เรื่องน่ารู้ รัชสมัยของญี่ปุ่นยุคใหม่ ตั้งแต่ยุคเมจิจนถึงยุคเรวะ

https://teen.mthai.com/variety/169534.html 

มาติดตามเรื่องน่ารู้ประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นกัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 จะเป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากจะเป็นวันแห่งการเริ่มต้นยุคใหม่ “ยุคเรวะ” โดยมี สมเด็จพระจักรพรรดินะรุฮิโตะ พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 126 หลังจากที่จักรพรรดิอากิฮิโตะ ได้ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2019 

ยุคเมจิ 

 

สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ 

ความหมายของคำว่า “เมจิ” หมายถึง “กฎอันรู้แจ้ง” ยุคเมจินี้เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1868 – 1912 ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ และเป็นสมัยที่เด่นที่สุดสมัยหนึ่งในบรรดาประวัติศาสตร์ของประเทศ ได้พัฒนาในเรื่องอุตสาหกรรม พัฒนาสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของสังคมแบบใหม่ ทั้งที่ประเทศตะวันตกต้องใช้เวลาพัฒนานานนับศตวรรษ 

ในช่วงปีแรกๆ ของการครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงเกียวโตไปอยู่ที่เมืองเอโดะ และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นโตเกียว ซึ่งแปลว่า “เมืองหลวงตะวันออก” มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบเก่าของสมัยศักดินา ญี่ปุ่นทั้งประเทศทุ่มเทพลังงานและความกระตือรือร้นในการศึกษาและรับอารยธรรมตะวันตกมาใช้

 

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงปกครองประเทศด้วยความเข้าใจถ่องแท้และสร้างสรรค์ ซึ่งการปกครองของพระองค์ช่วยนำประเทศให้ผ่านพ้นช่วงทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง พระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1912 ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามโลกครั้งนี้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก เพราะญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงครามโลกเนื่องจากได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับประเทศอังกฤษไว้ 

ยุคไทโช 

 

พระราชวงศ์สมัยไทโช 

ความหมายของคำว่า “ไทโช” หมายถึง “ความชอบธรรมอันยิ่งใหญ่” เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1912 และสิ้นสุดเมื่อ ค.ศ. 1926 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน ภายใต้กระแสของลัทธิจักรวรรดินิยมหรือชาตินิยม ด้วยความแรงของกระแสหลังได้ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามเป็นเวลา 15 ปี 

ยุคโชวะ 

ความหมายของคำว่า “โชวะ” หมายถึง “ความกลมเกลียวอันรู้แจ้ง” เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1926-1989 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ สมัยโชวะได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง อุตสาหกรรมของประเทศยังคงเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และดูเหมือนว่าการเมืองของญี่ปุ่นหยั่งรากลึกด้วยการปกครองระบบสภา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มั่นคง ความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองของประชาชนได้ลดน้อยลงหลังจากมีการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง กระแสเหตุการณ์ทั้งหลายนำไปสู่การเกิดสงครามแปซิฟิกในปี ค.ศ. 1941 

 

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นซึ่งเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าจากลงครามโลกครั้งที่สอง ได้ยอมรับข้อตกลงยอมแพ้สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร และประชาชนได้วางอาวุธตามพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ งานเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งที่จะต้องดำเนินการหลังสงครามโลก ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีหลายฝ่ายระหว่างประเทศ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดเสรีของโลกได้เป็นอย่างดี 

ใน ค.ศ. 1989 จักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จสวรรคต จักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขึ้นครองราชย์ต่อ ทำให้ปี 1989 นี้ เป็นปีสิ้นสุดของยุคโชวะ และเป็นจุดเริ่มต้นของเฮเซ 

ยุคเฮเซ 

ความหมายของคำว่า “เฮเซ” หมายถึง “สันติภาพทุกสารทิศ” เริ่มตั้งแต่ปี 1989-2019 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 125 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำพระองค์หนึ่งของประเทศ ทรงศึกษาวิชามีนวิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกะคุชุอิน กรุงโตเกียว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังประเทศไทย และทรงทูลเกล้าฯ ถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งการทดลองเลี้ยงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนปัจจุบัน ปลานิลกลายเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าชายอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงมิชิโกะ มกุฎราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในครั้งนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2507 

 

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ 

นอกจากนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2548 ได้การค้นพบปลาในตระกูลปลาบู่ทะเลชนิดใหม่ ซึ่งได้มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Exyrias akihito และต่อมาก็ได้มีการค้นพบปลาบู่น้ำจืดสกุลใหม่ ซึ่งก็ได้มีการตั้งชื่อว่า Akihito เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศแด่พระองค์ ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2019 จักรพรรดิอากิฮิโตะ ได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 และเป็นจุดเริ่มต้นของยุค เรวะ 

ยุคเรวะ 

ความหมายของคำว่า “เรวะ” หมายถึง “ความมีระเบียบและสันติ” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2019 โดยสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 126 พระองค์พระราชสมภพ ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกะคุชูอิน และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทรงสนพระทัยในเรื่องของประวัติศาสตร์และดนตรี และยังโปรดปรานการสีวิโอลาอีกด้วย พระองค์ทรงอภิเษกกับมะซะโกะ โอะวะดะ ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสาขาเศรษฐศาสตร์ และทางด้านการทูตที่กระทรวงการต่างประเทศ 

 

พระองค์โปรดการเล่นวิโอลา รวมไปถึงการวิ่งจ๊อกกิ้ง การไต่เขา และการปีนเขาในยามว่าง นอกจากนี้พระองค์ได้เขียนหนังสือ The Thames and I: A Memoir of Two Years at Oxford ซึ่งเป็นบันทึกประจำวันขณะที่พระองค์ประทับศึกษาอยู่ในออกซฟอร์ด

Credit: https://teen.mthai.com/variety/169534.html
2 พ.ค. 62 เวลา 15:23 1,135
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...