กาแล

 

 

 

กาแล คือส่วนประดับบนหลังคาเรือนล้านนา เป็นงานฝีมือแกะสลักไม้อันเป็นเอกลักษณ์ โดยส่วนสำคัญที่ประกอบกันเข้าเป็นความงดงามเฉพาะตัว ได้แก่

1.รูปทรง มี 3 แบบ คือ ทรงตรง ลักษณะตรงต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกับส่วนอื่นของปั้นลม รูปทรงนี้พบมากที่สุด ทรงอ่อนโค้งคล้ายเขาควาย ส่วนโคนจะโค้งออกเล็กน้อยทั้งสองข้าง และวกเข้าด้านในเล็กน้อย โดยปลายบนกลับโค้งออกด้านนอกอีก ทั้งสองแบบแรกนี้พบว่ากาแลเป็นไม้แผ่นเดียวกับไม้ปั้นลม หรือต่อให้ดูเป็นไม้แผ่นเดียวกัน และทรงคล้ายกากบาท มีความยาวน้อยกว่าสองชนิดข้างต้น ปลายบนมีลักษณะของเศียรนาคผงาดหน้าเข้าหากัน ส่วนปลายล่างกลม และมักฉลุโปร่ง เป็นชนิดที่นำเอามาทาบติดกับปั้นลม


2.ลวดลายแกะสลัก แบ่งได้ 3 แบบ คือ

1.ลายกนกสามตัว

2.ลายเถาไม้หรือลายเครือเถา

3.ลายเมฆไหล มีองค์ประกอบของลายกนกและลายเครือเถาอยู่ คือรูปแบบลายผูกเป็นเถา แต่ตัวกนกเป็นลักษณะลายเมฆ ลักษณะเมฆไหลนี้กล่าวโดยย่อคือ ลายประกอบตัวก้านลายที่ขดหยักเหมือนไหลไปมา และตวัดวกกลับอย่างเฉียบพลัน ตรงบริเวณที่ตวัดกลับจะเป็นหัวขมวดม้วนกลม ได้ลักษณะหัวขมวด แต่แตกก้านออกเป็นสองก้าน ซึ่งวิ่งแยกจากกันคนละทิศ

เกี่ยวกับความเป็นมาของกาแลมีผู้กล่าวถึงไว้หลายนัย บ้างว่า ทำไว้เพื่อป้องกันแร้งและกามาเกาะหลังคา ซึ่งเชื่อว่าถ้าแร้งหรือกาเกาะหลังคาจะเป็นอัปมงคล แต่เมื่อกาแลเห็นไม้กาแลจะไม่กล้าเกาะหลังคา บ้างว่า พม่าบังคับให้ทำเพราะต้องการกดคนล้านนามิให้คิดทรยศ โดยถือเอากาแลเป็นเครื่องรางกดไว้ ตามคติการฝังศพยุคก่อนที่ใช้หลักกระทู้ปักไขว้กันไว้บนหลุมฝังศพ ข่มศพมิให้หนีหาย บ้างว่า สืบเนื่องมาจากประเพณีฆ่ากระบือเพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรุษ โดยนำเอาเขากระบือขึ้นไปประดับไว้บนยอดหลังคา เป็นการโฆษณาความร่ำรวยของเจ้าของเรือนนั้น ที่สุดกลายเป็นประเพณีทำกาแลขึ้นแทนเขากระบือ

ส่วนที่ว่าตามหลักวิชาก่อสร้าง ว่าเป็นวิวัฒนาการที่สืบต่อมาจากเรือนที่มีปั้นลมไขว้กัน เป็นเพราะทำให้การก่อสร้างสะดวก เป็นไปตามธรรมชาติ และยึดไม้ให้อยู่ด้วยกันอย่างมั่นคงแข็งแรง ต่อมามีวิวัฒนาการคือแกะสลักลวดลายจนดูสวยงาม ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความรักสวยรักงามของชาวล้านนา

สำหรับที่มาของคำ "กาแล" เก็บความจากบทความของ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้ว่า "พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 ให้ความหมายว่า องค์ประกอบของเรือนไทยทางภาคเหนือ อยู่ตอนบนสุดของหลังคาที่ยื่นจากหน้าจั่ว ทำหน้าที่เหมือนกับปั้นลมของเรือนไทยภาคกลาง ประดับไว้เพื่อแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะของเรือนไทยล้านนา ลักษณะเป็นไม้ต่อจากไม้ปิดริมชายคาที่ประสานกันตรงสันหลังคาขึ้นไป ส่วนปัญหาที่ว่าทำไมจึงเรียกไม้เช่นนั้นว่ากาแล ข้าพเจ้าไปอ่านหนังสือชื่อ "ลายคราม" ซึ่งพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอายุครบ 6 รอบของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ 25 ธันวาคม 2527 พบความหมายและที่มาของคำว่า กาแล ดังนี้


"บ้านรูปทรงแบบเก่าๆ ที่สร้างขึ้นมาในบริเวณภาคเหนือ จะมีเสาเรือนขนาดใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรง ตรงพื้นเรือนของบ้านที่ยกพื้นขึ้นสูงนี้มีฝาเรือนที่ลาดเอียงออกมาจากพื้นเรือนขึ้นไปสู่ใต้ของหลังคาตรงจั่ว หลังคาทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเรือนมีปั้นลมลาดไปตามขอบจั่วหลังคา แล้วไปบรรจบกันที่ปลายจั่ว และยื่นต่อออกไป มีลักษณะดุจ "เขาสัตว์" สองคู่ ซึ่งชาวไทยวน (ไท-ยวน) ในภาคเหนือเรียกว่า ก๋าแล คือ อีกาชำเลืองตาดู ส่วนชาวไทยวนในจังหวัดราชบุรี เรียกว่า แก๋แล คือนกพิราบชำเลืองดู"

 

Credit: ลุงชาติ
18 ก.ค. 53 เวลา 11:17 4,434 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...