https://www.catdumb.com/switzer-119/
หากย้อนกลับไปในอดีตเราจะพบว่าความคิดเรื่องความเท่าเทียมของ ‘เพศสภาพ’ เป็นอะไรที่ดูรุนแรงจนทำให้พวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันนั้นยากที่จะจินตนาการถึงได้เลยล่ะ ถ้าไม่เชื่อล่ะก็ลองไปชมเรื่องราวของคุณยาย Kathrine Switzer วัย 70 ปี ที่วีรกรรมอันเด็ดเดี่ยวของเธอ ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1967 เธอได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ลงแข่งขันในการวิ่งมาราธอน Boston City Marathon
และเป็นหญิงสาวคนแรกที่สามารถวิ่งจนจบได้ ‘อย่างเป็นทางการ’
หลายๆ คนก็อาจจะคิดว่ามันก็แค่การวิ่งมาราธอนธรรมดาๆ ไม่เห็นมีอะไรยากเลยนี่นา ทำไมถึงกลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำได้ถึงขนาดนี้ล่ะ?
ก็เพราะว่าในช่วงนั้นผู้คนยังมีความเชื่อว่าผู้ชายนั้นต้องเป็นใหญ่ และผู้หญิงจะไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมอะไรที่ทัดเทียมกับผู้ชายได้เหมือนในปัจจุบัน และยิ่งเป็นการวิ่งมาราธอนที่เป็นกิจกรรมของผู้ชายก็ยิ่งทำให้กลายเป็นที่น่าจับตามอง
แม้ว่าจะมีนักวิ่งมาราธอนหญิงอีกหลายคนที่เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอน แต่สำหรับคุณยาย Switzer เป็นคนเดียวที่ทำการลงสมัครอย่างเป็นทางการและวิ่งจนเข้าเส้นชัย
แต่ระหว่างการวิ่งนั้นมันไม่ได้ง่ายดายเหมือนที่คิด เพราะเธอต้องถูกกลุ่มชายหัวรุนแรงที่ไม่ยอมรับการกระทำของเธอพยายามเข้ามาทำร้าย และไล่เธอออกไปจากการแข่งขัน พร้อมกับเสียงโห่ร้องของคนที่ไม่เห็นด้วยอีกมากมาย เธอเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “ฉันรีบวิ่งออกไปโดยสัญชาตญาณ พร้อมกับมีผู้ชายร่างใหญ่พยายามเข้ามาทำร้ายฉัน เขาพยายามที่จะจับตัวของฉันเหวี่ยงออกไปอย่างรุนแรง พร้อมกับตะโกนว่า ‘ออกไปจากการแข่งขันของฉัน และเอาป้ายนั่นมาซะ!!'”
ภาพนี้กลายเป็นหนึ่งในภาพตำนานประวัติศาสตร์ของโลก
หลังจากที่จบการแข่งงขันในครั้งนั้นคุณยาย Switzer ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับสตรีเพศในการเล่นกีฬา นอกจากนี้เธอก็ยังเป็นเสียงสำคัญในการเรียกร้องสิทธิสตรีในกีฬาต่างๆ ด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันมาราธอนอีกมากมายกว่า 39 รายการ สร้างสถิติและกวาดถ้วยรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันมาราธอนที่ New York อีกด้วย และในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ
ในปี 1972 ในการแข่งขันมาราธอนที่ Boston ผู้จัดอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครเข้าแข่งขันการวิ่งมาราธอน และต่อมาในปี 1984 ก็มีการจัดการแข่งขันการแข่งขันวิ่งมาราธอนหญิงในกีฬาโอลิมปิคเป็นครั้งแรก และในการจัดการแข่งขันมาราธอนที่ Boston ในปีที่จะถึงนี้คุณยาย Switzer ก็ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง พร้อมกับใช้ป้ายเลขเดิมของเธอที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งแรกเมื่อปี 1967
และหมายเลข 261 นั้นก็กลายเป็นหมายเลขนำโชคของเหล่านักวิ่งมาราธอนหญิง พร้อมกับให้ความหมายว่าเป็นเลขที่สื่อถึงการไม่กลัวอะไร บางคนก็ถึงกับใช้เชื่อ Switzer ในการสมัครเลยล่ะ
ที่มา https://www.distractify.com/trending/2017/04/17/1BmE6Q/boston-marathon-1st-woman