https://www.catdumb.tv/stonehenge-lego-378/
เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะรู้จัก หรือเคยได้ยินเรื่องราวของ “สโตนเฮนจ์” โบราณสถานหินซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะอังกฤษกันมาบ้าง และหลายๆ คนก็อาจจะทราบกันว่าโบราณสถานแห่งนี้ เคยเป็นจุดนัดพบของคนในอดีตมาก่อน แต่ทราบกันหรือไม่ว่าเจ้า โบราณสถานหินซึ่งการใช้งานยังคงเต็มไปด้วยปริศนาแห่งนี้ แท้จริงแล้วยังมีความสามารถซ่อนอยู่อีกอย่างด้วย เพราะเมื่อล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเปิดเผยว่า
สโตนเฮนจ์นั้น มีความสามารถในการเสริมระดับเสียง เช่นเสียงพูด หรือดนตรีของผู้คนภายในอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย
การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Archaeological Science ฉบับเดือนตุลาคม 2020 โดยในงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Salford ได้ตัดสินใจทดสอบทฤษฎีในอดีต ที่ว่าสโตนเฮนจ์อาจจะมีความสำคัญในการสะท้อนเสียงผู้คนในอดีตก็เป็นได้
ดังนั้น ทีมนักวิจัย จึงตัดสินใจที่จะใช้เวลากว่า 9 เดือนลงทุนสร้างสโตนเฮนจ์จำลองขนาด 1 ต่อ 12 ขึ้นในห้องเก็บเสียงเพื่อที่จะจำลองการสะท้อนเสียงของโบราณสถานหินแห่งนี้เลย
อ้างอิงจากคุณ Trevor Cox ผู้นำการวิจัย พวกเขาเรียกผลงานที่ออกมาว่า “Stonehenge Lego” โดยมันเป็นสโตนเฮนจ์จำลองที่ประกอบไปด้วยหินมากถึง 157 ก้อน ซึ่งเป็นรูปร่างที่เราเชื่อกันว่าสโตนเฮนจ์เคยเป็นในอดีต
หลังจากสร้างสโตนเฮนจ์จำลองชิ้นนี้เสร็จ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มทำการทดลองด้วยการวางลำโพงและไมโครโฟนตามจุดต่างๆ ของ แบบจำลอง ซึ่งทำให้พวกเขาพบว่า
แม้สโตนเฮนจ์จำลองจะมีช่องว่างให้เสียงผ่านอยู่เต็มไปหมดก็ตาม แต่รูปร่างของมันกลับทำให้เสียงภายในมีความดังและชัดเจนยิ่งขึ้นอย่างน่าประหลาด มันมี Reverberation Time (ระยะเวลาการสะท้อนกลับของเสียงที่คงเหลืออยู่เมื่อต้นเสียงหยุดแล้ว) โดยเฉลี่ยถึง 0.6 วินาที ซึ่งสูงกว่าห้องนั่งเล่นปกติซึ่งมี Reverberation Time ราวๆ 0.4 วินาที
แถมระดับเสียงที่มากขึ้นนี้ก็ยังมีผลแค่ภายในตัวสโตนเฮนจ์และแทบไม่เล็ดลอดไปภายนอกเลยด้วย
จริงอยู่ว่า Reverberation Time ของ Stonehenge Lego จะไม่มากเท่าตามสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่อย่าง โถงแสดงคอนเสิร์ต (ราวๆ 2 วินาที) หรือ มหาวิหารขนาดใหญ่ (8 วินาที) ก็ตาม แต่สำหรับสิ่งปลูกสร้างเมื่อ 4,000-5,000 ปีก่อน มันก็นับว่าเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากอยู่ดี
และความสำเร็จนี้ก็ช่วยยืนยันอีกครั้งจริงๆ ว่า ใครก็ตามที่สร้างสโตนเฮนจ์ขึ้นมานั้น น่าจะต้องเป็นอัจฉริยะในโลกสมัยนั้นเลยทีเดียว
ที่มา https://www.sciencenews.org/article/stonehenge-acoustics-sounds-voices-music