เวเยอร์และยานมาร์สโอดิสซีย์ที่ทำหน้าที่เป็นดาวเทียมโคจรอยู่รอบดาวอังคารในขณะนี้ และส่งต่อมายังโลกเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์กำหนดเส้นทางเดินของรถสำรวจทั้งสองในวันต่อๆ ไป คาดว่ารถ 2 คันนี้จะสำรวจพื้นที่รอบๆ จุดลงจอดและออกเดินทางเป็นระยะทางราว 500 เมตรบนพื้นผิวดาวอังคารตลอดภารกิจ
ก่อนหน้านี้ เราได้ข้อมูลดาวอังคารเป็นจำนวนมากจากยานอวกาศสองลำที่โคจรอยู่รอบดาวอังคาร ซึ่งได้เผยให้เห็นสภาพภูมิประเทศและองค์ประกอบบนพื้นผิวด้วยความละเอียดสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งแสดงให้เห็นหุบเขา ที่ราบสูงชัน ร่องธาร และร่องรอยต่างๆ ที่ดูคล้ายภูมิประเทศบนโลก ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากยานอวกาศสองลำที่โคจรรอบดาวอังคารในขณะนี้ยังแสดงให้นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าหินบนดาวอังคารแบ่งเป็นชั้นๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นชั้นของตะกอนที่ถูกกัดเซาะโดยน้ำ หลายคนเชื่อว่าในอดีตดาวอังคารมีบรรยากาศที่หนาแน่นพอที่จะกักความร้อนไว้และทำให้เกิดน้ำบนพื้นดิน หุบเขาขนาดใหญ่หลายแห่งและบริเวณที่ดูเหมือนถูกกัดเซาะนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว นักดาราศาสตร์หวังว่ายานที่ส่งไปยังดาวอังคารทั้งหมดจะช่วยให้เรามีข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจสภาพทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา การมีอยู่ของน้ำ และวิวัฒนาการบนดาวอังคารได้ดียิ่งขึ้น