สมัยของพระพุทธองค์คือสมัยพุทธกาล ยุคที่เรียกแผ่นดินถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนาคืออินเดียในกาลนั้นว่า ชมพูทวีป ซึ่งในสมัยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศ 4 ประเทศ คือ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และ บังกลาเทศ
ชมพูทวีปแบ่งออกเป็นจังหวัดใหญ่ๆ 2 จังหวัด คือ มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ ได้แก่ จังหวัดส่วนกลาง และปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ ได้แก่ จังหวัดปลายแดน หรือรอบนอก
ทั้งนี้ อาณาเขตแห่งมัชฌิมชนบทในครั้งพุทธกาลตามในบาลีจัมมขันธมหาวรรค มีดังนี้ ทิศบูรพา ภายในแต่มหาศาลนครเข้ามา ทิศอาคเนย์ ภายในแต่แม่น้ำลัลลวตีเข้ามา ทิศทักษิณ ภายในแต่เสดกัณณิกนิคมเข้ามา ทิศปัจจิม ภายในแต่ถูนคามเข้ามา ทิศอุดร ภายในแต่ภูเขาอุสีรทชะเข้ามา
ครั้งพุทธกาลนั้น ชมพูทวีปแบ่งเป็น 21 อาณาจักร หรือแคว้น หรือชนบท โดยแคว้นที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่เรียก มหาชนบท ดังนี้ (ชื่อหลังคือเมืองหลวง) ที่ปรากฏในบาลีอุโบสถสูตร มหาชนบท 16 แคว้น ได้แก่ อังคะ-จัมปา มคธ-ราชคฤห์ กาสี-พาราณสี โกสละ หรือ โกศล -สาวัตถี วัชชี-เวสาลี (ไพศาลี) มัลละ-กุสินารา (ปาวา) เจตี-โสตถิวดี วังสะ-โกสัมพี กุรุ-อินทปัตถ์ (ปัตถะ) ปัญจาละ-กัมปิลละ (หัสดินปุระ) มัจฉะ-สาคละ สุรเสนะ-มถุรา อัสสกะ-โปตลิ อวันตี-อุชเชนี คันธาระ-ตักสิลา กัมโพชะ-ทวารกะ และที่ปรากฏในพระสูตรอื่นมี 5 แคว้นชนบท คือ สักกะ-กบิลพัสดุ์ โกลิยะ-เทวทหะ (รามคาม) ภัคคะ-สุสุงมารคีรี วิเทหะ-มิถิลา และ อังคุตตราปะ-อาปณะ
ไล่เรียงชื่อเมืองสำคัญในพุทธประวัติได้ว่า ดินแดนแห่งหนึ่ง ณ บริเวณที่ราบเชิงเขาหิมาลัย ที่อยู่ในประเทศเนปาลปัจจุบัน ครั้งกระนั้นที่นั่นคืออาณาจักรเล็กๆ นามว่า กบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองประมาณ 35 กิโลเมตร เจ้าชายสิทธัตถะถือพระประสูติกาลขึ้นกลางสวนป่าลุมพินีวัน ขณะที่พระนางสิริมหามายา พระมารดาของพระองค์ กำลังเสด็จกลับไปยังบ้านเกิด คือเมืองเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก
หลังจากใช้ชีวิตในฐานะองค์รัชทายาทได้ 29 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ไปเห็นความจริงของชีวิตอันเป็นทุกข์ในหมู่ประชาชน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตอันหรูหราเปี่ยมสุขในพระราชวัง ทำให้ทรงตัดสินพระทัยละทิ้งชีวิตอันแสนสุขทางโลก เสด็จออกจากพระราช วังในค่ำคืนหนึ่ง เพื่อเข้าสู่โลกของนักบวช
ทรงออกศึกษาแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากชีวิตอันเป็นทุกข์เรื่อยมากว่า 6 ปี จนบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระ พุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในแคว้นมคธ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์กว่า 200 กิโลเมตร เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา
หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ คือการค้นพบกฎความจริงของธรรมชาติ ทรงประกาศหลักธรรมครั้งแรกให้แก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี
จากนั้นเสด็จออกเผยแผ่สิ่งที่ทรงค้นพบให้กับประชาชนในแว่นแคว้นต่างๆ บริเวณนั้น เป็นเวลานานถึง 45 ปี โดยจำพรรษาอยู่ที่แคว้นโกศลมากที่สุดถึง 19 ปี
กระทั่งมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พระองค์เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา
การเผยแผ่คำสอนและประกาศหลักธรรมที่ดำเนินมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ได้ทำให้พระพุทธศาสนาฝังรากลึกลงในแผ่น ดินชมพูทวีปอย่างแน่นหนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และภายหลังการเสด็จปรินิพพาน ศาสนาพุทธเริ่มลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง กษัตริย์แคว้นต่างๆ หลายพระองค์ทรงหันมานับถือศาสนาพุทธ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทั่วอาณาจักรของตน