เตือนภัยเสียงดัง 10สถานที่หูหนวกในกรุงเทพฯ
เสียงดัง...รำคาญ ปวดหู
อาการ เหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ ด้วยความห่วงใย ทาง "ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ" ชมรมที่เกิดจากการรวมตัวของคนหลากหลายอาชีพ อาทิ แพทย์ สถาปนิก อาจารย์ พยาบาล ฯลฯ ที่มีความฝันอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสงบและสุขภาพดี จึงได้สำรวจสถานที่หนวกหูทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีความดังเกิน 50 เดซิเบล พบ "10 สถานที่ที่เป็น ภัย" ต่อโสตประสาทของคนกรุง
รถไฟฟ้าบีทีเอส แม้จะนำความสะดวกสบายมาให้ในการเดินทาง แต่ข้อเสียอยู่ที่เสียงโฆษณาทั้งในและนอกขบวนรถที่ดังเกินไป, โรงภาพยนตร์, ห้างสรรพสินค้าแหล่งเกิดเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงประกาศ เสียงโฆษณาสินค้า แต่ที่หนักสุด คือ การจัดงานอีเว้นต์ที่เปิดเสียงการจัดงานดังจนเรียกว่าจัดที่ชั้น 1 ดังถึงชั้น 5 ซึ่งมีความดังถึง 85 เดซิเบล
อีกหนึ่งสถานที่ที่ให้ประโยชน์ทางกายแต่ให้โทษทางหู คือ สถานที่ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ อย่าง การเต้นแอโรบิค ซึ่งมักเปิดลำโพงยักษ์หันหน้าหาผู้เต้น งานนี้หูของคนรักสุขภาพต้องรับความดังของเสียง 75-82 เดซิเบล, ลำโพงกลางแจ้ง ลำพังเสียงดังของการจราจรบนท้องถนนก็ดังอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังมีโทรทัศน์ขนาดยักษ์ เปิดเสียงดังแข่งกับเสียงรถให้คนผ่านไปมาได้ปวดทั้งหัว ปวดทั้งหู ซึ่งเสียงจากลำโพงกลางแจ้งดังกว่า 74 เดซิเบล
แหล่งมลพิษทางหูอีกแห่ง คือ เสียงนกหวีด บรรดา รปภ.มักจะสร้างมลพิษทางหูอยู่บ่อยๆ เรียกว่า เป่านกหวีดเป็นว่าเล่น รู้ไหมการเป่านกหวีดแต่ละครั้งเป็นการสร้างมลพิษทางเสียงถึง 94 เดซิเบล
สถานที่สร้างมลพิษอีกที่คือ วัด ใครจะคิดว่างานวัดที่จัดกันอย่างเกลื่อนในวัดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด มลพิษทางเสียงที่ดังกว่า 85 เดซิเบล ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คงไม่พ้นพระภิกษุ
นอกจากนี้ ยังรวมถึง สถานที่ที่มีการก่อสร้าง ทั้งการตอกเสาเข็ม เจาะคอนกรีต, ขนส่งมวลชน ที่มักติดตั้งโทรทัศน์ในรถโดยสารและนิยมเปิดเสียงดังๆ
สุดท้าย เสียงเพื่อนบ้าน ทั้งเสียงตะโกน เสียงทะเลาะ เสียงการจัดงานเลี้ยง ร้องคาราโอเกะกลางแจ้งของเพื่อนบ้านก็นับเป็นมลพิษทางเสียงด้วย
อาจารย์ อรญา สูตะบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ (www.quietbangkok.org) บอกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจทั่วกรุงเทพฯ ปัญหาที่พบคือ มีการใช้โทรทัศน์จอยักษ์ เครื่องขยายเสียง และลำโพงมากขึ้นๆ ซึ่งอัน ตรายจากเสียงดัง เบื้องต้นจะทำให้เกิดความหงุดหงิด เครียด และหากยังไม่เร่งแก้ไข ผลในระยะยาวคือ การสูญเสียการได้ยินในที่สุด
" ระดับเสียงปกติที่ไม่เป็นอันตราย ควรต่ำกว่า 50 เดซิเบล แต่ขณะนี้ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ระดับเสียงอยู่ที่ 70 เดซิเบล ซึ่งจุดยืนของกลุ่ม ไม่ต้องการให้กรุงเทพฯไร้เสียง แต่อยากให้ผู้ที่มีหน้าที่ทำให้เกิดเสียงดังตระหนักและควบคุมเสียงไม่ให้ เกินกว่า 50 เดซิเบล แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ควรมีมาตรการในการจำกัดเวลาเปิดเสียงดัง เพื่อคนกรุงเทพฯ จะได้มีสุขภาพการได้ยินที่ดี"
เป็นภัย....ที่คนกรุงต้องช่วยกันแก้ไข ก่อนที่คนในเมืองศิวิไลซ์จะกลายเป็นคนสูญเสียการได้ยินในที่สุด
สนับสนุนข้อมูล โดย มติชน