ควิลต์-แพตช์เวิร์ก

หนึ่งในดารานำโลกของการเย็บปักถักร้อย ซึ่งบางชิ้นงานเทียบชั้นศิลปะได้เลย ขณะที่อีกหลายชิ้นงานเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนตัว คือ "ควิลต์-Quilt" ส่วนศัพท์ "แพตช์เวิร์ก-Patchwork" เป็นกระบวนการหนึ่งในงานควิลต์ อย่างไรก็ตาม เป็นคำที่ใช้เรียกในความหมายเดียวกันเสมอ คือหมายถึงศิลปะการเย็บปะผ้าชิ้นน้อยลงบนผ้าผืนใหญ่ เกิดจากความช่างคิดช่างทำของคนในอดีต ที่นำเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกันจนเกิดเป็นลวดลาย สีสันสวยงาม หรือยิ่งกว่านั้นคือร้อยเป็นเรื่องเป็นราว


สืบสาวประวัติ ควิลต์มีมาช้านานแต่โบราณก่อนคริสตกาล ก่อนแพร่หลายเป็นศิลปะประดิษฐ์ในยุโรปและอเมริกา สันนิษฐานกันว่าควิลต์มีต้นกำเนิดจากลุ่มน้ำไนล์ อู่อารยธรรมสำคัญ ยามนักรบออกสมรภูมิ ต้องสวมเกราะเหล็กที่หนักและแข็ง ดังนั้น เพื่อป้องกันเหล็กเสียดสีกดทับเนื้อหนัง (จะได้แผลเสียก่อนจะออกรบ) พวกเขาจึงสวมเสื้อรองไว้ชั้นหนึ่ง ทั้งเพื่อให้เกิดความนุ่ม และเพื่อความอบอุ่น แต่เหนืออื่นใดคือความอบอุ่นใจ ด้วยว่าเสื้อหนานุ่มนั้นมักเป็นฝีมือถักทอตัดเย็บของภรรยาหรือหญิงคนรัก

บ้างเชื่อว่าการเย็บผ้าต่อกันอย่างนั้นเป็นมรดกตกทอดจากกลุ่มอารยธรรมไทกริส-ยูเฟรติส การติดต่อค้าขายทำให้งานนี้แพร่หลายไปยังเปอร์เซีย อียิปต์ และโรม รวมถึงยุคสงครามครูเสด ซึ่งกินเวลายาวนาน ทหารต้องเดินทัพและสู้รบกันในสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างรุนแรง เสื้อผ้าที่สวมใส่จึงต้องบุด้วยนวมหนาเพื่อความอุ่นสบาย และป้องกันการกระแทกเสียดสีที่เกิดจากเสื้อเกราะ ครั้นสงครามเลิก ทหารคริสเตียนกลับบ้าน ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และโรม พวกเขานำแฟชั่นนั้นไปฝากภรรยา

ฝ่ายศรีภรรยานำข้อดีของการเย็บบุนวมมาพัฒนา จากฝีเข็มที่เย็บเพื่อยึดผ้าให้ติดกับนวมแบบธรรมดา กลายมาเป็นฝีเข็มที่ทำให้เกิดลวดลายสวยงาม จากผ้าสีเดียวกันทั้งผืนกลายมาเป็นผ้าชิ้นเล็กๆ หลายสี เย็บต่อกันให้เกิดลวดลาย และจากเสื้อผ้าที่จำเป็นต้องใส่เพื่อการยังชีพ กลายมาเป็นผ้าห่มนวมที่สวยงาม คืองานศิลปะที่เกิดจากผืนผ้า

  


จากหมู่ชนชั้นสูงในยุโรป แพร่หลายไปยังคนทุกสถานะรวมถึงในอเมริกา มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ เกิดขึ้น และสืบทอดในครอบครัวจากรุ่นต่อรุ่นจนเป็นประเพณีของบ้าน เศษผ้าที่นำมาประกอบเป็นผ้าผืนใหญ่จะสอดแทรกประวัติของครอบครัวเข้าไปด้วย เช่น ผ้าจากเนกไทของคุณทวด เชิ้ตของคุณปู่ กระโปรงของคุณย่า ฯลฯ แล้วควิลต์ก็ถูกส่งทอดเป็นมรดกตกมาให้ลูกหลาน ซึ่งจะเอาผ้าจากยุคของตนเย็บเพิ่มเข้าไป แล้วที่สุดจะเป็นสิ่งทรงคุณค่าประจำตระกูล

ควิลต์แต่ละผืนประกอบด้วยคำสำคัญ 3 คำ ดังนี้ 1.การต่อผ้า (แพตช์เวิร์ก-Patchwork) คือการนำผ้าที่ตัดเป็นชิ้นๆ เป็นลวดลายต่างๆ หรือรูปทรงเรขาคณิต มาเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ หรือเกิดลวดลายซึ่งมีชื่อเรียกแต่ละลายแตกต่างกันไป เช่น Log cabin, Eight point star, Pin wheel ฯลฯ 2.การปะผ้า (แอพพลิเค-Applique) คือการนำผ้าที่มีรูปลักษณะต่างๆ เช่น ต้นไม้ ดาว คน ฯลฯ มาเย็บสอยปะลงบนผ้าอีกชิ้น


และ 3.การเย็บบุ (ควิลติง-Quilting) คือการนำผ้ามาวางซ้อนกัน 3 ชั้น ผ้าชั้นบน (Quilt Top) มักเป็นผ้าฝ้าย เป็นชั้นที่ตกแต่งให้เกิดความสวยงามอย่างมีศิลปะ เช่น งานแพตช์เวิร์ก หรือ งานแอพพลิเค ผ้าชั้นใน (Batting) เป็นชั้นที่ให้ความนุ่มและความอบอุ่น ทำด้วยใยโพลีเอสเตอร์ แบบอัดแน่นหรือแบบฟู และผ้ารองด้านหลัง (Backing) มักทำด้วยผ้าฝ้ายเช่นเดียวกับผ้าชั้นบน นำผ้าทั้ง 3 ชั้นมาเย็บบุด้วยลวดลายต่างๆ ให้ติดกัน โดยวิธีควิลติง สติตช์-quilting stitch หรือด้นมือ เย็บให้เกิดเป็นลายนูนขึ้นมา เสร็จสรรพเป็นควิลต์จาก "ฝีมือ" จริงๆ

 

 

Credit: บุ๋ม
18 ก.ค. 53 เวลา 10:14 4,799 3 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...