เปิดตำนานการสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” ในเกาหลีใต้ หลังถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ กว่า 40 ปี

https://www.catdumb.tv/democracy-in-south-korea-119/ 

ประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย แต่ก่อนหน้าที่จะกลายมาเป็นประชาธิปไตยนั้นคนเกาหลีต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมายเหลือเกิน ทั้งการตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่เป็นเผด็จการ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เรียกว่า “สาธารณรัฐ” แล้วก็ตาม มีการรัฐประหาร และการประท้วงที่เกิดการสูญเสียมากมาย ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของประเทศเกาหลีใต้ จึงกลายมาเป็นโมเดลให้หลายๆ ประเทศใช้เป็นกรณีศึกษา 

เพื่อเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจในทวีปเอเชียอย่างในทุกวันนี้

 

ก่อนที่จะเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมด เรามาทำความเข้าใจกันถึงการแบ่งประเทศกันก่อน ทุกอย่างเริ่มกันตั้งแต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1948 ประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่เดิมทีเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อนถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยที่ฝ่ายเกาหลีเหนือมีสหภาพโซเวียตคอยดูแลเป็นเหมือนพี่เลี้ยง ส่วนฝ่ายเกาหลีใต้เป็นสหรัฐอเมริกา ทั้งสองฝ่ายแบ่งระบบการปกครองกันอย่างชัดเจน โดยที่ฝ่ายเกาหลีเหนือใช้ระบบสังคมนิยม ส่วนเกาหลีใต้ใช้ระบบประชาธิปไตย 

ยุคประธานาธิบดี อี ซึง-มัน (ค.ศ. 1948-1960) 

หลังจากที่แบ่งประเทศกันเรียบร้อย ฝ่ายเกาหลีใต้ก็ได้มีการเลือกตั้งครั้งแรกใน 1948 และอี ซึง-มัน ที่เป็นพลเรือนก็ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีโดยสภาสมัชชาแห่งชาติ หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้วจนครบวาระ นายอี ซึง-มันก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าในสมัยต่อไปตนเองจะไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อ ก็เลยมีความพยายามที่จะ “สืบทอดอำนาจ” ต่อ

 

ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งจากการให้สมัชชาแห่งชาติเป็นคนเลือกประธานาธิบดี กลายมาเป็นให้ประชาชนเลือกโดยตรงแทน และเขาก็ได้รับคะแนนเลือกตั้งไปอย่างท่วมท้นกลายเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 พอจะหมดวาระในสมัยที่ 2 นายอี ซึง-มัน ก็ยังไม่หยุดแค่นี้ เขาพยายามสืบทอดอำนาจอีกครั้งด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ให้ตำแหน่งประธานาธิบดี “ไม่มีการกำหนดวาระ” 

 

ทำให้นายอี ซึง-มันกลายเป็นประธานาธิบดีติดต่อกันไปอีกอย่างน้อย 2 สมัย โดยการใช้กฎหมายกำจัดคู่แข่ง ใส่ร้ายพรรคตรงข้ามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (ซึ่งทำได้ง่ายมาก เพราะขณะที่เขาอยู่ในอำนาจนั้น อยู่ในช่วงสงครามคาบสมุทรเกาหลี) จนกระทั่งปี 1960 ประชาชนเริ่มทนไม่ไหวกับการกระทำที่เหมือนเป็นเผด็จการ และความพยายามผูกขาดอำนาจไว้เพียงฝ่ายเดียว ก็เริ่มออกมาประท้วงกันทั่วประเทศ 

รัฐบาลที่นำโดยนายอี ซึง-มัน ประกาศสภาวะฉุกเฉิน มีการใช้กระสุนจริงกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 186 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนท้ายที่สุดก็ต้องหนีออกจากประเทศไปด้วยความช่วยเหลือจาก CIA ของสหรัฐอเมริกา โดยลี้ภัยไปอยู่ที่ฮาวายและเสียชีวิตลงใน 5 ปีต่อมา 

ยุคประธานาธิบดียุน โบ-ช็อน (ค.ศ. 1960-1961) 

หลังจากขับไล่อี ซึง-มันออกไปได้แล้ว เกาหลีใต้ก็เริ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยครั้งใหญ่ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายหมวด ลดอำนาจประธานาธิบดีลง ตั้งรัฐสภาขึ้นมาใหม่ และใช้ระบบรัฐสภาโดยที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้มีเกาหลีใต้มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมามากมาย และถูกประชาชนกดดันให้ทำการเช็กบิลกับเครือข่ายเผด็จการของอี ซึง-มัน มีข้าราชการจำนวนมากถูกไล่ออก และถูกสอบสวนมากกว่าหลายหมื่นคน มีการพยายามจะลดอำนาจของกองทัพลง เพราะสงครามคาบสมุทรเกาหลีจบไปแล้ว แต่พอถึงช่วงเวลาเลือกตั้งจริงๆ กลายเป็นว่านายยุน มีเสียงที่ปริ่มน้ำ โดยมีพรรคฝ่ายค้านเป็น “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่เคยเป็นพรรคพวกของนายอี ซึง-มัน มาก่อน

 

ภายใต้การบริหารของนายยุนมีการบริหารจัดการที่ย่ำแย่ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องของการเมือง ที่ไม่สามารถจัดการกับผู้มีอำนาจเก่าได้ ก็เลยทำให้ถูกทำการรัฐประหารยึดอำนาจโดยนายพล พัก ช็อง-ฮี ในเดือนพฤษภาคม ปี 1961 

ยุคผู้นำ นายพลพัก ช็อง-ฮี (ค.ศ. 1963-1972) 

หลังจากที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาได้ในปี 1961 ก็ได้มีการยกเลิกระบบรัฐสภาออกไป แล้วก็ตั้งสภาสูงสุดขึ้นมาโดยที่มีตัวเองเป็นประธาน พร้อมบอกกับประชาชนว่า “ขอเวลาแค่ 2 ปี” ในการขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปและปฏิรูปกองทัพ จากนั้นก็มีการทำประชามติให้ประธานาธิบดีกลับมามีอำนาจสูงสุดอีกครั้ง พร้อมกับรับปากว่าประเทศก็จะกลับไปสู่การเลือกตั้งดังเดิม พอครบระยะเวลา 2 ปี ก็กลายเป็นว่าจัดการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ แต่ว่ามีการตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า DRP (Democratic Republican Party) ขึ้นมา แล้วนายพลพัก ก็ลาออกจากกองทัพ ไปเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรค DRP ซะอย่างนั้น!?

 

ก็ตามคาดครับนายพลพัก ชนะการเลือกตั้งไปถึง 2 สมัยด้วยกัน และจากการปกครองของนายพลพัก ทำให้ประเทศเกาหลีใต้พัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด โดยการเปลี่ยนจากการเน้นระบบเกษตรกรรม กลายมาเป็นระบบอุตสาหกรรม จนทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ทว่าความเจริญนั้นกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ ส่วนคนต่างจังหวัดนั้นยังคงจนอยู่เหมือนเดิม นอกจากนี้การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมยังตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “กดค่าแรงให้มีราคาถูก” เพื่อลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีกำไรมหาศาล 

นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อต่อพวกพ้องของตัวเอง (พรรครัฐบาล) มีการบังคับใช้กฎหมายกับพรรคฝ่ายค้านอย่างเต็มรูปแบบ แต่พอเป็นฝ่ายรัฐบาลกลับสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และเมื่อมาถึงปี 1971 รัฐบาลของนายพลพัก ก็มาถึงทางตัน เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเองนั้น กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ได้เพียงแค่ 2 วาระเท่านั้น ก็เลยเลือกใช้วิธีเดิม ก็คือ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ให้สามารถอยู่ต่อได้หลายวาระ และการเลือกตั้งครั้งต่อมาเขาก็ชนะไป แต่ทว่าเป็นการชนะที่ค้านสายตาประชาชนเป็นอย่างมาก 

ทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชน พรรคฝ่ายค้าน และแรงงาน พอเกิดกระแสต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ผ่านการเลือกตั้งไปได้ไม่นาน นายพลพักก็ตัดสินใจประกาศสภาวะฉุกเฉิน งดใช้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยุบพรรคการเมือง หรือเรียกง่ายๆ ว่า “รัฐประหารตัวเอง” 

ยุคผู้นำ นายพลพัก ชอง-ฮี ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1972-1979) 

หลังจากประกาศสภาวะฉุกเฉินไปได้ 1 ปี ในปี 1972 รัฐบาลนายพลพัก ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญยูชิน” โดยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีอย่างล้นเหลือ ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาได้ 1 ใน 3 เพื่อให้มายกมือเลือกให้ตัวเองเป็นประธานาธิบดีต่อ แถมยังดำรงตำแหน่งได้โดยไม่กำหนดวาระ มีการใช้หน่วยข่าวกรอง KCIA (มี CIA ของสหรัฐเป็นต้นแบบ) คอยขัดขวางการต่อต้านรัฐบาล ที่นำโดยประชาชนและพรรคฝ่ายค้าน มีการยุบพรรคฝ่ายค้านเป็นว่าเล่น

 

แม้ว่าประเทศเกาหลีในยุค 1970 จะมีความก้าวหน้าจากการเน้นการส่งออก และการทำอุตสาหกรรม แต่ก็มีคนแค่บางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากความเจริญก้าวหน้านี้ บรรดานักการเมืองและข้าราชการต่างก็มีความร่ำรวยแบบผิดปกติ เพราะได้รับประโยชน์จากการเซ็นต์มอบผลประโยชน์ในโครงการรัฐต่างๆ ให้กับเหล่านักลงทุน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยากจน และถูกกดขี่ เหล่านักศึกษาและประชาชนเริ่มมองเห็นถึงความไม่เท่าเทียม และมองไม่เห็นอนาคตความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง ก็เริ่มสะสมความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ 

จนกระทั่งในปี 1979 นายพลพัก ก็พยายามที่จะสืบทอดอำนาจของตัวเองอีกครั้ง โดยการใช้สภาที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเองขับไล่คู่แข่ง หรือผู้นำฝ่ายค้านก็คือนาย คิม ย็อง-ซัม (ที่ภายหลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่มีบทบาทมากในการปฏิรูปกองทัพและการเมืองของเกาหลีใต้) ออกไปจากสภา

 

ทำให้ประชาชนเป็นจำนวนมากทนไม่ไหวและออกมาชุมนุมขับไล่ ระหว่างนั้นก็มีการสลายการชุมนุม จับกุมผู้ชุมนุมเป็นว่าเล่น แต่ทว่ายิ่งจับกุม ยิ่งสลาย ก็ยิ่งมีประชาชนออกมามากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ประชาชนเริ่มออกมากันมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลค่อยๆ หมดความชอบธรรมลง เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น!! นายพลพักถูกลอบสังหารคาทำเนียบรัฐบาล โดยผู้นำของหน่วยงาน KCIA ที่เขาตั้งขึ้นมาเอง 

ซึ่งสาเหตุของการลอบสังหารจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด บ้างก็บอกว่าเป็นการบันดาลโทสะจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน บ้างก็ว่าเกิดจากการแย่งชิงอำนาจ บ้างก็ว่า CIA ของสหรัฐอยู่เบื้องหลัง 

ยุครัฐบาลนำโดยกลุ่ม สมาคมหนึ่งเดียว (ฮานาเฮว) (ค.ศ. 1979-1987)

 

หลังจากที่ผู้นำพักเสียชีวิตลง ฝ่ายรัฐบาล (อำนาจเก่า) ก็เลือกประธานาธิบดีกันเองอีกรอบ และก็ได้นาย ชเว กยู-ฮา มาเป็นประธานาธิบดี แต่หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 วัน ก็ถูกทำการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกลุ่มที่เรียกว่า “สมาคมหนึ่งเดียว” (ฮานาเฮว) โดยสมาคมที่ว่านี้เป็นสมาคมของทหารที่เรียนจบโรงเรียนทหารรุ่นเดียวกัน เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยกันเล่นการเมือง ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ และมีอิทธิพลถึงขั้นสามารถแต่งตั้งโยกย้ายนายพลส่วนใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ในยุคนั้นได้ การรัฐประหารครั้งนี้นำโดยนายพลช็อน ดู-ฮวัน และนายพลโน แท-อู โดยมีข้ออ้างว่าต้องการที่จะตามจับล้างบางพวกกบฎ ที่ทำการลอบสังหารผู้นำ (นายพลพัก)

 

ภาพจาก @call119now 

มีการกำจัดฝ่ายตรงข้ามออกไป และแต่งตั้งพวกของตัวเองที่เป็นทหารไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง แบบที่ไม่ต้องมีกฎหมายอะไรรองรับทั้งสิ้น จากนั้นในปี 1980 นายพลช็อน ก็ลาออกจากกองทัพ แล้วไปนั่งตำแหน่งหนัวหน้าหน่วย KCIA เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งและเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี ประชาชนและนักศึกษาก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า นี่คือหนังม้วนเดิมเหมือนกับตอนนายพลพัก แบบชัดๆ ก็เลยออกมาต่อต้าน จัดชุมนุมครั้งใหญ่ในรอบหลายปี

 

แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จเหมือนกับตอนที่ขับไล่นายอี ซึง-มัน ออกไปได้ เพราะมีทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างยาวนาน แถมยังมีทหารมานั่งอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมืองมากมาย บวกกับช่วงสงครามกับเกาหลีเหนือที่กลับมาอีกครั้ง ทำให้กองทัพมีงบประมาณ และอาวุธที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก พร้อมจะเอามาปราบปรามการชุมนุมได้ทุกเมื่อ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 นายพลช็อนก็ออกประกาศกฎอัยการศึก สั่งห้ามชุมนุมอย่างเด็ดขาด และปิดมหาวิทยาลัย 

ในวันต่อมา (18 พฤษภาคม 1980) ประชาชนเป็นจำนวนมากก็ลุกฮือออกมาประท้วงที่เมืองกวางจู และนี่เองก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้

 

รัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธสงคราม การต่อสู้ระหว่างประชาชนและทหารกินเวลายาวนานถึง 9 วันติดๆ กัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย และบาดเจ็บอีกหลายพันราย (จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าประมาณการต่ำเกินไปด้วยซ้ำ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจมีถึง 2,000 ราย) เมื่อปราบปรามประชาชนสำเร็จ นายพลช็อนก็ประกาศยุบสภาสมัชชาแห่งชาติ และประกาศตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่เพื่อปกครองชั่วคราว โดยให้ตัวเองเป็นประธาน แล้วก็ทำการแก้รัฐมนูญใหม่ผ่านการทำประชามติ (แหม๊ ผ่านง่ายกันจริงจริ๊งงงง)

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขมาให้ประธานาธิบดีอยู่ได้ 7 ปีต่อ 1 วาระ และไม่มีการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งการเลือกตั้งนั้นประชาชนจะได้เลือกผู้แทน และผู้แทนก็จะมาเลือกผู้นำอีกที จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งผลให้นายพลช็อน ได้รับเลือกตั้งให้กลายเป็นประธานาธิบดีไปในที่สุด

 

ในยุค 1980 ภายใต้การนำของรัฐบาลนายพลช็อน ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ยิ่งพัฒนาขึ้นไปอีก กลายเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์รายใหญ่ มีอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดขึ้น และมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากมาย แต่จากการปกครองแบบเผด็จการ ก็ทำให้มีคนไม่กี่กลุ่มที่ได้ประโยชน์ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งห่างกันขึ้นไปอีก ประชนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างยังต้องทนทุกข์เหมือนเดิม ในขณะที่นักการเมืองและพนักงานราชการตำแหน่งใหญ่ๆ รวยขึ้นๆ ความรู้สึกเหล่านี้เริ่มทำให้ประชาชนและนักศึกษาเริ่มไม่พอใจ แต่ทว่าหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึก มาใช้รัฐธรรมนูญ การควบคุมก็ย่อมลดน้อยลง ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกันมากขึ้น 

ในปี 1986 พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ออกมาล่ารายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็ได้ไปมากกว่า 10 ล้านรายชื่อ!! เมื่อกระแสการต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1987 การปราบปรามก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง มีการจับตัวแกนนำนักศึกษาไปซ้อมทรมานจนเสียชีวิต และการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนลุกฮือออกมาชุมนุมกันมากกว่า 1 ล้านคน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการต่อต้านนายพลโน แท-อู ที่กำลังเตรียมตัวจะมารับการสืบทอดอำนาจต่อ ไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจ

 

รัฐบาลเผด็จการที่นำโดยนายพลช็อน เตรียมการที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง เพื่อสลายการชุมนุม ทั้งการปิดมหาวิทยาลัย ปิดสื่อ และเตรียมใช้อาวุธสงครามกับประชาชน แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น อยู่ๆ นายพลช็อนก็ตัดสินใจยกเลิกการสลายการชุมนุมซะอย่างนั้น ต่อมาในปี 1987 นายพลโน แท-อู ก็ออกมาประกาศยอมรับข้อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง และรับประกันความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ โดยที่สาเหตุของการที่อยู่ๆ ก็เปลี่ยนใจของรัฐบาลเผด็จการนั้น จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจทราบได้ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานมากมายเช่น เศรษฐกิจของเกาหลีใต้พัฒนามาไกลเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปปกครองระบอบเผด็จการแบบเต็มรูปแบบแล้ว 

หรือรัฐบาลเผด็จการพยายามที่จะรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง เพราะในช่วงนั้นเกาหลีใต้กำลังจะกลายเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นเพราะว่าสหรัฐอเมริกาเลิกให้การสนับสนุนผู้นำที่เป็นเผด็จการในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียแล้ว เป็นต้น หลังจากนั้นประเทศเกาหลีใต้ก็มีการเขียนรัฐมนูญขึ้นมาใหม่ โดยการร่วมมือกันระหว่างพรรคฝ่ายค้าน และพรรครัฐบาล เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ” สมัชชาแห่งชาติจะต้องมาจากการเลือกตั้ง, และประธานาธิบดีจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง รัฐธรรมมนูญฉบับดังกล่าวก็มีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน 

ยุคการเมืองหลังจากระบอบเผด็จการ 

แม้ว่าการเมืองจะกลับมาอยู่ในสภาวะปกติแล้ว แต่ว่าผู้ที่ได้รับอำนาจก็ยังอยู่ฝั่งที่เคยเป็นเผด็จการมาก่อน จนกระทั่งนายคิม ยัง-ซัม ได้รับการเลือกตั้งในปี 1993 ก็ได้ทำการปฏิรูปกองทัพ ทำให้มีอำนาจน้อยลง คงไว้ให้สามารถปกป้องประเทศได้เพียงอย่างเดียว มีการลดอำนาจกลุ่มสมาคมหนึ่งเดียว (ฮานาเฮว) ลงเพื่อไม่ให้มาทำรัฐประหารยึดอำนาจได้อีก และในปี 1995 จากการผลักดันของญาติผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมที่เมืองกวางจู จึงทำให้ศาลรัฐมนูญออกกฎหมายฉบับพิเศษ เพื่อเอาผิดเหล่าคณะรัฐประหารในอดีตที่กระทำการล้มล้างอำนาจรัฐบาลซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต 

 

คิม ย็อง-ซัม ประธานาธิบดีผู้ได้รับฉายาว่าบิดาแห่งการปฏิรูป

โดยการให้เหตุผลว่า “แม้การทำรัฐประหารสำเร็จไปแล้ว และจะนิรโทษกรรมตัวเองไปแล้วนั้นถือเป็นเรื่องที่ใช้การไม่ได้ เหตุผลนี้ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีกบฎล้มล้างการปกครอง” ทั้งอดีตประธานาธิบดีช็อน นายพลโน และนายทหารอีกกว่า 14 คนถูกจับ ในความผิดข้อหากบฎยึดอำนาจ, ใช้อำนาจสร้างความร่ำรวยแบบผิดกฎหมาย, ความผิดทางอาญาฐานฆ่าประชาชนที่ออกมาชุมนุม และนำประเทศไปสู่การคอรัปชัน 

 

อดีตประธานาธิบดีช็อนถูกตัดสินประหารชีวิต และยึดทรัพย์จำนวน 8,000 ล้านบาท ส่วนนายพลโน ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี และยึดทรัพย์จำนวน 10,000 ล้านบาท ก่อนที่จะถูกลดโทษให้นายช็อนเหลือจำคุกตลอดชีวิต และนายโนเหลือจำคุก 17 ปี แต่ทั้งคู่ก็ติดคุกจริงๆ เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะถูกปล่อยตัวออกมา ก็ยังคงถูกควบคุมจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยรัฐบาลเกาหลีใต้อยู่จนถึงทุกวันนี้ 

ที่มา. https://www.catdumb.tv/democracy-in-south-korea-119/

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Credit: https://www.catdumb.tv/democracy-in-south-korea-119/
#การเมือง
TheBookvariety
นักแสดงรับเชิญ
สมาชิก VIP
18 ต.ค. 63 เวลา 12:08 2,380
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...