https://www.catdumb.tv/sobibor-378/
เคยได้ยินเรื่องราวของค่ายมรณะชื่อ “โซบีบอร์” กันมาก่อนไหม? มันคือหนึ่งในค่ายกักกันจำนวนมาก ที่นาซีใช้งานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่างไปจากค่ายกักกันอื่นๆ อย่างดาเชาหรือเอาช์วิทซ์ ค่ายมรณะโซบีบอร์ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อ “กักกันนักโทษ” แม้แต่น้อย กลับกันหน้าที่ของค่ายโซบีบอร์นั้นมีเพียงสิ่งเดียว นั่นคือการรมแก๊สพิษสังหารนักโทษเพียงอย่างเดียว
ในช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ฮอโลคอสต์” นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่ามีชาวยิวกว่า 350,000 รายถูกส่งไปจบชีวิตลงที่ค่ายโซบีบอร์ จนกระทั่งในวันที่ชาวยิวตัดสินใจลุกฮือขึ้น และต่อต้านความโหดร้ายที่ตนได้รับ อ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ค่ายโซบีบอร์นั้น ถูกสร้างขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของ ยุทธการไรน์ฮาร์ด (Operation Reinhard) ออกแบบมาเพื่อโยกย้ายและสังหารชาวยิวในโปแลนด์เมื่อปี 1941
โดยในยุทธการนี้ นาซีได้สั่งสร้างค่ายมรณะสามแห่งในโปแลนด์เพื่อสังหารชาวยิวจำนวน 2 ล้านคนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ภาพถ่ายทางอากาศในอดีตของค่ายโซบีบอร์
ค่ายโซบีบอร์เริ่มทำการรับคนจากสลัมในโปแลนด์ผ่านทางรถไฟทันทีที่สร้างเสร็จในปี 1942 ในขณะที่ตัวสลัมเองก็ค่อยๆ โดนเผาทิ้งโดยเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ ของนาซี ค่ายโซบีบอร์ทำงานสังหารชาวยิวอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีใครรู้และแทบไม่มีบันทึกเหลืออยู่ไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 14 เดือนตุลาคมปี 1943 เมื่อกลุ่มนักโทษที่รอการประหารร่วมร้อย ตัดสินใจที่จะร่วมมือกันหนีออกไปจากค่าย
ภาพถ่ายทางอากาศของซากค่ายโซบีบอร์ที่เพิ่งถูกค้นพบ
เหตุผลที่ทำให้นักโทษคิดหนีออกจากค่ายนั้น เชื่อว่ามาจากการที่พวกเขาได้ยินข่าวลือ จากเจ้าหน้าที่ว่านาซีคิดจะเผาค่ายนี้ไปพร้อมๆ กับนักโทษเพื่อทำลายหลักฐานอาชญากรรมสงครามนั่นเอง โดยการลุกฮือในเวลานั้น ถูกนำทีมโดย Leon Feldhendler ผู้นำทางการเมืองของ Zolkiew และ Alexander Pechersky อดีตทหารโซเวียต-ยิว ที่เพิ่งมาถึงค่าย ซึ่งถูกยกเว้นการการรมแก๊สในทันทีด้วยการหลอกเจ้าหน้าที่ว่าเขาทำงานช่างไม้เป็น
นักโทษบางส่วนที่มีส่วนร่วมในการแหกค่าย
พวกเขานำนักโทษกว่า 600 คนบุกฝ่าการป้องกันของค่ายโซบีบอร์ มีทั้งทุ่นระเบิด ลวดหนาม และรั้วไฟฟ้า แต่ในขณะที่ Alexander สังหารเจ้าหน้าที่ SS ไปกว่า 11 คน นักโทษส่วนใหญ่กลับต้องเสียชีวิตไปจากการหนีครั้งนี้
คุณ Thomas “Toivi” Blatt หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากค่ายเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า…
“มันมีศพอยู่ทุกที่เลย เสียงปืนไรเฟิล ระเบิด และเสียงปืนกลดังสนั่นหู พวกนาซียิงมาจากระยะไกล ในขณะที่ในมือเรามีเพียงมีดทำเองและขวานเท่านั้น”
Thomas Blatt ผู้รอดชีวิตจากค่ายโซบีบอร์
ในท้ายที่สุดแล้ว นักประวัติศาสตร์ก็คาดการว่า มีนักโทษประมาณ 300 รายที่หนีรอดออกมาจากคุกในวันนั้น อย่างไรก็ตามคนที่อยู่รอดจริงๆ จนจบสงคราม ไม่ถูกจับหรือสังหารเสียก่อนนั้น มีเพียงแค่ 47 คนเท่านั้น ส่วนตัวค่ายโซบีบอร์และคนที่เหลืออยู่นั้น ในอีกไม่กี่วันต่อมาก็ถูกนาซีเผาทิ้งอย่างที่กลุ่มนักโทษแหกคุกกลัวจริงๆ และเรื่องราวของค่ายโซบีบอร์ก็ “ดูเหมือน” จะหายไปจากประวัติศาสตร์หลังจากนั้น
นักโบราณคดีตรวจสอบชิ้นส่วนกระดูกในหญ้าที่บริเวณห้องรมแก๊สของค่ายโซบีบอร์
อย่างไรก็ตามเมื่อมีชาวยิวหนีออกมาจากค่ายได้เช่นนี้ แน่นอนว่าความพยายามในการซ่อนหลักฐานอาชญากรรมสงครามในครั้งนี้ย่อมไม่เป็นไปตามที่นาซีหวังอย่างแน่นอน และเรื่องราวของพวกเขาเองก็จะถูกจดจำไปอีกนานแสนนานเลย
ที่มา.https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/sobibor