หินกลายเป็นงู-คนกลายเป็นหิน..."ม่อน-ถ้ำ" ตำนาน อาถรรพ์ ความรัก : เผย?แพร่? แลตะลึง!?!

 

แท่งเสาหินเรียงเป็นคูหาห้องที่ม่อนเสาหินพิศวง “แพร่” แม้จะเป็นเมืองผ่านที่ใครผ่านแล้วผ่านเลย

แต่ถ้าใครมีโอกาสไปสัมผัสกับความน่าสนใจของเมืองหม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอแบบให้เวลาสักหน่อย ก็จะพบว่าในความเรียบง่ายของแพร่มีแง่งามแฝงเร้นอยู่ไม่น้อย ทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม อาหารการกิน วิถีชีวิต และสาวๆเมืองแพร่ที่น่ารักเปี่ยมไมตรี
  กองหินพะเนินเทินทึกที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยมนต์เสน่ห์เหล่านี้ทำให้แพร่สำหรับ“ตะลอนเที่ยว”เป็นเมืองน่าเที่ยวเมืองหนึ่งในภาคเหนือ ยิ่งล่าสุดทางจังหวัดแพร่ได้เปิดตัว แหล่งท่องเที่ยวใหม่และปรับปรุงใหม่ออกสู่สายตาของคนภายนอก มันก็ยิ่งทำให้การมาแอ่วแพร่ของเราในครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆดีๆมาเผยแพร่ให้รู้ว่า เมืองผ่านเมืองนี้ไม่ควรผ่านเลยด้วยประการทั้งปวง

ม่อนเสาหินพิศวง

นานมาแล้วที่ความมหัศจรรย์เล็กๆของธรรมชาติ อย่างกลุ่มเสาดิน“แพะเมืองผี” เป็นหนึ่งในเสน่ห์ดึงดูดให้คนมาเที่ยวเมืองแพร่ มาวันนี้แพร่ได้เผยโฉมความมหัศจรรย์เล็กๆของธรรมชาติขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ “ม่อนเสาหินพิศวง” ที่ตั้งอยู่ที่บ้านนาพูนพัฒนา ต.นาพูน อ.วังชิ้น ซึ่งจะน่าพิศวงแค่ไหนคงต้องตามไปดูกัน
  นักเรียนมาทัศนศึกษาที่ม่อนเสาหิน ม่อนเสาหินพิศวง เดิมเรียกว่า “ม่อนหินกอง” มีอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่าม่อนหินกองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลายคนได้ยินเสียงก้องกังวานในวันพระ บางคนเคยเห็นลูกแก้วลอยขึ้นมา บางคนเชื่อว่าเคยเป็นปราสาทโบราณศักดิ์สิทธิ์ก่อนพังทลายลง หรือไม่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณเจริญรุ่งเรืองแล้วล่มสลายในภายหลัง ส่วนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อตรงกันก็คือ ใครที่นำสิ่งก้อนหินออกไปจากม่อนจะประสบสิ่งไม่ดีหรือมีอันเป็นไป

“เคยมีคนเอาก้อนหินออกไปจากม่อน พอไปถึงที่บ้านก้อนหินกลายเป็นงูไปได้ยังไงไม่รู้ ส่วนบางคนเอาไปฝันร้าย อยู่ไม่เป็นสุข ต้องนำหินมาคืน” ลุงรุณ พรหมจันทร์ เล่าให้เราฟัง
  เสาหินต้นสั้นๆกองเต็มพื้นที่ด้านหนึ่งของม่อนเสาหิน และด้วยความเชื่อของชาวบ้านทำให้ม่อนหินกองถูกทิ้งรกร้าง มีเพียงบางคนที่ขึ้นมาขอพร บนบานศาลกล่าว จนกระทั่งนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่คนปัจจุบันมาค้นพบ จึงร่วมมือกับนายอนุวัธ วงวรรณ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัดแพร่ พัฒนาพื้นที่ม่อนเสาหินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดแพร่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ม่อนเสาหินพิศวง”

“เรามองการเกิดม่อนหินเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์แต่ก็ไม่ไปทำลายความเชื่อของชาวบ้าน ชื่อจุดต่างๆของม่อนเสาหินเราจึงตั้งชื่อตามความเชื่อของชาวบ้าน” ผู้ว่าเมืองแพร่กล่าว
  กลุ่มแท่งเสาหินเอียงที่ม่อนเจ้าอาจญา อนึ่งในทางวิทยาศาสตร์ม่อนเสาหิน เป็นหินบะซอลด์ เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟพาเอาหินหนืด(Magma)ขึ้นสู่พื้นโลก ก่อนเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้หินเกิดรอยแตกแยก เป็นหิน 3 เหลี่ยมถึง 8 เหลี่ยม(มีหิน 6 เหลี่ยมมากที่สุด) ลักษณะเป็นกองหิน แท่งหิน เสาหิน มีขนาดความอวบของต้นประมาณเสาบ้านเสาไฟฟ้าตั้งอยู่เรียงราย มีทั้งที่เป็นเสาหินต้นสูงท่วมหัวตั้งตรงเป็นระเบียบคล้ายคนมาจับเรียงเสาหิน และเสาหินต้นสั้นๆล้มระเกะระกะบนพื้นที่ราว 20 ไร่ บนเนินเขา

ทั้งนี้ทางจังหวัดแพร่ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ม่อนเสาหินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แม้ปัจจุบันยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ว่าก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเที่ยวชม โดยม่อนหินแห่งนี้ แบ่งเป็นจุดสำคัญๆ 8 ม่อน ย่อย ซึ่งที่เด่นๆมี
  พื้นที่ส่วนม่อนเสาหินพิศวง “ม่อนเจ้าอาจญา” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่“เจ้าอาจญา” ผีที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาผีที่ชาวบ้านนับถือ มีลักษณะเป็นกลุ่มแท่งเสาหินสูงประมาณครึ่งช่วงตัวตั้งเรียงรายทำมุมประมาณ 45 องศากับพื้นที่

“ม่อนเจ้าคำคือ” เป็นเสาหินก้อนหินจำนวนมาก มีทั้งตั้งตรง ล้มเอียง ตั้งเป็นกลุ่มกระจุก และกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ สำหรับชื่อม่อนตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าคำคือ ผีอีกตนหนึ่งที่ชาวบ้านนั้บถือ
  บาตรรับเหรียญที่ม่อนสะเดาะเคราะห์ “ม่อนสะเดาะเคราะห์” เป็นก้อนหินเรียงตัวเป็นทางเดิน และมีแอ่งคล้ายบ่อน้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อเงินบ่อทอง ในบ่อมีบาตรวางอยู่ให้ผู้สนใจโยนเหรียญลงในบาตรเพื่อสะเดาะเคราะห์

และ“ม่อนเสาหินพิศวง” ม่อนไฮไลท์ ที่เป็นแท่งหินสูงประมาณ 3 เมตร เรียงตัวติดกันเป็นคูหาห้อง ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่านี่คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงมีคนมาบนบานศาลกล่าวและนำธูปเทียนมาเคารพสักการะที่ม่อนแห่งนี้
  ห้องน้ำที่หลายคนวิจารณ์ว่าตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม และนี่ก็คือเสน่ห์อันชวนพิศวงของม่อนเสาหินพิศวงที่หลังจาก“ตะลอนเที่ยว”เดินขึ้นๆลงๆชมความแปลกประหลาดของธรรมชาติจนทั่วบริเวณแล้ว เราก็ไปเจอกับห้องน้ำสีขาวเด่นตั้งอยู่ริมเนินเขาใกล้ๆกับกองก้อนหินกระจัดกระจาย ใครหลายคนที่เห็นแล้วต่างบ่นอุบกับห้องน้ำหลังนี้ว่าทำลายภูมิทัศน์ ซึ่งยังไง“ตะลอนเที่ยว” ขอฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า ควรย้ายห้องน้ำหลังนี้ลงมาสร้างในตำแหน่งที่เหมาะสม มิฉะนั้นห้องน้ำหลังนี้จะกลายเป็น“จุดพิศวง” ที่ทำให้ม่อนเสาหินถูกลดทอนคุณค่าลงไปอย่างน่าเสียดาย
  จอฉายมัลติมีเดียที่โถงทางเข้า ถ้ำผานางคอย

มาเที่ยวทริปนี้ เราได้สัมผัสกับอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดตัวใหม่แต่ไม่ใหม่ของจังหวัดแพร่ นั่นก็คือ “ถ้ำผานางคอย” ที่บ้านผาหมู อ.ร้องกวาง

พูดอย่างนี้หลายคนอาจงง แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้ำผานางคอยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่คู่เมืองแพร่มาช้านานแล้ว เพียงแต่ว่าของเก่านั้นเป็นการปล่อยไปตามอัตภาพ จนเมื่อทางจังหวัดกับอบจ.เข้ามาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ จึงเกิดเป็นถ้ำผานางคอยในมิติใหม่ขึ้น
  บรรยากาศในถ้ำผานางคอยเมื่อมองย้อนออกไปยังโถงถ้ำทางเข้า สำหรับนักเที่ยวถ้ำหลายคนอาจมองว่า เราควรปล่อยให้สภาพของถ้ำเป็นไปตามธรรมชาติ มนุษย์ไม่ควรไปเสริมแต่งมัน เพราะนอกจากกระทบต่อธรรมชาติภายในถ้ำแล้วยังทำให้ถ้ำเสียคุณค่าอีกด้วย แต่นั่นมันควรใช้กับ"ถ้ำเป็น" ที่หินงอกหินย้อยยังเจริญเติบโตอยู่ แต่สำหรับถ้ำแห่งนี้ เป็น"ถ้ำตาย" ที่หินหยุดเจริญเติบโต(มีบ้างที่ยังเติบโตอยู่แต่ว่าไกลจากน้ำมือคน)แถมยังมีคนมาสร้างสิ่งต่างๆไว้ในถ้ำนานแล้ว

ดังนั้นการพัฒนาถ้ำจึงเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทางอบจ.แพร่ได้ให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาถ้ำเพื่อการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้และศิลปากรมาช่วยจัดตกแต่งภูมิทัศน์ ใส่แสง สี เสียง เทคนิคสมัยใหม่ และสร้างเส้นทางเดินท่องเที่ยวในพื้นที่ประมาณ 150 เมตร กว้างราว 20 เมตรของถ้ำ โดยดึงเอาตำนานรักอมตะของถ้ำแห่งนี้มาผูกเป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกับจุดน่าสนใจต่างๆภายในถ้ำ
  หินรูปหน้าเด็ก เริ่มตั้งแต่การเดินเข้าสู่ภายในโถงถ้ำที่มีจอภาพมัลติมีเดียแอนนิเมชั่นฉายเรื่องราวเล่าตำนานถ้ำที่ดูล้ำไม่น้อย ซึ่งเราเพิ่งเคยพบเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่นี่แหละ โดยตำนานพื้นบ้านคร่าวๆของถ้ำผานางคอยนั้น มีอยู่ว่า

...เมื่อ 800 กว่าปีที่แล้ว เจ้าเมืองแห่งอาณาจักรแสนหวีมีราชธิดาผู้เลอโฉม มีพระนาม “เจ้าหญิงอรัญญณี” วันหนึ่งเจ้าหญิงเสด็จโดยชลมารคแล้วเกิดเรือล่ม คะนองเดช(ชื่อตามแอนนิเมชั่น เข้าใจว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง)ทหารหัวหน้าฝีพายได้เข้ามาช่วยเหลือเจ้าหญิงแล้วเกิดรักกัน แต่ก็เหมือนตำนานรักไม่สมหวังทั่วไป คือฝ่ายพระราชบิดากีดกันเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมกัน ทั้งคู่จึงพากันหนีลงมาทางใต้โดยมีทหารไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิดจนเจ้าหญิงถูกยิง คะนองเดชจึงพาเจ้าหิงมาหลบในถ้ำแห่งนี้ เจ้าหญิงเห็นว่าคะนองเดชกำลังเพลี่ยงพล้ำจึงให้หนีไปก่อน โดยบอกว่าจะคอยทหารอันเป็นที่รักแห่งนี้ตลอดไป กลายเป็นก้อนหินนางคอยกับตำนานรักอมตะปนเศร้าของถ้ำผานางคอยแห่งนี้...
  หินรูปหัวใจ(คน) เอาล่ะเมื่อรู้ตำนานกระชุ่นอารมณ์แล้ว ทีนี้เราก็ได้เวลาเดินเที่ยวถ้ำที่มีการกำหนดจุดสนใจต่างๆ ไว้ 13 จุด ให้สอดรับกับตำนานควบคู่ไปกับสิ่งสวยๆงามๆภายในถ้ำ โดยจุดเด่นๆก็มี

“คูหาสวรรค์” เป็นโพรงถ้ำปากทางเข้ามีหินย้อยลักษณะคล้ายมือขนาดใหญ่ เชื่อว่าเจ้าหญิงอรัญญณีเคยมาพักพิงที่นี่
  เนรมิตม่านแก้ว หินงอกหินย้อยรูปทรงผ้าม่าน “งามพิศอนงค์สนาน” เป็นธารน้ำซึมจากเบื้องบน เชื่อว่าเป็นที่สรงน้ำของเจ้าหญิงอรัญญณี

“เนรมิตม่านแก้ว” เกิดจากหินงอกหินย้อยบรรจบกันเป็นรูปทรงคล้ายผ้าม่านอ่อนช้อยสวยงามขนาดใหญ่
  ธารเทพอธิษฐาน ธารน้ำในถ้ำกับหินทรงประหลาด “ธารเทพอธิษฐาน” ธารน้ำในถ้ำที่มีหินย้อยทรงยานอวกาศลอยเด่นอยู่ด้านบน

และ ”อลังการแห่งรักอรัญญณี” เป็นหินรูปร่างประหลาด ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหญิงอรัญญณีอุ้มลูกคอยคนรักจนกลายเป็นหินที่นี่ จึงเรียกว่า“หินนางคอย” ซึ่งหากมองถูกจุดถูกมุมแล้วจินตนการตามจะดูคล้ายผู้หญิงกำลังอุ้มลูกผินหน้าไปทางหนึ่ง
  หินนางคอย กับตำนานรักอมตะแห่งถ้ำผานางคอย นอกจากจุดน่าสนใจต่างๆอันเชื่อว่าเป็นตำนานแล้ว ถ้ำแห่งนี้ยังน่ายลไปด้วย หินงอกหินย้อย หินเกล็ดประกายเพชร หินรูปหัวใจ(คน) หินริ้วผ้าม่าน หินหน้าเด็ก พระพุทธรูป รูปเคารพฤาษี และลวดลายของหินตามเพดาน ผนังถ้ำ รวมถึงบรรยากาศภายน้ำที่มีลมโกรกเย็นสบายเพราะเป็นช่องลมพอดี นับเป็นความน่าสนใจของถ้ำเก่าในมิติใหม่ที่นอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังมีตำนานความรักอมตะเป็นเครื่องสอนใจคนรุ่นใหม่บางคนที่ไม่ค่อยจะถนอมในคุณค่าแห่งรักอีกด้วย

และนี่ก็คือเรื่องราวของ 2 แหล่งท่องเที่ยวเปิดตัวใหม่ ถือเป็นอีกบางส่วนบางมุมของเมืองแพร่เมืองผ่าน ที่หากใครผ่านแล้วไม่ผ่านเลยก็จะรู้ว่าแพร่มีสิ่งดีๆชวนค้นหาเกินกว่าความคาดคิดคำนึงของใครหลายๆคนอยู่ไม่น้อยเลย
27 ก.ค. 53 เวลา 13:54 3,527 5 46
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...