5 การเคลื่อนไหวอันทรงพลัง ขับเคลื่อนโดย "เด็กรุ่นใหม่" จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในอดีต

https://www.catdumb.tv/five-times-youth-activists-made-a-difference-378/?fbclid=IwAR17Wf-aoB_kFOTIqxMSdoH8hUV0JlNvsGzR14kM1BIsTl_0A4zTDaCk8no 

ขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่น คนบางกลุ่มก็มักจะชิงวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อนแล้วว่า เด็กๆ เหล่านี้มักจะทำอะไรไม่ยั้งคิด และยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะออกมาเคลื่อนไหวอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ทราบกันหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ตั้งแต่ในประเทศดังๆ อย่างสหรัฐอเมริกาไปจนถึงตะวันออกกลาง เรามีการประท้วงและการเคลื่อนไหวสำคัญๆ มากมายที่มีจุดเริ่มต้นขึ้นมาจาก การรวมตัวของเด็กๆ 

ไม่เชื่อก็ลองไปชม 5 การเคลื่อนไหวที่ทรงพลังซึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ต่อไปนี้ดูสิ

 

การเคลื่อนไหวที่ 1 : การนั่งประท้วงที่กรีนส์โบโร 

นี่คือการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวดำของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1955-1968 เลยก็ว่าได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1960 เมื่อนักศึกษาผิวสี 4 คนจากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ทแคโรไลนา ตัดสินใจประท้วงความไม่เท่าเทียม ด้วยการเข้าไปนั่งในร้านอาหารซึ่งถูกระบุไว้ว่า “สำหรับคนขาวเท่านั้น” และไม่ยอมลุกแม้ถูกไล่ 

 

ผลงานของพวกเขา จุดประกายให้กับนักศึกษาจำนวนมากให้ออกไปประท้วงในรูปแบบใกล้เคียงกันในเวลาต่อมา ส่งผลให้การเคลื่อนไหวค่อยๆ ขยายตัวขึ้น จนในที่สุดกิจกรรมนี้ก็เกิดขึ้นในแทบทุกเมืองทางตะวันตกของสหรัฐ แน่นอนว่าในช่วงเวลาดังกล่าวย่อมมีนักเรียนจำนวนมากถูกจับ แต่การกระทำนี้ก็ทำให้มีร้านอาหารจำนวนมากเช่นกันที่ยกเลิกที่นั่งสำหรับคนขาวเท่านั้นไป 

การเคลื่อนไหวที่ 2 : การประท้วงสงครามเวียดนาม 

ในช่วงสงครามเย็น ชายหนุ่มกว่าสองล้านคนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในช่วงสงครามเวียดนาม ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประท้วงจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษา ตั้งแต่ยุค 1960 เป็นต้นมานักเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาเริ่มออกมาเดินขบวนต่อต้านสงคราม ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศและทำให้เกิดการถกเถียงเป็นอย่างมากในประเทศว่าเด็กๆ ควรมีสิทธิ์เช่นนี้จริงๆ หรือ? 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ยุค 1970 การสนับสนุนสงครามเวียดนามในประเทศก็เริ่มที่จะสั่นคลอนอย่างหนัก และแม้ว่ามันจะต้องแลกด้วยความตายของนักเรียนไร้ทางสู้หลายคน ซึ่งถูกฆ่าในระหว่างการประท้วงก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ต้องถอนตัวจากสงครามจริงๆ ในที่สุด 

การเคลื่อนไหวที่ 3 : การปฏิวัติกำมะหยี่ 

ในปี 1989 ที่ประเทศเชโกสโลวาเกีย โลกได้พบกับการปฏิวัติที่ทั้งรวดเร็ว สงบ และประสบความสำเร็จที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อหลังจากกำแพงเบอร์ลินพังลงได้เพียง 8 วัน กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนนับแสนซึ่งนำโดยนักเรียนและคนหนุ่มสาวได้ เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลพรรคการเมืองเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวาเกีย 

 

ด้วยจำนวนคนที่มากมายซึ่งมีความคิดไปในทางเดียวกันนี้ ในเวลาเพียงแค่ 11 วัน การประท้วงของพวกเขาก็ส่งผลเมื่อ การปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวที่เคยใช้งานมานานกว่า 41 ปี ได้สิ้นสุดลง และการปกครองของเชโกสโลวาเกียก็ถูกเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหลังจากนั้น 

การเคลื่อนไหวที่ 4 : อาหรับสปริง 

นี่คือการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างใหม่และเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันมาก เมื่อวันช่วงปี 2010 กลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษาได้ร่วมตัวกันจัดการประท้วงในประเทศแถบอาหรับ โดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นสื่อกลางสำคัญ พวกเขามีขอบเขตการประท้วงและเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านการทุจริตของตำรวจ หรือต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในหลายประเทศต้องเผชิญกับการตอบสนองรุนแรงจากทางการ 

 

แน่นอนว่าการประท้วงวงกว้างแบบนี้ย้อมเป็นไปไม่ได้ที่จะสำเร็จทุกที่ แต่อย่างน้อยๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ประธานาธิบดีของ ตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย และ เยเมนถูกสังหารหรือขับไล่ เรียกได้ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศแถบอาหรับเลย 

การเคลื่อนไหวที่ 5 : การประท้วงท่อส่งน้ำมันดาโคตา 

นี่คือการต่อสู้ของกลุ่มชนพื้นเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งต่อต้านการวางท่อส่งน้ำมันในเขตชุมชนของชนเผ่าสแตนดิงร็อคซูส์ เนื่องจากความกลัวว่าท่อส่งน้ำมันดิบนี้อาจทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนและกระทบต่อระบบนิเวศได้ โดยการประท้วงในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2016 และเช่นเดียวกับการชุมนุมทั้ง 4 ข้างต้น ถูกนำทีมโดยคนหนุ่มสาวของ และมักได้รับการตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้ประท้วงและความรุนแรง

 

การประท้วงที่เกิดขึ้นในเวลานั้นนำไปสู่การจัดตั้งสภาเยาวชนชนพื้นเมืองนานาชาติขึ้นเพื่อ สร้างแรงบันดาลใจ จัดระเบียบ และเสริมอำนาจให้กับผู้นำรุ่นใหม่ในนามของสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา และดูเหมือนว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา ศาลของสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะมีคำตัดสินให้ชนเผ่าสแตนดิงร็อคซูส์ เป็นผู้ชนะในการต่อต้านท่อส่งน้ำมันในครั้งนี้เสียด้วย 

ที่มา. https://www.benjerry.com/whats-new/2018/05/youth-activists

 

Credit: https://www.benjerry.com/whats-new/2018/05/youth-activists
20 ส.ค. 63 เวลา 13:42 3,838
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...