เปิดบทเรียนรัฐบาลเสียงข้างน้อย คึกฤทธิ์ - ถนอม คุม ส.ส. พรรคร่วมไม่อยู่ ถูกงูเห่าพ้นพิษจนรัฐบาลล่ม และเกิดการรัฐประหารตัวเอง จนนำไปสู่การนองเลือด 14 ตุลาคม 2516
หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีโหวตเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ซึ่งเป็นการรวมเสียงจากหลายพรรคจนสามารถตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หลายฝ่าย มีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลในสถานะเสียงปริ่มน้ำ ห่างกับคู่แข่งเพียงหลักหน่วย ว่าจะสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ และจะสามารถต้านทานฝ่ายค้านได้นานเพียงไหน
อย่างไรก็ตาม ในอดีต การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เช่นในสมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดตั้งรัฐบาลทั้งพรรคกิจสังคมมี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่ง แต่สามารถรวบเสียงจากพรรคอื่น ๆ จนได้ 135 เสียง ชนะคู่แข่งจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มี 128 เสียงไปอย่างฉิวเฉียด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก บุคคลสำคัญในประเทศไทย
แต่ทว่า รัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็สามารถอยู่ได้เพียง 10 เดือน เพราะมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลร่วมแปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจนต้องยุบสภาในที่สุด
นอกจากนี้ยังมีรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าพรรคสหประชาไทย ที่ได้จำนวน ส.ส. 74 ที่นั่ง แต่ยังสู้คู่แข่งไม่ได้ จึงได้ทำการรวบรวมเสียงจาก ส.ส. พรรคอื่น ๆ จนสามารถขึ้นเป็นรัฐบาลบริหารประเทศได้ในที่สุด แต่หลังจากรัฐบาลเริ่มทำงานไปได้ประมาณ 2 ปี ก็เกิดปัญหาการต่อรองผลประโยชน์อย่างมากมายจาก ส.ส. พรรคร่วม จนสุดท้ายจอมพลถนอม ต้องตัดสินใจทำการรัฐประหารรัฐบาลของตน จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516
แต่ทว่าในอดีตก็เคยมีนายกฯ ที่มาจากการรวมเสียงจากหลายพรรคและบริหารประเทศได้ตามปกติ เช่น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, นายทักษิณ ชินวัตร และนายชวน หลีกภัย เป็นต้น ที่สามารถบริหารจัดการ ส.ส. จากพรรคร่วมให้สามารถผ่านการโหวตต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า หลังจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะนำบทเรียนต่าง ๆ ในอดีตมาใช้ และสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพได้หรือไม่