กรมควบคุมโรคแจง โรคลีเจียนแนร์ ไม่ได้ระบาด และไม่ได้เป็นโรคอุบัติใหม่ แจงเป็นเพียงการทำวิจัยเชื้อในพื้นที่เท่านั้น
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาปฏิเสธข่าวที่ระบุว่า ประเทศไทยเกิดโรคระบาดชนิดใหม่คือ โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงกว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 และกำลังแพร่ระบาดในภาคเหนือนั้น ไม่เป็นความจริง และโรคดังกล่าวไม่ได้แพร่ระบาดแต่อย่างใด เพราะเป็นโรคปกติทั่วไป ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่
ส่วนที่นายอิ่นใจ วงศ์รัตนเสถียร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ออกมาเปิดเผยนั้น ได้มีการชี้แจงแล้วว่า เป็นเพียงการทำวิจัยเชื้อของทีมวิจัยที่เก็บตัวอย่างพื้นที่เท่านั้น แต่สื่อมวลชนในท้องถิ่นอาจจะไม่เข้าใจ ทำให้มีการเสนอข่าวอย่างคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ โรคลีเจียนแนร์ พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2490 และมีการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 ที่รัฐมิเนโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีการระบาดไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และยุโรป ซึ่ง โรคลีเจียนแนร์ สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่า พบผู้ป่วย โรคลีเจียนแนร์ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2527
โดย โรคลีเจียนแนร์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันจากสิ่งแวดล้อม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ลีเจียนแนลลา นิวโมฟิลลา สามารถแพร่ระบาดผ่านระบบเครื่องปรับอากาศในอาคารใหญ่ ๆ ผ่านระบบ Cooling Tower รวมทั้งระบบจ่ายน้ำร้อน-เย็น ได้ ดังนั้นสถานที่เสี่ยงต่อ โรคลีเจียนแนร์ ได้แก่ตามโรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล รวมทั้งสถานที่ที่อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดละอองน้ำ เช่น สปา สระน้ำ น้ำพุประดับและสปิงเกอร์ในสวน ซึ่งเชื้อจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ
การติดต่อของ โรคลีเจียนแนร์ นั้นสามารถติดเชื้อผ่านทางปาก และการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วย โรคลีเจียนแนร์ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คอแห้ง ไอแห้งไม่มีเสมหะ ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส รวมทั้งมีอาการอาเจียน ท้องเสียตามมา ซึ่งหากมีอาการไม่หนัก ไม่มีภาวะปอดอักเสบ จะสามารถหายได้เอง 2-5 วัน ในทางการแพทย์จะเรียกว่า "โรคไข้ปอนเตียก" (Pontiac fever)
แต่หากมีภาวะปอดอักเสบตามมา จะเรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ ซึ่งเมื่อเอ็กซเรย์ปอดผู้ป่วยจะพบการอักเสบเป็นปื้น และจุดขาว และในผู้ที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว เสียชีวิตในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น แต่ปัจจุบันมียารักษาแล้ว
สำหรับกลุ่มเสี่ยง โรคลีเจียนแนร์ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัด หรือดื่มจัด ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะเทียม ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคปอดเรื้อรัง โรคมะเร็ง รวมทั้งคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยมากมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง