พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมาย เหตุ มีข้อมูลสรุปความดังนี้ เสื้อครุยนักกฎหมายเป็นเสื้อครุยแสดงวิทยฐานะของผู้สวมใส่ ในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2240 ในสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นผู้สอนวิชากฎหมายและให้มีการสอบไล่วิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เมื่อมีผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต จะมีสิทธิสวมเสื้อครุยที่ทำด้วยผ้าหรือเสิร์จสีดำ ต่อมา พ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภาพระราชทานนามว่า "เนติบัณฑิตยสภา" เพื่อส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และการว่าความ ควบคุมความประพฤติของทนายความ
ปีเดียวกัน มีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดเสื้อครุยเนติบัณฑิต พุทธศักราช 2457 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลยุติธรรม พระราชทานเสื้อครุยเนติบัณฑิตอย่างแบบไทยให้แก่เนติบัณฑิต เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ที่สอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้พิพากษาทุกชั้น บรรดาที่เป็นเนติบัณฑิต สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในเวลาขึ้นบัลลังก์พิจารณาพิพากษาคดี และในเวลาแต่งเครื่องยศในงานที่เกี่ยวกับคณะผู้พิพากษาหรือคณะเนติบัณฑิต
เสื้อครุยเนติบัณฑิตอย่างแบบไทยเป็นเสื้อครุยทำด้วยผ้าโปร่งสีขาว มีสำรด (แถบสีพื้นที่ขอบเสื้อครุย ต้นแขน ปลายแขน) ติดขอบรอบต้นแขน ปลายแขนสำรดใช้ต่วนสีขาวทาบแถบทองขนาดกว้าง 1 ซ.ม. 3 แถบ 5 ม.ม. 4 แถบ รับพระราชทานสืบมากระทั่งปี 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงได้งดการพระราชทานเสื้อครุยเนติบัณฑิตให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตั้งแต่นั้นมา
ต่อมา พ.ศ.2479 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเสื้อครุยเนติบัณฑิต พุทธศักราช 2479 ยกเลิกเสื้อครุยเนติบัณฑิตอย่างแบบไทย ให้ใช้เสื้อครุยแบบใหม่ทำด้วยผ้าหรือเสิร์จสีดำ เย็บเป็นเสื้อครุยหลังจีบยาวเหนือข้อเท้าพอประมาณ มีแถบพื้นขาวลายทองพาดบ่าซ้าย สมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภามีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในโอกาสอันควร แต่ห้ามมิให้สวมในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญาหรือคดีล้มละลาย หรือเวลาเป็นพยานในศาล
พ.ศ.2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเสื้อครุยข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม พุทธศักราช 2534 กำหนดให้มีเสื้อครุยข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรมขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะของข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม
เสื้อครุยข้าราชการตุลาการ เป็นเสื้อครุยทำด้วยผ้าสีดำยาวเหนือข้อเท้าพอประมาณ หลังจีบ ตัวเสื้อผ่าอกตลอด ติดซิป มีแถบกำมะหยี่สีดำกว้าง 6.5 ซ.ม. ตลอดด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง และโอบรอบคอ แขนเสื้อจีบปลายบานยาวระดับศอก มีตราติดที่หน้าอกด้านซ้าย ลักษณะของตราเป็นโลหะวงกลมฉลุสีทอง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ซ.ม. ด้านบนของตรามีตราดุลย์ตั้งอยู่บนพานสองชั้นโดยมีฐานรองรับ ด้านล่างของตรามีครุฑจับนาคซ้อนทับอยู่บนฐานรองรับ ด้านซ้ายและขวาของตรามีลายดอกบัวตูม ด้านละ 4 ดอกโอบล้อมด้านข้างของขอบวงกลม ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดตราศาลยุติธรรมในปัจจุบัน
เสื้อครุยดะโต๊ะยุติธรรม มีลักษณะและส่วนประกอบเช่นเดียวกับเสื้อครุยข้าราชการตุลาการ เว้นแต่เสื้อเป็นสีน้ำเงินเข้ม และแถบกำมะหยี่เป็นสีม่วงน้ำเงิน ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรมอาจสวมเสื้อหรือใช้เสื้อครุยในงานที่เกี่ยวด้วยกิจศาลและกระทรวงยุติธรรม หรือในโอกาสอันควร แต่มิให้สวมในเวลาที่เป็นคู่ความ หรือเวลาที่เป็นพยานศาล