กิ้งกือมังกรสีชมพู

“กิ้งกือมังกรสีชมพู” สัตว์ตัวจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะสร้างชื่อให้ประเทศไทยด้วยการติดอันดับโลกของสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในโลก และพบในไทยเพียงแห่งเดียว  

          โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แถลงข่าวสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของไทยที่ติดอันดับโลกเป็นครั้งแรก จากการค้นพบ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" (Shocking Pink Millipede) โดยกลุ่มสมาชิกชมรมคนรักกิ้งกือ และศึกษาวิจัยจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติโดยคณะวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551

          กิ้งกือมังกรสีชมถูกค้นพบโดยสมาชิกใน ชมรมคนรักกิ้งกือ เมื่อเดือน พ.ค. 2550 พบในบริเวณป่าเขาหินปูนแถบภาคกลางตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่าง และพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เมื่อ ศ.ดร.สมศักดิ์ นำมาศึกษาวิจัยภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน และร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ (Henrik Enghoff) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือมือหนึ่งของโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก พบว่าเป็นกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกและให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เดสโมไซเตส เพอร์พิวโรเซีย (Desmoxytes purpurosea) และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550
       
          กระทั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) สหรัฐฯ ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกาและการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐฯ ซึ่งได้อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
       
          เหตุที่ได้ชื่อว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนักวิจัยอธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนว่า เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกรหรือพาราดอกโซโซมาติดี (Paradoxosomatidae) และมีสีชมพูสดใสแบบช็อคกิงพิงค์ (shocking pink) และมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู
       
          อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สมศักดิ์ เตือนว่าสารไซยาไนด์ที่กิ้งกือมังกรสีชมพูขับออกมามีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อคนได้ แต่ทางที่ดีก็ควรป้องกันไว้ก่อนโดยไม่ไปแตะต้องหากพบเห็นในธรรมชาติ          
       
          ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู นักวิจัยในโครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน เคยพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกมาแล้วหนึ่งชนิดคือกิ้งกือหินปูนใน จ.สระบุรี เมื่อปี 2549 ซึ่งขณะนี้ก็กำลังศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากกิ้งกือในการทำปุ๋ยอินทรีย์อยู่ด้วย
       
          ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกอีกว่าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูติดอันดับโลกจะสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อยู่อีกมาก

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
http://www.enn.co.th/news/146/ARTICLE/2534/2008-06-10.html

21 ก.ค. 53 เวลา 21:39 1,696 4 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...