https://www.catdumb.com/people-smoked-weed-sine-2500-years-ago-378/
เป็นเรื่องที่หลายคนทราบกันว่าในปัจจุบันกัญชา ได้กลายเป็นสิ่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในฐานะของสารเสพติด และในทางยารักษาโรค ว่าแต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราอาจจะใช้งานกัญชากันมานานกว่าที่เราคิด นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองในการสำรวจสุสานเก่าแก่ชื่อ “จีร์ซานคาล” (Jirzankal) บนพื้นที่ราบสูงปามีร์ ทางตะวันตกของประเทศจีน เหล่านักโบราณคดี ได้ทำการค้นพบวัตถุโบราณอายุร่วม 2,500 ปี ชิ้นหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเคยถูกใช้ในการเผากัญชาเพื่อสูดดมควันมาก่อน
โดยวัตถุโบราณชิ้นนี้คือกระถางเผาเครื่องหอมที่ทำจากไม้จำนวน 10 ใบ ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบทางเคมีแล้วจะพบว่ามันมีร่องรอยของสาร THC (ที่พบได้ในกัญชา) หลงเหลืออยู่ในปริมาณสูงมาก ปริมาณของสาร THC ที่พบนี้แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่ามีการใช้งานกัญชาในพิธีกรรมในสมัยก่อนจริงๆ
และยังมีความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาจะมีการคัดเลือกสายพันธุ์กัญชาที่จะนำมาใช้เป็นอย่างดีด้วย เนื่องจากตามปกติกัญชาตามธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีปริมาณ THC ที่ต่ำ
หลุม “M12” หนึ่งในหลุมศพที่มีการกระถางเผาเครื่องหอม
เป็นไปได้ว่าในอดีตคนในพื้นที่น่าจะมีการ เผากัญชาในพิธีศพที่มีดนตรีประกอบ เพื่อให้ผู้เขาร่วมพิธีมีความคิดว่าตัวเองสื่อสารกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาตินั่นเอง ทั้งนี้เองด้วยความที่สุสานจีร์ซานคาลตั้งอยู่ใกล้ “ทางสายไหม” เส้นทางการค้าซึ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีนกับตะวันออกกลาง ทีมนักโบราณคดีจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า ที่การใช้กัญชาเริ่มที่จะแพร่หลายไปทั่วโลกนั้น อาจจะมีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการค้าขายบนเส้นทางแห่งนี้ก็ได้
จริงอยู่ที่ว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จะทราบกันอยู่แล้วว่าชาวจีนนั้นมีการปลูกกัญชามาตั้งแต่เมื่อ 3,500-4,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ในเวลานั้นการปลูกกัญชาจะทำขึ้นเพื่อเก็บน้ำมันจากเมล็ด หรือไม่ก็เก็บเส้นใยไปทอผ้าเป็นหลัก
โครงกระดูกและวัตถุโบราณที่ถูกค้นพบในการขุดค้นครั้งนี้
ซึ่งนั่นทำให้การค้นพบหม้อเผากัญชาในครั้งนี้ นับว่าเป็นการค้นพบหลักฐานการใช้กัญชาในฐานะสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยพบมาไป อ้างอิงจากทีมวิจัย อนึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2019 ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านตัวงานวิจัยแบบเต็มๆ กันได้ ที่นี่
ที่มา https://www.eurekalert.org/pub_releases/2019-06/mpif-too060719.php