พระภิกษุในพระพุทธศาสนาแบ่งได้เป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมุ่งศึกษาโดยการท่องบ่นตำรา ส่วนมากอยู่ที่วัดในเมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการเสาะหาอาจารย์ เรียกว่า ฝ่ายคามวาสี คือพระบ้าน อีกฝ่ายหนึ่งมุ่งศึกษาโดยการกระทำและอยู่ตามป่าตามเขาที่สงบสงัดสะดวกต่อการปฏิบัติ เรียกว่า พระฝ่ายอรัญวาสี คือพระป่า โดยในสมัยพุทธกาลพระทุกรูปเป็นพระป่า พระพุทธองค์เองก็ทรงเป็นพระป่า และได้ทรงกำชับสาวกให้ออกไปสู่โคนไม้ คูหาหรือเรือนร้าง เพื่อปฏิบัติธรรมก้าวหน้ากว่าการอยู่ที่อื่น
เว็บไซต์มรดกไทย http://www.heritage.thaigov.net/ ว่า พระป่าหมายถึงพระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้ ปัจจัยจำเป็นเพื่อให้พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตอยู่สำหรับการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าประทานไว้ 4 อย่าง พระป่าได้นำมาประพฤติปฏิบัติจนถือเป็นนิสัยคือ 1.ออกเที่ยวบิณฑบาตมาเลี้ยงชีพตลอดชีวิต เป็นการบำเพ็ญเพียรตลอดเวลาที่เดิน ทั้งเมื่อได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่างๆ ย่อมเป็นเครื่องเสริมสติปัญญา เพื่อตัดความเกียจคร้าน เพื่อตัดทิฏฐิมานะถือตนรังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาต อันเป็นลักษณะของการเป็นผู้ขอ เมื่อได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันอย่างนั้น พอยังอัตภาพให้เป็นไป
2.การถือผ้าบังสุกุลจีวรตลอดชีวิต ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่ถูกทอดทิ้งไว้ตามป่าช้า หรือกองขยะ เป็นของเศษเดนไม่มีใครหวงแหน พระภิกษุเอามาเย็บติดต่อกันตามขนาดของผ้าที่จะทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ได้ประมาณแปดนิ้ว จัดเป็นผ้ามหาบังสุกุล ผ้าบังสุกุลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นรองลงมา ผู้ที่มีจิตศรัทธานำผ้าที่ตนได้มาด้วยความบริสุทธิ์ไปวางไว้ในสถานที่พระภิกษุท่านเดินผ่านไปมา หักกิ่งไม้วางไว้ หรือจะจุดธูปเทียนไว้ พอให้ท่านรู้ว่าเป็นผ้าถวายเพื่อบังสุกุลเท่านั้น 3.รุกขมูลเสนาสนัง ถือการอยู่โคนไม้ในป่าเป็นที่อยู่อาศัย 4.การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าตลอดชีวิต เป็นการฉันยาตามมีตามได้ หรือเที่ยวแสวงหายาตามป่าเขา อันเกิดตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาเวทนาของโรคทางกายเท่านั้น
กิจวัตรที่สำคัญเป็นแนวปฏิบัติของพระป่า 10 ประการคือ
1.ลงพระอุโบสถในอาวาสหรือที่ใดๆ มีพระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป ต้องประชุมกันลงฟังพระปาฏิโมกข์ ทุก 15 วัน (ครึ่งเดือน)
2.บิณฑบาตเลี้ยงชีพตลอดชีวิต
3.ทำวัตรสวดมนต์ เช้า-เย็นทุกวัน
4.กวาดเสนาสนะ อาวาส ลานพระเจดีย์ ลานวัดและบริเวณใต้ต้นมหาโพธิ
5.รักษาผู้ไตรครองคือ สังฆาฏิ จีวรและสบง
6.อยู่ปริวาสกรรม
7.ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ
8.ศึกษาสิกขาบท และปฏิบัติอาจารย์
9.แสดงอาบัติ คือการเปิดเผยโทษที่ตนทำผิดพระวินัยที่เป็นลหุโทษ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ทราบ และสัญญาว่าจะสำรวมระวังมิให้ทำผิดเช่นนั้นอีก
10.พิจารณาปัจจเวกขณะทั้งสี่ด้วยความไม่ประมาท คือพิจารณาสังขาร ร่างกาย จิตใจ ให้เป็นของไม่เที่ยงถาวรที่ดีงามได้ยาก ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อเป็นอุบายทางปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
เครื่องบริขารของพระป่า มีบาตร สบงหรือผ้านุ่ง จีวรหรือผ้าห่ม และสังฆาฏิ ผ้าเหล่านี้พระป่าจะทำกันเองตั้งแต่การตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำแก่นขนุน เรียกว่าย้อมด้วยน้ำฝาด กลดพร้อมมุ้งกลด ในฤดูฝนสามารถใช้แทนร่ม ผ้าอาบน้ำฝนใช้นุ่งอาบน้ำ ผ้าปูนอน ผ้านิสีทนะสำหรับใช้ปูนั่ง ผ้าอังสะ ผ้าเช็ดหน้า เช็ดปาก ย่าม
การเริ่มต้นชีวิตแบบพระป่าอาจทำได้สองวิธีคือ วิธีที่หนึ่ง บวชเป็นพระภิกษุเสียก่อนในที่อื่นแล้วขอไปพำนักในวัดป่า วิธีนี้เป็นวิธีที่พระภิกษุส่วนมากผ่านเข้าสู่วัดป่า ทั้งนี้ เพราะสมภารวัดป่าส่วนมากไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพระอุปัชฌาย์ วิธีที่สองคือ วิธีผ้าขาว คือเป็นผู้ที่ปวารณาตัวเป็นอุบาสก ถือศีลแปดและอาศัยอยู่ในวัด ทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์พระ และฝึกปฏิบัติไปด้วย ต้องทำหน้าที่ให้เรียบร้อยเป็นที่พอใจของสมภารหรืออาจารย์ที่เป็นผู้ปกครอง จึงจะได้รับอนุญาตให้บวช