วันพระ

 

 

 

วันพระ หรือวันธรรมสวนะ หรือวันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิ บัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนา อันได้ แก่การถือศีล ฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ เดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ) วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด (เดือนทางจันทรคติที่มี 29 วัน) ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ) นอกจากนี้ ไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันว่า วันโกน เพราะในวันขึ้น 14 ค่ำปกติเป็นธรรม เนียมของพระสงฆ์ที่จะโกนผมในวันนี้

วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุกๆ วัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เป็นปกติ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลขอพุทธานุญาตจากพระองค์ว่า นักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ (หรือ 14 ค่ำ) และทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันนั้นๆ ด้วย


สำหรับคำเรียกวันอุโบสถ คือการประชุมกันของเหล่าสงฆ์ตาม พุทธานุญาตซึ่งวิวัฒนาการตั้งแต่การมาประชุม แล้วนั่งนิ่ง เริ่มแสดงธรรม ต่อมาทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ เป็นการทบทวนข้อปฏิบัติที่เป็นวินัยของสงฆ์ พร้อมแสดงอาบัติ คือเปิดเผยข้อผิดพลาดในวินัยต่อผู้อื่น ให้เป็นกิจกรรมในวันอุโบสถ คือวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ ครั้นต่อมาจากที่สงฆ์ถือปฏิบัติทุกวันอุโบสถ คือ 3 ครั้งต่อปักษ์ ท้ายที่สุดทรงบัญญัติว่า ให้สงฆ์ประชุมกันเพื่อสวดปาฏิโมกข์เพียงปักษ์ละ 1 ครั้ง คือ ทุก 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ นั่นคือ แม้วันอุโบสถ หรือวันพระจะมีทั้งในวัน 8 ค่ำ และวัน 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ แต่ก็ประชุมกันเฉพาะในวัน 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ตามพุทธานุญาตเท่านั้น

หลังจากนั้นเป็นต้นมาพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ปัจจุบันคงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ผู้ถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังเชื่อว่าการทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในวันพระถือเป็นบาปมากกว่าในวันอื่น สำหรับประเทศไทยหลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ

วันขึ้น (แรม) 8, 14 และ 15 ค่ำ กำหนดโดยการเปลี่ยน แปลงของดวงจันทร์ จากเดือนเต็มดวงจนถึงเดือนมืดและกลับเป็นเดือนเต็มดวงอีกครั้ง โดยคืนจันทร์เต็มดวงเรียกขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์ค่อยๆ ดับนับแรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ ตามลำดับ ถึง 15 ค่ำเป็นวันดวงจันทร์ดับพอดี จากนั้นเริ่มนับขึ้นจากวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำเป็นวันจันทร์เต็มดวงอีกครั้ง เป็นอันครบรอบ 1 เดือน

 

 

Credit: nachart@yahoo.com
18 ก.ค. 53 เวลา 10:42 8,791 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...