เปิดตำนานลี้ลับ เรือดำน้ำ K-19 เจ้าของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ จนได้ชื่อเล่นว่า “ฮิโรชิม่า”

https://www.catdumb.tv/k-19-the-widowmaker-378/ 

ย้อนเวลากลับไปในช่วงความขัดแย้งที่โลกรู้จักกันในนาม “สงครามเย็น” ในช่วงปี 1954 สหรัฐอเมริกาได้ทำการปล่อยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลกลงสู่ท้องทะเล เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความกดดันให้กับสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก จนทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง 

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ทราบเลยว่าหนึ่งในเรือดำน้ำที่ออกมา ในภายหลังจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ จนมันได้รับชื่อเล่นว่า “The Widowmaker” (โดยนักประวัติศาสตร์) หรือ “Hiroshima” (โดยชาวรัสเซีย) เลย

 

ก่อนจะมาเป็น The Widowmaker 

อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลในอดีต เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เจ้าของเรื่องราวในครั้งนี้ มีชื่อว่า К-19 โดยมันถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงการชื่อ “Project 658” และเป็นหนึ่งในเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกๆ ของสหภาพโซเวียต การสร้างเรือในเวลานั้น เรียกได้ว่ารวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเรือลำนี้ใช้เวลาในเวลาเพียงแค่ราวๆ 2 ปี เท่านั้น 

โดยมันเป็นเรือที่มีความยาวถึง 114 เมตร หนักกว่า 4 พันตัน แถมยังสามารถดำน้ำต่อเนื่องได้นานถึง 60 วัน ในขณะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด 26 นอต นี่อาจจะเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความที่ Project 658 ถูกเร่งงานเป็นอย่างมากในระหว่างการสร้างเรือจึงมีอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ ถึงขนาดที่ว่าคน 10 ชีวิตต้องสละชีวิตในการสร้างเรือลำนี้ 

และแน่นอนว่าความรีบร้อนเกินไปนี้ก็เป็นราวกับการปูทางไปสู่หายนะในอนาคตเสียด้วย

 

ช่วงเวลาแห่งหายนะ 

ปัญหาของเรือดำน้ำลำนี้เกิดขึ้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1961 เพียงแค่ราวๆ 3 เดือนหลัง К-19 เข้าประจำการ โดยในเวลานั้น ทีมลูกเรือซึ่งบังคับการโดยนาวาเอก Nikolai Vladimirovich Zateyev ได้ค้นพบว่าระบบระบายความร้อนของตัวเรือได้เกิดรอยรั่วขนาดใหญ่ขึ้น ในระหว่างที่พวกเขาปฏิบัติการอยู่ใต้มหาสมุทรบริเวณขั้วโลกเหนือ 

 

Nikolai Vladimirovich Zateyev

 

ความผิดพลาดนี้ทำให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของตัวเรือมีอุณหภูมิพุ่งขึ้นไปสูงถึง 800 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอันตรายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับเรือ К-19 ที่ไม่มีระบบระบายความร้อนสำรองจากการเร่งการก่อสร้าง เมื่อไม่มีทางเลือกเนื่องจากพวกตัวเองยังอยู่ใต้น้ำลึก แถมวิทยุสื่อสารระยะไกลยังพัง Nikolai Zateyev จึงต้องตัดสินใจขั้นเด็ดขาด 

เขาตัดสินใจส่งวิศวกรรม 7 นาย (บางแหล่งก็บอกว่า 8 นาย) เข้าไปซ่อมรอยรั่วโดยตรง ซึ่งเป็นอะไรที่เสี่ยงสุดๆ เนื่องจากรอยรั่วอยู่ใกล้กับเครื่องปฏิกรณ์ และปริมาณรังสีในบริเวณก็ถือว่าสูงเป็นอย่างมาก โชคดีที่ทั้ง 7 คน สามารถอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นได้สำเร็จ แต่มันก็ต้องแลกด้วยชีวิตของพวกเขาเอง เพราะทั้งหมดล้วนแต่จะต้องเสียชีวิตในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังจากนั้น 

 

Why the USSR's First Nuclear Submarine Was a Disaster

แถมต่อให้อุดรอยรั่วไปแล้วก็ตาม รังสีที่รั่วไหลในเหตุการณ์นี้ก็ได้กระจายไปตามตัวเรือแทบทั้งลำแล้วอยู่ดี ซึ่งทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าลูกเรืออีกราวๆ 20 คนเองก็น่าจะเสียชีวิตจากรังสีในเวลาต่อมาเช่นกัน 

เรื่องราวหลังจากนั้น 

เมื่อแก้ไขปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าได้ Nikolai ก็ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไป จุดซ้อมรบของเรือดำน้ำดีเซลที่อยู่ใกล้ๆ โดยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือระยะสั้นเป็นพักๆ จนสามารถกลับขึ้นฝั่งได้สำเร็จ พวกเขาได้รับการสรรเสริญเป็นอย่างมากจากสหภาพโซเวียตในฐานะของผู้กล้าหลังจากนั้น แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้รับคำสั่งให้ ปิดหายนะที่เกิดขึ้นเป็นความลับ 

 

ภาพเรือ К-19 จากภาพยนตร์ K-19: The Widowmaker เมื่อปี 2002 

ส่วนเรือ К-19 เองก็ถูกซ่อมแซมกลับมาใช้งานใหม่ในอีกไม่กี่ปีต่อมา แม้ว่ามันจะต้องพบหายนะอีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชนกับเรือข้าศึก หรือการเกิดเพลิงไหม้ก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วเรือดำน้ำ К-19 ก็ถูกปลดระวางไปเมื่อปี 1991 อย่างไรก็ตามเรื่องราวของมันกลับจะถูกจดจำและเล่าขาน ในฐานะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แห่งหายนะไปอีกนานแสนนานเลย 

ที่มา. https://www.insidehook.com/daily_brief/news-opinion/ussrs-first-nuclear-submarine-actually-disaster

 

 

Credit: https://www.insidehook.com/daily_brief/news-opinion/ussrs-first-nuclear-submarine-actually-disaster
#เรือดำน้ำ
TheBookvariety
ตัวประกอบ
สมาชิก VIP
30 ส.ค. 63 เวลา 13:41 1,051
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...