ไทกริส-ยูเฟรตีส

แม่น้ำไทกริส (Tigris River) และ แม่น้ำยูเฟรตีส (Euphrates River) มีชื่อหล่อเลี้ยงเคียงคู่ประวัติศาสตร์โลกมายาวนานนับพันๆ ปี ด้วยเป็นอู่น้ำก่อเกิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ณ จุดที่เรียกว่า ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (The Fertile Crescent) หรือวงโค้งแห่งความอุดมสมบูรณ์ หรือ "เมโสโปเตเมีย-Meso Potamia" อันเป็นศัพท์กรีก แปลว่า "ที่ระหว่างแม่น้ำ" คือจุดที่แม่น้ำ 2 สายไหลบรรจบพบกัน ก่อนเดินทางต่อลงอ่าวเปอร์เซียในที่สุด ดินแดนนั้นคือประเทศอิรักวันนี้ และบริเวณพื้นที่เมโสโปเตเมียก็หมายถึงพื้นที่ระหว่าง 2 แม่น้ำนี้ ซึ่งมีระยะห่างกันประมาณ 400 กิโลเมตรตลอดสายน้ำ


ไทกริส-ยูเฟรตีส แม่น้ำทั้งสองมีต้นกำเนิดบริเวณอาร์มีเนีย และเอเชียไมเนอร์ (พื้นที่ของประเทศตุรกีฝั่งเอเชีย คือดินแดนที่เชื่อมต่อหรือคั่นกลางระหว่างยุโรปกับเอเชียนั่นเอง) หรือเรียกรวมเป็นที่ราบสูงอาร์มาเนียน จากนั้นไหลมาทางตะวันออกเฉียงใต้สู่อ่าวเปอร์เซีย ปัจจุบันนี้แม่น้ำทั้งสองไหลมารวมกันที่บาสรา แต่ในสมัยโบราณจะไหลตัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำออกจากกัน ตะกอนโคลนตมที่แม่น้ำทั้งสองพัดมาทับถมกันนั้นเป็นดินสมบูรณ์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเพาะปลูกและปศุสัตว์ จึงมีแขกไปใครมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนรุ่งเรืองเฟื่องฟู

นับจากคนกลุ่มแรกที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์พื้นฐานสำคัญ ของอารยธรรมเมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสตศักราช หรือประมาณเกือบ 6,000 ปีมาแล้ว นักประวัติศาสตร์เรียกพวก เขาว่า ชาวสุเมเรียน (Sumerian) เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ ในบริเวณที่ราบระหว่างแม่น้ำทั้งสอง ผลจากการประกอบการเกษตรกรรมบนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ทำให้ร่ำรวย และมีอำนาจสร้างเมืองใหญ่โต ทั้งประดิษฐ์อักษรใช้เป็นครั้งแรก ของโลก ความเจริญรุ่งเรืองนั้นยืนยงกว่า 2,000 ปี ก่อนล่มสลายลง ในสมัยที่ชาวยุโรปส่วนใหญ่รวมทั้งอังกฤษยังคงใช้ชีวิตร่อนเร่ล่าสัตว์อยู่เลย


แม่น้ำไทกริส มีต้นน้ำจากที่ราบสูงทางตะวันออกของตุรกี ความยาวประมาณ 1,900 กิโลเมตร ไหลผ่านชายแดนประเทศซีเรีย เข้าดินแดนอารยธรรมเมโสโปเตเมียเดิม หรืออิรักปัจจุบัน โดยไหลผ่านทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ตอนบนของลำน้ำไหลเซาะลึกลงไปกลายเป็นหุบในแถบเทือกเขาซากรอส ซึ่งเป็นพรมแดนร่วมกันกับอิหร่าน เป็นสายน้ำที่พัดจัดรุนแรง ยากแก่การเดินเรือ คนโบราณจึงเรียกแม่น้ำนี้ว่า "กระแสน้ำที่ไหลรวดเร็วดุจดังลูกธนู" (idiglat ในภาษาอัคคาเดียน และ idigna ในภาษาสุเมเรียน อันเป็นที่มาของคำว่า tigris ในภาษากรีก) แล้วมารวมกับแม่น้ำยูเฟรตีสใกล้เมืองบาสรา เกิดเป็นแม่น้ำชัตต์-อัล อาหรับ ความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร ไหลลงสู่อ่าวเปอร์เซีย


แม่น้ำยูเฟรตีส มีความยาวราว 2,780 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศซีเรีย ความยาว 650 กิโลเมตร ส่วนที่ไหลผ่านประเทศอิรักมีความยาว 1,200 กิโลเมตร ยูเฟรตีสมีต้นกำเนิดในตุรกี ณ เทือกเขาอาร์เมเนีย ไหลเข้าสู่ดินแดนของอิรัก โดยขนานไปทางใต้ของแม่น้ำไทกริส เป็นแม่น้ำที่ไหลช้ากว่า ตลิ่งเตี้ยกว่า จึงเหมาะแก่การสัญจรและการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวสาลี และบาร์เลย์ ซึ่งเริ่มเพาะปลูกที่นี่เป็นครั้งแรกในโลก และบรรจบกับแม่น้ำไทกริสในเมืองบาสรา

ช่วงที่ไทกริส ยูเฟรตีส บรรจบเป็นแม่น้ำสายเดียวคือ ชัตต์ อัล-อาหรับ แล้วไหลลงอ่าวเปอร์เซียบริเวณตอนใต้ของประเทศซึ่งเป็นปลายน้ำนี้ เกิดเป็นเขตพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญๆ ทางใต้จำนวนมาก ทั้งเมืองโบราณและเมืองปัจจุบัน รวมถึงกรุงแบกแดด เมืองหลวง


 

Credit: น้าชาติ
18 ก.ค. 53 เวลา 11:08 39,324 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...