พพ. มั่นใจ อนาคตโครงการ CDM ไทยสดใส หลังรั้งอันดับ 10 ของโลก ประเทศได้ขึ้นทะเบียนรับรองจากสหประชาชาติ(UNFCC) ร่วม 36 โครงการ และอันดับ 15 ประเทศลดก๊าซเรือนกระจกแก้วิกฤตโลกร้อนได้ 2.13 ล้านตันคาร์บอนต่อปี...
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
เปิดเผยว่า พพ.ได้รับรายงานจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรืออบก. ที่ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดของไทย( CDM )ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีโครงการที่ได้รับหนังสือรับรองเป็นโครงการ CDM จากอบก. หรือ(Letter of Approval: LoA) แล้วทั้งสิ้น 111 โครงการ จากโครงการที่ยื่นแสดงเจตจำนงเป็นโครงการCDM ทั้งสิ้น 195 โครงการ โดยส่วนใหญ่ 60 %เป็นโครงการประเภท ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ รองลงมาได้แก่กลุ่มพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆอาทิ ลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากโครงการทั้งหมดที่ได้ LoA พบว่าได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองโครงการ CDM
จากสหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (UNFCCC) จำนวน 36 โครงการ คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการได้ทั้งสิ้น 2.13 ล้านตันคาร์บอนต่อปี โดยเป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อดูจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ทำให้ไทยติดอันดับ 15 ของโลก และอยู่อันดับที่ 7 ของชาติในเอเชีย แต่หากดูจากโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสหประชาชาติ พบว่าไทยอยู่อันดับที่ 10 ของโลก และติดอันดับที่ 6 ของเอเชีย
นายทวารัฐกล่าวว่า โครงการ CDM ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรอง ได้แก่โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 15 โครงการ
ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 565,806 ตันคาร์บอนต่อปี โครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 7 โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 498,039 ตันคาร์บอนต่อปี โครงการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง (Waste Heat) 3 โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 102,019 ตันคาร์บอนต่อปี โครงการผลิตความร้อนจากก๊าซชีวภาพ 3 โครงการ และโครงการผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากก๊าซชีวภาพ 7 โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 607,417 ตันคาร์บอนต่อปี
นายทวารัฐ กล่าวว่า ในส่วนของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการ CDM
ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท เอที ไบโอพาวเวอร์ จำกัด จ.พิจิตร และบริษัท โคราช เวสท์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด จ.นครราชสีมา ซึ่งทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการร่วมดำเนินกิจกรรมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกด้วย