"พลาสติก" มีส่วนสำคัญอย่างมากในชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากในอนาคตเช่นกัน เพราะ "พลาสติก" เป็นขยะที่กำจัดได้ยาก หากนำไปฝังกลบก็ใช้เวลาย่อยสลายเป็นร้อย ๆ ปี และเปลืองพื้นที่ แต่ถ้านำไปเผาก็ยิ่งจะสร้างปัญหาทางมลพิษเพิ่มมากขึ้นไปอีก นั่น จึงทำให้ทุก ๆ วันในประเทศไทยจะมีขยะพลาสติกสูงถึง 7,391 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 18% ของขยะทั้งหมด และหากคิดเป็นปริมาณของทั้งปี ขยะพลาสติกก็จะอยู่ที่ 2.7 ล้านตันเลยทีเดียว (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2553)
ด้วย เหตุนี้ จึงมีการรณรงค์ให้คนหันมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะ รวมทั้งอีกหนึ่งทางเลือกที่เกิดจากไอเดียดี ๆ ที่จะช่วยพิทักษ์โลก นั่นคือการใช้ "พลาสติกชีวภาพ" นั่นเอง
สำหรับ "พลาสติกชีวภาพ" (BioPlastic) หรือ "พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้" (Biodegradable plastic) คือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ ผลิตมาจากพืชหลาย ๆ ชนิด มาผ่านกระบวนการผลิตต่าง ๆ จนสามารถนำไปขึ้นรูป เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อไปได้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ..
1.โพลีแลคติคแอสิด (Polylactic Acid) หรือ "PLA"
การผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดนี้ จะใช้พืชที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง มันสำปะหลัง อ้อย ปอ ฯลฯ เป็นวัตถุดิบ โดยนำมาผ่านกระบวนการบดให้เป็นแป้ง และย่อยให้เป็นน้ำตาล ก่อนจะนำไปหมักกับจุลินทรีย์เพื่อให้กลายเป็นกรดน้ำนม (Lactic Acid) แล้วนำไปผ่านกระบวนการโพลีเมอร์ จะได้สารประกอบโพลีเมอร์จากกรดน้ำนม (PLA) สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกได้เช่นเดียวกับเม็ด พลาสติกจากปิโตรเลียม
โดย พลาสติกชีวภาพชนิดนี้ มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีความใส ไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้เอง เมื่อนำไปฝังกลบในดินในระยะเวลาอันสั้น และยังนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ
2.โพลีไฮดรอกซีอัลคาโนเอท (Polyhydroxyalkanoates) หรือ "PHAs"
ใช้วัตถุดิบจากแป้งและน้ำตาลเหมือนตัวแรก แต่แตกต่างตรงขั้นตอนการหมัก ที่จะต้องใช้จุลินทรีย์ชนิดพิเศษ ชื่อ "Eschericia Coli" ที่กินน้ำตาลเป็นอาหาร และสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลภายในตัวจุลินทรีย์เองเป็น PHAs ได้ คุณสมบัติของ PHAs สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์พลาสติกได้หลากหลาย เช่น การขึ้นรูปเป็นฟิล์ม การฉีดและเป่า ฯลฯ
และ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพประเภทใด ต้องบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เพราะสามารถย่อยสลายได้ง่ายด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม หลังหมดอายุการใช้งาน ที่สำคัญกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพ จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยกว่าการผลิตพลาสติกทั่วไปจากปิโต รเคมี จึงสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการผลิตพลาสติกทั่วไปถึง 50%
เห็น ประโยชน์มากมายของ "พลาสติกชีวภาพ" อย่างนี้ ทำให้หลาย ๆ ประเทศที่เริ่มตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมหันมาใช้ "พลาสติกชีวภาพ" กันมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่พัฒนา "พลาสติกชีวภาพ" เป็นส่วนประกอบในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก อุตสาหกรรมยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ แคปซูลบรรจุยา กระถางต้นไม้ รวมทั้งนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการดูดซับน้ำใต้ดิน ในงานเตรียมการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างสนามบินและโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
หัน กลับมาดูที่ประเทศไทยของเราเอง ก็ให้ความสนใจกับ "พลาสติกชีวภาพ" ไม่น้อยหน้าไปกว่าชาติไหน โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมวัสดุชีวภาพ ให้เป็นโครงการระดับชาติ เพราะประเทศเรามีวัตถุดิบและทรัพยากรในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้ และยังมีอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลาย ๆ หน่วยงานทางธุรกิจที่เริ่มหันมาใช้ "ถุงพลาสติกชีวภาพ" แทนถุงพลาสติกแบบเก่ากันบ้างแล้ว
อย่าง ไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญก็คือ การผลิต "ถุงพลาสติกชีวภาพ" มีต้นทุนสูงกว่าการผลิตถุงพลาสติกธรรมดา 2-3 เท่า และประเทศไทยก็ยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เอง แต่ในอนาคตหากมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เราจะสามารถผลิตพลาสติกชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เอง ซึ่งจะทำให้เราได้ "พลาสติกชีวภาพ" ที่มีราคาถูกลงใช้แพร่หลายกันมากขึ้น แถมยิ่งช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย
แต่ ก่อนจะถึงขั้นนั้น ถ้าจะให้ดีที่สุด เราควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติก และใช้ถุงพลาสติกให้คุ้มค่ามากที่สุดก่อนที่จะนำไปทิ้ง หรือหันมาใช้ถุงผ้า เพื่อลดโลกร้อนตามที่หลายหน่วยงานกำลังรณรงค์กันอยู่ ก็ถือเป็นก้าวแรกที่จะช่วยรักษาโลกสีเขียวได้ ณ ตั้งแต่วันนี้เป็นการดีที่สุด
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก treehugger.com