กำเนิด “การ์ตูน” จากของที่ระลึกในลานประหาร สู่ยุคฮีโร่มาร์เวล-ดีซี

https://www.silpa-mag.com/history/article_35026 

                                                    

(ซ้าย) แผ่นภาพการประหารใน ค.ศ. 1683 ไม่ปรากฏชื่อศิลปิน (ขวา) ตัวละคร "สไปเดอร์แมน" (Spider-Man) ในคอมิก

สิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งจวบจนปัจจุบัน น่าจะมี “การ์ตูน” ตามภาษาและความคุ้นเคยของคนไทยรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกก็ต่างมีฐานผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่นไม่แพ้สื่ออื่นเลยทีเดียว แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่ การ์ตูน จะได้รับความนิยมดังเช่นกระแสซูเปอร์ฮีโร่หรือรูปแบบอื่น ๆ ในยุคนี้ ผลงานที่ขายดิบขายดีในสมัยก่อนอาจไม่น่าพิสมัยเพราะเป็นผลงานที่ขายกันในลานประหาร 

ด้วยความคุ้นเคยของชาวไทยซึ่งมักเรียกผลงานต่าง ๆ ที่เป็นลายเส้นแบบกว้างว่า “การ์ตูน” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือหนัง ก็เรียกว่าการ์ตูนแบบรวม ๆ แตกต่างกับการใช้ศัพท์แบบตะวันตกซึ่งเรียกหนังสือการ์ตูนว่า “คอมิกส์” (Comics) และเรียกหนังการ์ตูนว่า “แอนิเมชัน” (Animation) ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกหนังสือการ์ตูนว่า “มังงะ” (Manga) และเรียกหนังการ์ตูนว่า “อนิเมะ” (Anime) 

กำเนิด “การ์ตูน” 

หากจะนับย้อนกลับไปว่าภาพวาดลายเส้นของมนุษย์ยุคโบราณในถ้ำเป็น “การ์ตูน” ก็อาจเป็นการเรียกแบบกว้างเกินไป ในมุมมองของผู้ศึกษาเรื่องราวของการ์ตูนอย่าง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มองว่า ความหมายของ “การ์ตูน” ที่แท้จริงนั้นควรหมายถึง “ลายเส้นที่แสดงเรื่องราวได้และถูกนำไปเผยแพร่หรือแจกจ่ายในที่สาธารณะ” ขณะที่ลายเส้นของมนุษย์ยุคโบราณที่จารึกในผนังถ้ำ หรือบันทึกที่เป็นลายเส้นในเอกสารหรือเสาแบบโรมัน เป็นผลงานที่ไม่ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ หรือเข้าถึงผู้อ่านโดยทั่วไป ผู้คนที่ต้องการชมก็ต้องเดินทางไปดูในสถานที่เฉพาะเจาะจง บางกรณีสถานที่ซึ่งปรากฏลายเส้นยังไม่เปิดให้เป็นสาธารณะด้วยซ้ำ 

ในมุมมองของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์อีกท่านอย่าง ไกรฤกษ์ นานา บรรยายไว้ว่า เชื่อกันว่าภาพร่างอย่างคร่าว ๆ หรือที่เรียกกันว่า ภาพสเก๊ตช์ (Sketch) วาดแล้วนำไปเป็นแบบแกะลายไม้ก่อนขึ้นแท่นพิมพ์ปรากฏขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1721 ก่อนจะถูกตั้งชื่อว่าเป็น รูป “การ์ตูน” กล่าวได้ว่า “รูปการ์ตูน” มีอายุยาวนานกว่า 300 ปีแล้ว 

การ์ตูน ในช่วงแรกเริ่ม ไม่ได้ถูกใช้งานสำหรับเป็นสื่อสำหรับเด็กหรือเยาวชน ดังเช่นการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมองกัน แต่ในช่วงแรกบทบาทของการ์ตูนถูกใช้เป็นรูปในจินตนาการที่เรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ ด้วยการสมมติคนให้เป็นตุ๊กตาที่เคลื่อนไหวได้ก่อนการวาดรูปเหมือนคนจริง ๆ จะเกิดขึ้นภายหลัง (ไกรฤกษ์ นานา, 2561) 

ขณะที่นายแพทย์ประเสริฐ ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง (แต่ใกล้เคียงกัน) ว่า การ์ตูนยุคแรกผลิตโดยใช้บล็อกไม้และพิมพ์ลายเส้นบนกระดาษหรือผืนผ้าขนาดใหญ่ เรียกกันว่า บรอดชี้ด (Broadsheet) ผลงานที่ได้รับความนิยมในยุคแรกเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ทางศาสนาและสังคมของประเทศอังกฤษ ศตวรรษที่ 17 รวมถึงภาพที่ระลึกการประหารชีวิตในที่สาธารณะ เหตุที่ผลงานแบบนี้ขายได้มากนั้น นายแพทย์ประเสริฐ เล่าไว้ว่า ระหว่างศตวรรษที่ 14 ถึงกลางศตวรรษที่ 18 มีการประหารชีวิตในที่สาธารณะในกรุงลอนดอนมากมาย ประชาชนที่มารอดูการประหารชีวิตในลานประหารก็มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน ผู้รอดูมักต้องการภาพที่ระลึกกลับไป การขายแผ่นภาพประหารชีวิตจึงเจริญเติบโตถึงขั้นมีร้านค้าตั้งขายรอบลานประหาร บางครั้งถึงกับผลิตแผ่นภาพรอไว้ล่วงหน้าก่อนวันประหารด้วยซ้ำ ด้วยบริบทนี้เองทำให้นายแพทย์ประเสริฐ ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งให้ การ์ตูน ถูกเหยียดหยามว่าเป็นศิลปะชั้นต่ำตั้งแต่ยุคแรก เพราะนอกจากจะผูกกับการค้าแล้ว ยังผูกกับ “ความรุนแรง” อีกต่างหาก ขณะเดียวกันเมื่อย้อนไปดูคุณภาพของวัสดุ ส่วนใหญ่บล็อกไม้ที่เป็นแม่พิมพ์ก็ไม่ได้มาตรฐาน แตกบิ่นเสื่อมสลายตามสภาพ 

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบบางอย่างของผลงานในยุคนั้นก็เริ่มส่อเค้าพัฒนาการที่จะกลายมาเป็นองค์ประกอบของการ์ตูนในเวลาต่อมาอย่างเช่น “บัลลูน” (Balloon) หรือพื้นที่แสดงบทสนทนา บางรูปปรากฏลายเส้นแสดงทิศทางการเคลื่อนไหว และความเร็ว อันเป็นหนึ่งสิ่งที่นายแพทย์ประเสริฐ เรียกว่า “ไวยากรณ์ของภาษาการ์ตูน” ผลงานในยุคแรกที่ตอบสนองด้านการค้า และบันทึกเหตุการณ์เริ่มแปลรูปออกมาเป็นงานศิลปะเชิงล้อเลียน (caricature) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีการผลิต จากแม่พิมพ์ไม้เป็นทองแดง ในกระบวนการที่เรียกว่า engraving (แกะลายบนทองแดงและใช้กรดสกัดแล้วจึงลงหมึก) ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อค.ศ. 1760 

“การ์ตูน” ล้อ 

ศตวรรษที่ 18 เริ่มมีศิลปินใช้งานศิลปะสะท้อนความไม่พอใจต่าง ๆ ในสังคม อาทิ วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth, 1697-1764) วาดภาพใบหน้าของคนแสดงความรู้สึกแตกต่างหลากหลาย แม้ว่าอาจไม่ได้ถือว่าเป็นการ์ตูนตามที่นิยามในปัจจุบันเป็น แต่ก็ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกลายมาเป็นนิยามการ์ตูนในเวลาต่อมา อิทธิพลของงานจากโฮการ์ธ ส่งผลทำให้เกิดผู้สร้างงานรายอื่นในภายหลังด้วย หนึ่งในนั้นคือ โธมัส โรว์แลนสัน (Thomas Rowlandson, 1756-1827) นักวาดภาพล้อเลียนที่กระทบแทบทุกชนชั้น ผลงานศิลปะกลุ่มนี้เริ่มมีตีพิมพ์ในนิตยสารบ้างแล้ว 

โรว์แลนสัน เป็นศิลปินคนแรกที่เขียนการ์ตูนแบบคอมิกสตริป (Comic Strip) หรือการ์ตูนสั้นตั้งแต่ 1 ถึง 4 ช่องจบ ทำให้บางคนเรียกเขาว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนคนแรก ๆ อีกรายด้วย แต่ถ้าจะให้ตอบว่า “การ์ตูน” เรื่องแรกของโลกคือเรื่องอะไร แม้แต่นักประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถเห็นตรงกันได้ อย่างไรก็ตาม มีชื่อผลงานไม่กี่ชื่อซึ่งถูกพิจารณาว่าเข้าข่าย เรื่องหนึ่งคือ Ally Sloper’s Half Holiday เมื่อ ค.ศ. 1873 ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ Ally Sloper : A Moral Lesson โดยผู้สร้างตัวละครคือ ชาร์ลส รอสส (Charles Ross) ร่วมกับทีมงานที่รวมถึงภรรยาของเขาด้วย เผยแพร่ในนิตยสาร “จูดีย์” (Judy) เป็นผลงานที่เล่าเรื่องโดยรูปภาพและมีตัวละครหลักดำเนินเรื่อง นั่นคือ อเล็กซานเดอร์ สโลเปอร์ เป็นตัวแทนชนชั้นแรงงานที่ทำงานหนัก และใช้เงินที่ได้ไปกับการดื่ม มีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์คือเมาแทบตลอดเวลา เนื้อหาของเรื่องก็เป็นการเสียดสีสังคมผ่านตัวละครชนชั้นแรงงาน ภายหลังยังมีโอกาสเลื่อนชั้นเป็นชนชั้นกลาง 

ขณะที่อีกผลงานหนึ่งคือ The Tour of Dr. Syntax โดยโรว์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1809 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เรียงภาพการ์ตูนแบบคอมิกสตริป การเติบโตของการ์ตูนและการ์ตูนล้อมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 มีการ์ตูนล้อเลียนมากมาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยปรากฏนามผู้เขียนเนื่องจากสถานการณ์ที่ล่อแหลม กระทั่งมีการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1830 การเขียนภาพล้อเลียนก็รุ่งเรืองขึ้น 

การ์ตูนล้อเลียนตามสภาพสังคม เริ่มถึงจุดอิ่มตัวในอังกฤษในช่วง ค.ศ. 1900 กลุ่มผู้สร้างสรรค์จึงเริ่มหาตลาดเด็ก และกำเนิดตัวละครสัตว์พูดได้ เขียนบรรยายให้น้อย ใช้ภาพเล่าเรื่อง นิตยสารที่แต่เดิมเป็นของผู้ใหญ่ ก็เริ่มมีสีสันฉูดฉาดมากขึ้น และยังมีเพิ่มหน้าพิเศษที่มีการ์ตูนสำหรับเด็ก ข้ามฝั่งมาที่ฝั่งอเมริกัน การ์ตูนอเมริกันไม่ได้เติบโตจากการ์ตูนล้อโดยตรง แต่มาจากการ์ตูนสตริปในหนังสือพิมพ์รายวัน คอมิกสตริปเรื่องแรกชื่อว่า “เยลโลว์ คิด” (Yellow Kid) โดยริชาร์ เอาท์คอลท์ (Richard Outcault) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Journal เมื่อ ค.ศ. 1896 เนื้อเรื่องก็ยังเกี่ยวกับชนชั้นล่าง แต่ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจชนชั้นกลางที่อ่านหนังสือพิมพ์ด้วย การ์ตูนคอมิกสตริปได้รับความนิยมและปรากฏในหนังสือพิพม์แทบทุกฉบับ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มใน ค.ศ. 1929 ตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การ์ตูนจึงกลายเป็นสื่อบันเทิงที่ต้องช่วยให้คนผ่อนคลาย ไม่เพียงเท่านั้น การ์ตูนแทบยังต้องเป็นสิ่งที่ปลอบประโลม แต่ย่อมไม่ถึงขนาดตกต่ำไปด้วยกัน ควรกล่าวว่า ต้องเป็นที่พึ่งได้มากกว่า นายแพทย์ประเสริฐ จึงมองว่า บริบทช่วงนี้เองเป็นผลให้เกิดตัวละคร “ซูเปอร์ฮีโร่” 

ซูเปอร์ฮีโร่ 

ซูเปอร์ฮีโร่ที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการ์ตูนตลกไปเป็นการ์ตูนผจญภัญก็มี ป๊อปอาย (Popeye) เจ้ากะลาสี (ชนชั้นล่าง) เขาปรากฏตัวในการ์ตูนช่องชุด Thimble Theatre เมื่อ ค.ศ. 1929 ช่วงแรกยังมีเนื้อเรื่องลักษณะคล้ายการ์ตูนเกี่ยวกับชนชั้น แต่ในกลางปีเดียวกัน ป๊อปอายเหมือนเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” กลายๆ จากที่โดนยิงนับสิบนัดแต่ไม่เสียชีวิต หลังจากการรับกระสุนในวันนั้นก็ทำให้ตัวละครกะลาสีกินผัมโขมเติมพลังปรากฏในนิตยสารของตัวเอง และกระทืบฝ่ายอธรรมตั้งแต่นั้นมา ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง ประกอบกับบริบททางสังคมและการต่างประเทศ ทั้งกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรา จนถึงการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ ทำให้เกิดฮีโร่สายดาร์กขึ้น อย่างเช่น “เดอะ ชาโดว์” (The Shadow) โดยวอลเตอร์ กิ๊บสัน และได้เดนนีย์ โอนีล นำมาทำเป็นการ์ตูนช่อง 

ก่อนที่จะก้าวมาถึงช่วงฮิตเลอร์บุกยุโรป ใน ค.ศ. 1939 ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เรียกได้ว่าสภาพสังคมยังคงอยู่ในช่วงมืดหม่น ตัวละครอย่างป๊อปอาย ทาร์ซาน หรือนักปราบอาชญากรรม คงเกินกำลังจะประโลมใจได้ โลกการ์ตูนก็มี แฟลช กอร์ดอน ใน ค.ศ. 1934 เดินทางออกนอกประเทศแล้วไปถึงอวกาศเพื่อต่อสู้กับจักรพรรดิหมิง ตามมาด้วย แฟนธอม (Phantom) ในค.ศ. 1936 ออกมาในรูปแบบวีรบุรุษชุดรัดรูป ใน ค.ศ. 1935 อเมริกันชนได้พบกับผลงาน “การ์ตูน” ที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือพิมพ์ก่อนจะรวมเล่ม นั่นคือหนังสือการ์ตูนทั้งเล่มโดยพันตรี มัลคอล์ม วีลเลอร์ นิโคลสัน (Malcolm Wheeler-Nicholson) ออกผลงานชื่อ New Fun Comics ซึ่งเปลี่ยนไปอีกหลายชื่อ และมาลงเอยที่ Detective Comics ในค.ศ. 1937 เรื่องในยุคแรกของหนังสือการ์ตูนจากหัวนี้คือ Dr. Fu Manchu 

หนังสือการ์ตูนจาก “ดีซี” ประสบความสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ภาวะการเงินของพันตรีนิโคลสันไม่กระเตื้อง จนต้องส่งไม้ต่อให้ผู้อื่นมาทำในช่วงปลาย ค.ศ. 1937 ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ดีซีเผยแพร่ผลงาน “ซูเปอร์แมน” (Superman) ในรูปแบบที่เราคุ้นกันคือชุดรัดรูปสีน้ำเงิน กางเกง(ที่อยู่ด้านนอกชุด) สีแดง และมีผ้าคลุม ปรากฏในหน้าปก Action Comics ใน ค.ศ. 1938 และมีปกของตัวเองฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ ค.ศ. 1939 เรื่องราวถูกมองว่าเป็นตัวแทนของการต่อสู้แบบวิถีอเมริกันชน ช่วงแรกสู้กับอันธพาล นักการเมืองสกปรก มาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ก็มีเรื่องราวที่เข้มข้นตามไป 

หลังจากนั้นถึงตามมาด้วยซูเปอร์ฮีโร่แห่งความมืดอย่าง แบทแมน (Batman) ใน ค.ศ. 1939 

“ซูเปอร์มนุษย์ทั้งสองถูกสร้างขึ้นมาในยุคสมัยที่เหมาะสมเพื่อต่อกรกับซูเปอร์ปีศาจที่มากับรูปทรงสวัสดิกะ” นายแพทย์ ประเสริฐ บรรยายความสำเร็จของตัวละครอมตะจากดีซี ซึ่งขายได้เดือนละหลายล้านเล่ม จนอุตสาหกรรมการ์ตูนและเรื่องราวว่าด้วยฮีโร่ปะทุเกิดอย่างรวดเร็ว และในปีเดียวกัน มาร์เวล คอมิกส์ ฉบับปฐมฤกษ์ก็มาพร้อมมนุษย์ใต้สมุทรอย่าง Namor เรียกได้ว่าเป็นยุคทอง (Golden Age) ของซูเปอร์ฮีโร่ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 

การควบคุม “การ์ตูน” 

ความสำเร็จของการ์ตูนอเมริกันไม่ได้มีเพียงเรื่องหอมหวาน แต่ยังมีอุปสรรคอย่างเช่นเสียงต่อต้านเรื่องความรุนแรงที่ปรากฏในการ์ตูนรูปแบบอื่น อย่างเช่น การ์ตูนอาชญากรรม ซึ่งมีจิตแพทย์ที่เคลื่อนไหวต่อต้านอย่างจริงจัง ภายหลังการ์ตูนในสหรัฐอเมริกายังต้องถูกตรวจตราเนื้อหาและต้องได้รับรองก่อนวางจำหน่าย ดีซีจึงจัดทีม “จัสติซ ลีก แห่งอเมริกา” (Justice League of America) ออกมาโดยให้ซูเปอร์แมนนำทีม เริ่มต้นยุคเงิน (Silver Age) ของการ์ตูนฮีโร่อเมริกัน ระหว่างที่มีการปรับระบบตรวจสอบการ์ตูน สแตน ลี (Stan Lee) ซึ่งรับบทบรรณาธิการ พร้อมกับแจ๊ค เคอร์บี้ (Jack Kirby) ก็ต้องปรับตัวเข้ากับการตรวจสอบ เช่นเดียวกับบรรยากาศสงครามเย็นในยุค 60s พวกเขาสร้างตัวละครฮีโร่ที่มีมิติให้กับมาร์เวล โดยให้ฮีโร่ที่ทำหน้าที่และมีพลังพิเศษต้องมีปัญหาในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทีม Fantastic Four ใน ค.ศ. 1961 มาจนถึงไอ้แมงมุม Spider-man ใน ค.ศ. 1963 

ความสำเร็จของทีม “สี่มหัศจรรย์” ทำให้สแตน ลี สนใจสร้างตัวละครเพิ่มเติม และเขาได้รับอิทธิพลจากผลงาน “เดอะ สไปเดอร์” (The Spider) จากนิตยสารพัลป์ (Pulp) หนุ่มปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ มีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ เข้ากับเจ้านายไม่ได้ และไม่มีเวลาให้ภรรยาเมื่อต้องทำหน้าที่ฮีโร่ปราบวายร้าย ในช่วงแรกที่ไอ้แมงมุมปรากฏขึ้นในหนังสือ เขาเป็นวัยรุ่นที่ยังเรียนหนังสือ ทำให้เรื่องดึงดูดแฟนการ์ตูนอายุใกล้เคียงมาเป็นกลุ่มผู้อ่านได้มากมาย ไอ้แมงมุมพร้อมกับซูเปอร์ฮีโร่อื่นก็เหมือนกับคนทั่วไปที่ต้องดิ้นรนหากินในชีวิต ตัวละครแต่ละหัวก็ต้องดิ้นรนหาทางให้มียอดขาย เพราะถือว่าเป็นผลงานศิลปะและการค้าเพื่อทำยอดขายแบบเต็มตัว พัฒนาการของการ์ตูนคอมิกส์ในอเมริกาก็ยังมีความเคลื่อนไหวมากมาย และโดยเฉพาะช่วงที่ท็อดด์ แม็คฟาร์เลน (Todd Mcfarlane) เขียนสไปเดอร์แมนด้วยลายเส้นแบบใหม่ ทำให้แฟนการ์ตูนพิศวงกับลายเส้นที่น่าตื่นตาตื่นใจ 

อีกหนึ่งหลักไมล์ที่ไอ้แมงมุมสร้างขึ้นคือ การเปลี่ยนกระแสของเนื้อเรื่องที่แต่เดิมผู้อ่านมักคุ้นเคยกับเรื่องราวของฮีโร่หนุ่มที่เป็นผู้ช่วย อย่างเช่น โรบิน ซึ่งไม่ใช่ตัวเอกที่เดินเรื่อง และมีตัวละครเดินเรื่องหลักอีกราย ที่สำคัญคือ สไปเดอร์แมน ไม่มีครูที่ช่วยฝึกสอนทักษะให้ ความแตกต่างและเนื้อเรื่องที่มีมิติเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สไปเดอร์แมนมีฐานแฟนเป็นคนรุ่นเดียวกันและส่งผ่านกันต่อมาจนถึงวันนี้ 

ที่มา ผู้เขียน กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

 

Credit: กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
#กำเนิดการ์ตูน
THEBOxrun
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
26 มี.ค. 66 เวลา 15:58 912
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...